กกต.เผยงบเลือกตั้งใหม่ใช้ 5.8 พันล.! ผุดไอเดียสินบนนำจับซื้อเสียงจ่ายกรณีละหมื่น
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. เผยตัวเลขงบเลือกตั้งส.ส.ใหม่ใช้ 5,800 ล้าน เหตุต้องรับภาระค่าใช้จ่ายหาเสียงให้พรรคการเมือง หวังตัดทุนสามานย์ออกจากระบบ ผุดไอเดียตั้งสินบนรางวัลการซื้อเสียง จ่ายกรณีละ 10,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมทองธารินทร์ จ.สุรินทร์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ สำนักงานกกต.จะได้รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านการพิจารณาจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว หลังจากนั้น สำนักงาน กกต.จะต้องจัดทำประเด็นโต้แย้งเพื่อเสนอต่อที่ประชุมกกต.พิจารณา โดยเบื้องต้นเห็นว่า ประเด็นที่มีความเป็นไปได้ที่จะต้องทำความเห็นโต้แย้ง คือ ระยะเวลาลงคะแนน ระหว่าง 07.00 น.-17.00 น. ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการเลือกตั้งจัดในวันอาทิตย์ ส่วนใหญ่ผู้ใช้สิทธิจะมาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบสบายๆ คงไม่มีใครตื่นตั้งแต่ตีห้ามาใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมถึงข้อจำกัดของพื้นที่ห่างไกลอีก และที่สำคัญประเด็นนี้ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดไว้ จึงไม่ทราบว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายในการจัดเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น น่าจะใช้เงินประมาณ 5,800 ล้านบาท จากเดิม 3,000 ล้านบาท เพิ่มมา 2,800 ล้าน เพื่อดำเนินการในส่วนที่ กกต.ต้องทำแทนพรรคการ อาทิ การปิดประกาศหาเสียง การจัดเวทีหาเสียงให้ผู้สมัคร รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังระบุด้วยว่า ส่วนการจัดการเรื่องการซื้อเสียงนั้น มีหลายเรื่องเพิ่มขึ้นมา ทั้งการให้พนักงานสืบสวนไต่สวนของ กกต.มีอำนาจออกหมายเรียกพยานที่เกี่ยวข้องได้ หากไม่มาก็จะมีความผิดอาญา มีการตั้งกองทุนปราบทุจริตเพื่อเป็นกองทุนที่ให้สินบนรางวัลที่ให้กับคนที่แจ้งเบาะแส หากพยานหลักฐานนั้นนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือให้ใบแดง จะจ่ายกรณีละ 10,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วนอีกทางหนึ่ง และให้ทำบัญชีคนแจกเงินซื้อเสียงไว้ด้วย ว่าเป็นใคร เป็นลูกน้องใคร เพราะเวลาจะมีการซื้อเสียง จะมีการจ่ายเงินผ่านคนเหล่านี้ ขณะที่การปฏิรูปมีแนวความคิดคือการลดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้ทุนสามานย์เข้ามาในระบบการเมือง แล้วทำการเมืองพังอย่างเช่นทุกวันนี้
รองเลขาธิการ กกต. ยังระบุด้วยว่า สำหรับเรื่องจัดมหรสพในการหาเสียง ยังไม่แน่ใจว่ามีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ เพราะเมื่อมีการเปิดโอกาสให้จัดมหรสพได้อาจจะถือเป็นการจูงใจทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ และยังทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสำหรับพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นมา หากเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต่างกับไม่ปฏิรูป เพราะเป็นเหมือนการหาเสียงแบบเดิม ทั้งที่ เรื่องนี้ กกต.มองว่า พยายามจะลดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้ระบบทุนเข้ามาแทรกแซง และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันเกิดขึ้น ซึ่งพรรคการเมืองเองก็เห็นด้วย แต่พอมีการแก้ไขให้สามารถจัดมหรสพได้ก็อาจจะทำให้มีคำถามว่าจะมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันหรือไม่