อังคณา ซัด14 ปีคดีอุ้มทนายสมชาย สะท้อนวัฒนธรรมลอยนวลคนผิด รัฐไม่จริงใจสืบสวน
อังคณา นีละไพจิตร ทวงถามความยุติธรรม 14 ปีทนายสมชาย หายตัว ลอยนวลคนผิด เพิกเฉยต่อการสอบสวน เผยที่ผ่านมาสะท้อนความไม่ใส่ใจ การงดเว้นโทษเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดยังคงมีต่อไป เรียกร้องรัฐออกพ.ร.บ.บังคับบุคคลสูญหาย พร้อมให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 61 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายทนายความสิทธิมนุษยชน ในคดีความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวถึง 14 ปี ที่ทนายสมชายได้หายตัวไป ว่า หลังศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 เดิมตั้งใจว่าจะเลิกทวงถามการดำเนินการติดตามหาตัวทนายสมชายจากรัฐ
นางอังคณา กล่าวว่า ในฐานะพลเมืองที่ถูกละเมิดสิทธิ รู้สึกผิดหวังและเสียใจอย่างยิ่งเมื่อปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีหนังสือถึงครอบครัวเพื่อแจ้งงดการสอบสวนคดีสมชาย หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีการฆาตกรรมสมชายเป็นคดีพิเศษ และใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนยาวนานถึง 11 ปี กับ 2 เดือน โดยหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งครอบครัวให้ทราบด้วยข้อความเพียงสั้นๆ เพียงว่า “การสอบสวนคดีสมชายได้เสร็จสิ้นแล้ว โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด” พูดง่ายๆ คือ เมื่อหาคนผิดไม่ได้ ไม่มีปัญญาหาคนผิดก็จบๆ ไป ทั้งๆ ที่ต้องไม่ยุติการสืบสวน จนกว่าจะทราบชะตากรรมผู้สูญหาย
“ที่ผ่านมานับแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ เชื่อว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยมีความเต็มใจในการคลี่คลายคดีสมชาย ซึ่งมีผู้ต้องสงสัยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้ายังจำกันได้เมื่อปลายปี 2556 อดีตผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้ให้ข่าวแก่สาธารณะว่า แฟ้มเอกสารคดีสมชายหายไป แต่หลังจากขอเข้าพบรัฐมนตรียุติธรรมเพื่อทวงถามว่าแฟ้มจะหายไปได้อย่างไร อีกไม่ถึงสัปดาห์ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ออกมาให้ข่าวอีกครั้งว่าแฟ้มคดีสมชายไม่ได้หายไปไหน” นางอังคณา กล่าวและว่า ทำให้เราเห็นว่า หลายครั้งที่รัฐมองทุกข์ขาวบ้านเป็นเรื่องไม่สำคัญ และแฟ้มสำนวนคดี ความจริงอาจไม่มีอะไรข้างในเลยก็ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้ดูสำนวนการสอบสวนเลย เพราะเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นข้อมูลลับ
“การไม่ให้ความสำคัญว่า การที่คนๆ หนึ่งถูกอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องร้ายแรงที่รัฐต้องรีบเร่งดำเนินการ ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษงดการสอบสวนคดีสมชายโดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของครอบครัวและสังคม”
นางอังคณา กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ต้องมีเจตนาที่แน่วแน่มั่นคงในการที่จะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด สำหรับคดีสมชาย นีละไพจิตร ผ่านมา 14 ปี ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหารที่อ้างจะปฏิรูปความชอบธรรมในประเทศ รัฐบาลคนดี หรือคนไม่ดี การอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมโดยรัฐไม่เคยเกิดขึ้นจริง และการงดเว้นโทษกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป
“ต้องขอบคุณรัฐที่มอบเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวสมชาย แต่การทำแบบนั้น สำหรับครอบครัวแล้ว มองว่าเป็นแค่การสงเคราะห์ มากกว่าการสำนึกผิดในสิ่งที่รัฐได้กระทำไป สิ่งที่เหยื่อและครอบครัวต้องการคือความรับผิดชอบจากรัฐ ความรับผิดชอบหมายถึงการเปิดเผยความจริงถึงที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย”
นางอังคณา กล่าวถึงการนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และการฟื้นฟูเยียวยาครอบครัว อาชญากรรมที่เกิดจากรัฐ รัฐต้องร่วมรับทุกข์กับเหยื่อ ไม่ใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญความยากลำบากแต่เพียงลำพัง รัฐต้องไม่มืดบอดในการรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน การให้เงินชดใช้ความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่ารัฐและหน่วยงานความมั่นคงจะหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญ การให้ค่าชดเชยด้วยเงินจำนวนมากก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต
นางอังคณา กล่าวอีกว่า 14 ปีการสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้แสดงให้เห็นถึงการแปรเปลี่ยนจากอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มาสู่ความความไม่เป็นธรรมจากการละเลยเพิกเฉยในการอำนวยความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทยบนพื้นฐานและการขาดเจตจำนงทางการเมืองเห็นได้จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษงดการสอบสวนคดีสมชาย และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ไม่รับรองพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ.... สิ่งที่ดีที่สุดที่รัฐจะทำได้ คือการผ่านกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งต้องให้สัตตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) เพื่อเป็นหลักประกัน และเกิดเป็นกลไกในการคุ้มครอง ไม่อย่างนั้นไทยก็ยังคงมีคนถูกบังคับสูญหายต่อไป
“วันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรหายไป ญาติพี่น้องหายไปจากครอบครัวหมด เพื่อนทนายก็หายหนีไปหมด ความหวาดกลัวทำให้เหยื่อไม่กล้าออกมาพูด ดังนั้น รัฐต้องไม่ทำให้เกิดการลุแก่อำนาจ รัฐต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจอีกต่อไป ต้องมีการคุ้มครองเหยื่อ สมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้เป็นบุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สมชายไม่ต่างจากผู้สูญหายอีกมากมายที่ไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรม ไม่มีหลุมศพให้รำลึกถึง”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในกิจกรรมวันนี้ นางอังคณา และนางสาวประทับจิตร นีละไพจิตร บุตรสาว ร่วมกันวางช่อดอกไม้หน้ารูปของทนายสมชาย บริเวณด้านหน้าอาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์