ต้องไม่แพง! กรมปศุสัตว์ ชี้ไทยอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ผลิตวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า
อธิบดีกรมปศุสัตว์แถลงสถานการณ์พิษสุนัขบ้า 3 เดือน เสียชีวิต 6 ราย ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังลดเหลือ 24 จังหวัด ย้ำมีวัคซีนหมา-แมวเพียงพอ ตั้งเป้าพ.ค.ครอบคลุม 80% ทั่วประเทศ เสนอใช้กฎหมายควบคุม ดูแลสัตว์จรจัด เตรียมทำประชาพิจารณ์ 28 มี.ค.นี้
(ภาพประกอบจาก http://www.thaihealth.or.th/ )
วันที่ 20 มีนาคม ณ ห้องรับรอง ตึกอำนวยการ ชั้นล่าง กรมปศุสัตว์ พญาไท นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงข่าวสถานการณ์โรค/มาตรการ/ข้อมูลโรคพิษสุนัขบ้า ว่า การฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขและแมวซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมปศุสัตว์โดยตั้งเป้าหมายไว้ 8.24 ล้านตัว ได้มีการดำเนินการสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้น 2,089,930 ตัว โดยการฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรคในรัศมี 5 กม. ได้ 100% แล้ว และคาดว่าในช่วงรณรงค์เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จะได้ 80% ของสุนัขและแมวทั่วประเทศ
“จากสถิติการฉีดวัคซีนและจำนวนวัคซีนที่ใช้ในประเทศ หนึ่งปีมีประมาณโดยเฉลี่ย 8 ล้านโดส สุนัขและแมวส่วนใหญ่ที่มาฉีดเคยได้รับวัคซีนทุกปีและเป็นการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ ขอให้สบายใจได้ เพราะภูมิคุ้มกันของสุนัขและแมวจะขึ้นได้เร็ว ยังมีส่วนน้อยที่มาฉีดเป็นเข็มแรก จะมีการแยกประเภทจากสัตวแพทย์หรืออาสาสมัครที่ได้รับการอบรมให้มาฉีดกระตุ้นซ้ำและมีการบันทึกประวัติมอบให้เจ้าของสัตว์ด้วย”
ส่วนการผ่าตัดทำหมันเพื่อควบคุมประชากรสัตว์ ซึ่งมีเป้าหมาย 300,000 ตัว มีการดำเนินการสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงวันนี้รวมทั้งสิ้น 111,297 ตัว และทำการอบรมอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งตั้งเป้าไว้ 17,500 คน มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงวันนี้จำนวน 21,873 คน ซึ่งเป็นอาสาจากท้องถิ่นละ 1 – 2 ราย ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวแล้ว 7.3 ล้านตัว โดยยอดที่สำรวจสุนัขและแมวในปีที่ผ่านมามีประมาณ 10 ล้านตัว
ด้านสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 19 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ส่วนการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์จาก 38 จังหวัด ปัจจุบันเหลือ 24 จังหวัด โดยทางกรมปศุสัตว์ได้มีการเฝ้าระวังร่วมกับทางท้องถิ่นในเรื่องโรคระบาดของทั้งสัตว์และคน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงการจัดซื้อวัคซีน กรมปศุสัตว์มีงบประมาณในการจัดซื้อ 1 ล้านโด๊สวัตถุประสงค์ของกรมปศุสัตว์คือการฉีดวัคซีนในรัศมีเมื่อเกิดโรค และจะมีการฉีดวัคซีนซ้ำในรัศมี 1 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นวัคซีน 1 ล้านโดสจึงเพียงพอที่จะใช้ในการควบคุมโรค ในสถานพยาบาลสัตว์และโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศเป็นจุดใหญ่อีกจุดหนึ่งที่ทางผู้นำเข้าได้จำหน่ายให้กับสถานพยาบาลเหล่านี้ ในส่วนของท้องถิ่นก็จะมีการจัดซื้อเช่นกันแต่จะดำเนินการเองภายใต้ระเบียบของของราชการ ดังนั้นปริมาณวัคซีนนำเข้ามีประมาณ 8 – 9 ล้านโด๊สต่อปี ราคาหลอดละ 15 – 16 บาท ส่วนการจัดซื้อวัคซีนในแต่ละปีของกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานอื่นจะมีสเปคกลางโดยระบุชัดเจนว่าจะต้องผ่านการตรวจจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งวัคซีนที่ว่านำเข้าทั้งหมด เพระฉะนั้นวัคซีนทุกล็อตที่นำเข้าต้องผ่านอ.ย.ทั้งหมด หากพบความผิดปกติก็จะมีการเรียกคืน
ส่วนการเก็บรักษาวัคซีน กรมปศุสัตว์จะมีสถานที่เก็บเป็นล็อตใหญ่ 9 แห่งทั่วประเทศ มีการควบคุมอุณหภูมิเฉพาะและเก็บวัคซีนได้ทุกชนิด มีระบบการแจ้งเตือนเรื่องของอุณหภูมิตลอด สถานที่เก็บรักษาภาคเอกชน คลินิกหรือสถานประกอบการณ์ที่ให้การรักษาสัตว์ กรมปศุสัตว์จะมีการตรวจรับรองอยู่ทุกปี ในส่วนของท้องถิ่นจะมีนักวิชาการสาธารณสุขคอยตรวจอยู่สม่ำเสมอ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์มีการตรวจตามแต่ละหน่วยงาน ดังนั้นกระบวนการเก็บรักษาวัคซีนจะมีการเก็บใส่อุปกรณ์ให้ความเย็นตลอด คุณภาพของวัคซีนโดยเฉลี่ยมีคุณภาพ 2 – 3 ปี โดยกำหนดอายุ ณ วันที่รับมอบไม่น้อยกว่า 15 เดือน
“ปีนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนเอง ทั้งเรื่องของคุณภาพ ราคาที่เราผลิตได้ต้องไม่แพง ต้องมีความคุ้มค่า เรื่องความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นหลักการของการผลิตวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนติดต่อสู่คนได้ ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้จะมีการวิจัยร่วมกับประเทศต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล”อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
นอกจากนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เสนอแนวทางในการดูแลสัตว์เลี้ยงโดยให้เข้มงวดกับกฎหมาย โดยมีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง ฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กับทางท้องถิ่นไปดำเนินการเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยจะเป็นกฎหมายที่ให้ท้องถิ่นกำหนดว่าการเลี้ยงสุนัข แมวหรือสัตว์ควบคุม ต้องไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ ที่ผ่านมามีหลายท้องที่ที่ประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลในการควบคุมการดูแลสัตว์เลี้ยง กฎหมายฉบับที่ 2 คือ กฎหมายว่าด้วยการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งกฎหมายนี้ออกมาแล้วแต่จะมีการเพิ่มมาตราย่อยในเรื่องของสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของที่อยู่ตามชุมชน โดยสนช.จะทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 28 มี.ค.ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ กรณีของการเซ็ทซีโร่สุนัขนั้น นสพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ โฆษกกรมปศุสัตว์ยืนยันว่า ยังไม่มีกฎหมายไหนที่บังคับให้กำจัดสุนัขจรจัด มีเพียงพระราชบัญญัติโรคระบาดที่ระบุว่า ถ้ามีสัตว์ติดเชื้อหรือตายเพราะโรคระบาด สัตวแพทย์มีอำนาจในการกำจัดหรือการุณยฆาตแต่ต้องเป็นเขตที่ประกาศโรคเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีกว่าเซ็ทซีโร สภากาชาดไทย ชูนวัตกรรม ‘ฉีดไข่’ หมาเพศผู้ คุมจำนวน-ลดระบาดพิษสุนัขบ้า
กรมส่งเสริมฯ จัดสรรงบ ‘ค่าวัคซีนพิษสุนัข’ โครงการสัตว์ปลอดโรคฯ งวดแรก 69 ล้านบาท
ฝ่าวิกฤต ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ หยุดเเพร่ระบาดให้เป็น 'ศูนย์'
เช็คประชากรหมา-แมว หลัง ‘พิษสุนัขบ้าระบาด’ ผ่านไป 6 เดือน ฉีดวัคซีนแค่ 9 แสนตัว
เมื่อสตง. ถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุทำพิษสุนัขบ้าระบาด
กรมปศุสัตว์ยันวัคซีนพิษสุนัขบ้าเพียงพอ-กรมส่งเสริมฯ อัดงบฯ 300 ล. อุดหนุน อปท. จัดซื้อ 10 ล.โด๊ส
กรมปศุสัตว์แต่งตั้ง 'ผศ.เฉลิมพล'-'สมพงศ์' เป็นที่ปรึกษาฯ ด้านโรคพิษสุนัขบ้า
อปท.เสนอแก้ระเบียบกองทุนสุขภาพตำบล เปิดช่องซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า