- Home
- Isranews
- ข่าว
- 'มีชัย' แจง คณะ กก.สรรหาองค์กรอิสระ ตีความข้อ กม.ไม่เหมือน สนช. แนะทั้งสองฝ่ายพูดคุยแก้ปัญหา
'มีชัย' แจง คณะ กก.สรรหาองค์กรอิสระ ตีความข้อ กม.ไม่เหมือน สนช. แนะทั้งสองฝ่ายพูดคุยแก้ปัญหา
'มีชัย' แจง คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ตีความข้อกฎหมายต่างจาก สนช. ชี้ต้องเป็นอธิบดีหรือเทียบเท่า ถึงจะเหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่ใช่ ผอ.นิติบุคคล จี้ สนช. เร่งแก้ปัญหา หันหน้าคุย คณะกรรมการสรรหาฯมากขึ้น ยัน คสช.ไม่เกี่ยวคลิปเสียงคว่ำ กสทช.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าจากกรณีที่วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอของนายสมชัย แสวงการ สมาชิก สนช. คว่ำผู้ถูกสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งหมดจำนวน 14 คน และในวันเดียวกันนั้นเอง สนช.ยังได้ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานผู้พิพากษาสมทบฝ่ายบริหาร ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
ล่าสุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กล่าวถึงปัญหาการสรรหาองค์กรอิสระที่ผ่านๆ มาก็คือคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเขาไปวินิจฉัยว่าหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีจะต้องเป็นส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล อาทิ ผู้อำนวยการหน่วยงาน โรงเรียนเป็นต้น ถึงจะได้รับการสรรหา ซึ่งตอนที่ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ไปคิดถึงนิติบุคคล สิ่งที่ กรธ.ต้องการก็คือผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระ อยากให้เขาเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีระดับซีเทียบเท่ากับระดับอธิบดี จะได้มีความรู้ในการบริหารหน่วยงาน แต่ว่าพอไปวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหากลับไปวินิจฉัยอีกแบบหนึ่ง ตนก็ไม่รู้ว่าจะไปแก้ไขปัญหาอย่างไร
นายมีชัยกล่าวต่อว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ก็อยู่ในคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระด้วย ท่านก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะไปพูดคุยกับคณะกรรมการคนอื่นๆให้เข้าใจในประเด็นว่า ผู้ถูกสรรหาไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าส่วนนิติบุคคล แต่ให้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ หรือเทียบเท่าอธิบดี เพราะในบางครั้งนิติบุคคบก็ไม่เทียบเท่ากับอธิบดี
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องแก้ไขมาตรฐานหรือสร้างบรรทัดฐานเพื่อตีความคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันหาความชัดเจน ตนเชื่อว่าคณะกรรมการสรรหาน่าจะตัดสินใจเองได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็มาถามกรธ.ได้
เมื่อถามต่อว่าวิธีการสรรหามีปัญหาอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า วิธีการสรรหาไม่ได้มีอะไรพิสดาร แต่ยังใช้วิธีการไม่ครบ แทนที่จะเอาแมวมองไปชักชวนคนที่มีคุณสมบัติเข้ามารับสมัคร แต่กลับใช้วิธีการรับสมัครเพียงอย่างเดียวซึ่งตนคิดว่าเขาอาจจะกังวลว่าการส่งแมวมองไปอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นคนของคนนั้นคนนี้ แต่ตนเชื่อว่าถ้าทำโดยสุจริตใจ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และจะกระตุ้นให้คนมาสมัครมากขึ้น
เมื่อถามว่ามีผู้สมัครแล้วไม่ได้รับเลือกแต่ผู้ได้รับทาบทามได้รับเลือกจะกลายเป็นครหาว่าล็อกสเปกหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่าถึงตอนนั้นก็ค่อยว่ากัน แต่ทาบทามมาแล้วคุณสมบัติเขาต้องเหมาะสม นอกจากนี้ตนเห็นวาสนช.ควรทำความเข้าใจกับคณะกรรมการสรรหาเพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดูว่าจะทำอย่างไรให้การสรรหามีความชัดเจน คนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามไม่ควรที่จะหลุดมาถึงขั้นตอนของสนช. เพราะที่จริงแล้วการตรวจสอบก็ใช้เจ้าหน้าที่สภาชุดเดียวกันไปตรวจสอบ ดังนั้นมาตรฐานของคณะกรรมการสรรหา และสนช.ก็ควรมีมาตรฐานเดียวกัน
เมื่อถามว่า การคว่ำการสรรหากรรมการองค์กรอิสระอาจทำให้คสช.ถูกมองว่าต้องการให้คนของตัวเองเข้าไปรับตำแหน่ง นายมีชัย กล่าวว่า คสช.ไม่เคยลงไปยุ่งเรื่องพวกนี้ คสช.จะประชุมกันเฉพาะเกิดปัญหาจากรัฐบาลขึ้นเท่านั้น แต่คนข้างนอกอาจมองว่าสนช.กับคสช. แยกกันไม่ออก ดังนั้นเรื่องทั้งหมดก็ต้องไปถามรัฐบาลด้วย ส่วนเรื่องคลิปเสียงที่ออกมาก็แค่อ้างถึงนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็ปฏิเสธแล้วว่าไม่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามต่อว่า การเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา หรือประธานคณะกรรมการสรรหาที่มีนายชีพ จุลมนต์ประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า จะไปโทษคณะกรรมการสรรหาทีเดียวเลยก็ไม่ได้ ต้องหาให้ได้ก่อนว่าปัญหาคืออะไร และคนที่จะหาว่าปัญหานั้นน่าจะเป็นสนช.ที่อยู่ภาวะที่หาได้ว่าปัญหามันคืออะไร
เมื่อถามต่อถึงรายชื่อที่เสนอให้สนช.โหวตมีคุณสมบัติไม่ครบตามกฎหมาย ในกรณีนี้อาจต้องมีการปลดล็อคทางกฎหมายเพื่อให้คนที่ไม่มีปัญหาได้เดินหน้าต่อไปก่อน นายมีชัย กล่าวว่า เรื่องนี้พูดลำบากตนไม่ได้อยู่ในสนช.ไม่รู้ปัญหาคืออะไร การแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาทำได้ แต่อยากให้ดูว่าปัญหามันเกิดจากอะไร
นายมีชัยยังกล่าวต่อถึงกรณีที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ระงับการสรรหา กสทช.ออกไปก่อนว่าเท่าที่ได้รับฟังก็พบว่ากฎหมายว่าด้วยการสรรหา กสทช.นั้นยังมีข้อติดขัดที่จะต้องแก้ไขกันอยู่ และการดำเนินการแก้ไข ถ้าไม่ใช้อำนาจพิเศษระงับไว้ การสรรหาจะเดินหน้า จะทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นต้องแก้ไขกฎหมายกันก่อน แต่ตนไม่ได้อยู่ฟังว่ากฎหมายอะไรที่จะต้องแก้ไข แค่รู้ว่า กสทช.ต้องเป็นผู้ที่ไปดำเนินการแก้ไขกฎหมาย และก็ต้องทำให้เร็วด้วย ซึ่งก็เคยได้เสนอว่าให้เอาเข้าสภาพิจารณา 3 วาระรวด แต่ สนช.ก็บอกว่าไม่ทันกับการสรรหา กสทช. จนในที่สุดก็นำไปสู่การใช้มาตรา 44
อ่านประกอบ:
สนช.เห็นชอบ ข้อเสนอ 'สมชาย แสวงการ' คว่ำกระจาด 14 ว่าที่ กสทช. สรรหาใหม่หมด