ลดการบ้าน-อย่าให้เกิดโกงอาหารกลางวันอีก!‘บิ๊กตู่’จี้ยกเครื่องระบบการศึกษาใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ ไล่จี้ ศธ. เร่งยกเครื่องระบบการศึกษาเด็กใหม่ ให้ลดการบ้านนักเรียนได้มีเวลาอยู่กับผู้ปกครองนานขึ้น ฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ปรับปรุงหนังสือเรียนออกจากแบบฝึกหัด ให้มีวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย เข้มไม่ให้มีการทุจริต เน้นอาหารกลางวันเด็ก พิจารณาค่าตอบแทนครูอย่างเหมาะสม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อสั่งการถึง รมว.ศึกษาธิการ และหน่วยงานเกี่ยวข้องในเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษา
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตามที่มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 และ 17 เมษายน 2561 ให้กระทรวงศึกษาธิการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 3 เดือน โดยให้รายงานความคืบหน้าดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น ให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดการดำเนินการและรายงานผลการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน เช่น ลดการบ้านนักเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถมีเวลาอยู่กับผู้ปกครองมากขึ้น และส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศหรือดิจิทัล มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และสามารถเตรียมข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการอภิปรายในชั้นเรียนต่อไป เน้นการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล กล้าพูด กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม รวมทั้งปลูกฝังให้เกิดความรักชาติ ยึดมั่นในศาสนา และเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย และมีจิตอาสา มีแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และคุณธรรมเป็นการเฉพาะ ปรับปรุงหนังสือแบบเรียนให้แยกส่วนของแบบฝึกหัดออกจากหนังสือแบบเรียน เพื่อให้นักเรียนรุ่นหลังสามารถใช้หนังสือแบบเรียนต่อจากรุ่นก่อนได้
รวมถึงให้ทบทวนแนวทางการออกข้อสอบวัดผลการศึกษาในวิชาต่าง ๆ ให้เป็นข้อสอบในเชิงอัตนัยที่เน้นการคิดวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น โดยอาจใช้วิธีการสอบเก็บคะแนนเป็นระยะ ๆ ร่วมด้วย เช่น สอบเก็บคะแนนภายหลังสิ้นสุดคาบเรียน สอบเก็บคะแนนประจำสัปดาห์ หรือประจำเดือน เพื่อลดภาระนักเรียนในการสอบปลายภาคการศึกษา เป็นต้น และทบทวนระบบการสอบวัดผลและการสอบคัดเลือกในทุกระดับชั้นให้เหมาะสม เช่น ความเหมาะสมของการจัดให้มีการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในชั้นอนุบาล และแนวทางการดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับครู เช่น การพัฒนาครูโดยการจัดสรรวงเงินต่อหัวในการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ของครู (คูปองครู) ให้เหมาะสม ปรับปรุงแนวทางการประเมินครู โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งกำหนดให้ครูต้องปฏิบัติงานในด้านการเรียนการสอน หรือปฏิบัติงานให้แก่โรงเรียน และสถาบันการศึกษาเป็นหลัก ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้แก่ครูอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ เช่น ระมัดระวังไม่ให้เกิดการทุจริตในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์และอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ การดำเนินโครงการอาหารกลางวัน เป็นต้น ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรชุมชนเพื่อนำผลผลิตมาบริโภคเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียนเสริมจากงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ด้วย เน้นการทำโครงการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้จริงหรือพัฒนาต่อยอดไปได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ และปรับปรุงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารงานภายในของกระทรวงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อ่านประกอบ :
ผู้บริหารกองทุนฯ ยันไม่ปรับค่า ‘อาหารกลางวัน’นร. -ถัวเฉลี่ย 20 บ./คน/วัน เพียงพอแล้ว
ถอดบทเรียนจากถาดอาหารกลางวันเด็ก ที่ให้มากกว่าขนมจีนคลุกน้ำปลา
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก wash times