อย.ส่งเจ้าหน้าที่ประจำ กสทช. มอนิเตอร์โฆษณาสินค้าสุขภาพ พบผิด กม. สั่งระงับทันที
แก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง! อย.ส่งเจ้าหน้าที่ 6 คน ประจำ กสทช. ทุกวัน คอยมอนิเตอร์ ระยะทดลอง 3 เดือน หากพบผิดกฎหมาย สั่งระงับทันที เริ่ม 4 พ.ค. 61
วันที่ 3 พ.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดแถลงข่าวการลดขั้นตอนระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ณ อาคารหอประชุม 1 สำนักงาน กสทช.
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. เปิดเผยผลการประชุม โดยมีมติว่า หากปล่อยให้ใช้กระบวนการปกติในการระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมมาก เพราะฉะนั้นจึงตกลง โดย อย.จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ศูนย์เฝ้าตรวจเนื้อหารายการของ กสทช.ประมาณ 6 คน ทุกวัน ซึ่งจะช่วยกันวิเคราะห์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการวิเคราะห์ หากพบลักษณะการออกอากาศในโทรทัศน์ วิทยุ เข้าข่ายความผิดหลอกลวง โฆษณาเกินจริง เจ้าหน้าที่จะทำหนังสือแจ้งมายัง กสทช. จากนั้น เลขาธิการ กสทช. จะมีคำสั่งระงับการออกอากาศชั่วคราวในทันที ซึ่งเชื่อว่าความเสียหายจะยุติลงได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เมื่อคำสั่งระงับออกอากาศเรียบร้อย กระบวนการตรวจสอบจะกลับมาเป็นปกติ โดยกสทช.จะมีการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้กสทช.จะกำกับเฉพาะสื่อ แต่องค์ประกอบอื่น ๆ หากพบผู้ดำเนินรายการมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย รับปากจะรับไปดำเนินการพิจารณาด้วย อย่างเช่น วิทยุชุมชน มีผู้ดำเนินรายการ และผู้ร่วมรายการ เสมือนหนึ่งหลอกลวงหรือไม่ อย.จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ด้านนายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาระงับการออกอากาศผลิตภัณฑ์สุขภาพในอดีต ใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน แต่หลังจากนี้จะดำเนินการระงับทันที ทำงานเชิงรุก โดยอย.จะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่สำนักงาน กสทช. มีระยะเวลาทดลอง 90 วัน ขณะที่กรณีสื่อออนไลน์นั้น ได้พิจารณาเพิ่มเติมด้วย หากมีหนังสือแจ้งมาที่สำนักงาน กสทช. เราจะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทั้งหมดขอให้ระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นผู้ให้บริการฯ เป็นเจ้าของถนน ฉะนั้นต้องนำรถผิดกฎหมายออกจากถนนดังกล่าว และจะมีการเชิญประชุมกับผู้ให้บริการฯ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมยืนยันว่า กระบวนการทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2561
ขณะที่นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. ระบุปัจจุบันอย.มีการอนุมัติผลิตภัณฑ์สุขภาพราว 1-2 แสนรายการ จากเดิมมีอยู่หลักหมื่น ทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบไม่ทั่วถึง ดังนั้น ต้องสร้างเครือข่ายผู้บริโภคร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ประชาชน และสื่อมวลชน จัดการปัญหาเหล่านี้ เชื่อว่าจะได้ผลและประหยัดงบประมาณมากที่สุด
“การเพิ่มข้าราชการมากขึ้นเพียงใด แม้จัดการปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่หากร่วมมือกัน ช่วยกันจัดการสิ่งผิดกฎหมายในสังคม จะทำให้สังคมเกิดความร่วมมือ และกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่” เลขาธิการ อย. กล่าว และว่า ที่ผ่านมามักเรียกร้องให้ภาครัฐลุกขึ้นมาจัดการปัญหา แต่พิสูจน์แล้วไม่สำเร็จ จึงอยากขอความร่วมมือให้มาเป็นเครือข่าย .