ทีดีอาร์ไอคาด 15ปี ค่าใช้จ่ายสุขภาพไทยสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ผนวกปัจจัยสังคมสูงวัย
ทีดีอาร์ไอ ประมาณการ 15 ปีค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพประเทศไทยแตะ 4.8-6.3 แสนล้านบาท หากรวมปัจจัยสังคมสูงวัย อาจสูงถึง 1.4-1.8 ล้านล้านบาท ชี้โรคความดัน เบาหวาน โรคติดต่อไม่เรื้อรังเป็นตัวแปรสำคัญดึงค่าใช้จ่ายพุ่ง
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 61 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทีดีอาร์ไอ จัดแถลงข่าว “อีก 15 ปี ข้างหน้า อนาคตค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทยจะเป็นอย่างไร” โดยมีดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอเป็นผู้นำแถลง
สำหรับการศึกษาครั้งนี้เป็นการประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากผลของการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อตอบ 4 เรื่องสำคัญคือ 1) งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประไทศไทยในอีก 15 ปี 2) การเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ของคนไทยจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 3) ผลกระทบจากโรคและอายุจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของสวัสดิการประกันสุขภาพทั้งสามกองทุนอย่างไร 4) ข้อควรคำนึงต่อการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายในระยะยาวเพื่อสุขภาพของคนไทย
ดร.ณัฐนันท์ กล่าวถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอีก 15 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และหากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท แต่หากรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เทียบเท่ากันกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สมมติประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้น 1 เท่า ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยจะมีค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาทเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
ดร.ณัฐนันท์ กล่าวอีกว่า เมื่อใช้ข้อมูลรายได้จริงของประเทศหรือประชากรในประเทศไทย พบว่า รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น 1 เท่า จะเท่ากับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 0.85 เท่า ซึ่งน้อยกว่าที่ประมาณข้างต้น แต่หากพิจารณาแบบต่อหัว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงถึง 3.54 ซึ่งนับว่าเป็นรายจ่ายที่สูงกว่ารายได้มาก จากข้อค้นพบนี้จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าในระดับกองทุนว่ามีสินค้าหรือบริการใดบ้างที่จัดว่าเกินความจำเป็นหรือไม่มีผลต่อการรักษาพยาบาลโดยตรง
ทั้งนี้การประมาณค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นได้ใช้กรอบแนวคิดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ( OECD) ในปี พ.ศ.2556 ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประมาณค่าใช้จ่าย Health Care และ Long-Term Care ในอีก 50 ปีข้างหน้าของประเทศในกลุ่ม OECD และประเทศอื่นๆ โดยพิจารณาผลกระทบจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1) ปัจจัยด้านประชากร เช่น โครงสร้างอายุ สุขภาพของประชากร และ 2) ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น รายได้ เทคโนโลยีในการรักษา นโยบายของรัฐ เป็นต้น
หากดูจากสัดส่วนค่าใช้ด้านสุขภาพในอดีตถึงปัจจุบัน ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากผลการประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากผลของการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลทีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 10 ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2545 เป็นประมาณร้อยละ 13 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา
“การประมาณค่าใช้จ่ายในอนาคตเป็นส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐในการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ เช่นการส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยสูงวัย รวมถึงการกำกับดูเเลค่าใช้จ่ายของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ไม่ว่าจะเป็น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ” ดร.ณัฐนันท์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาภาครัฐเผชิญความท้าทายในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้ง 3 กองทุนมาโดยตลอด เนื่องจากแต่ละกองทุนมีแนวคิดและวิธีบริการจัดการแตกต่างกัน แต่ทั้ง 3 กองทุนก็ยังอยู่ในการควบคุมของรัฐ ซึ่งถือว่า เป็นปัจจัยภายในที่รัฐสามารถบริการจัดการได้
แต่สิ่งที่รัฐไม่สามารถควบคุมหรือยากในการจัดการคือปัจจัยภายนอก ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ โครงสร้างประชากร โครงสร้างอายุ สังคมสูงวัย โรคภัยและความเจ็บป่วยของประชาชน เหล่านี้จะมีผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากดูในผลวิเคราะห์โครงสร้างอายุและโรคต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 3 กองทุน สรุปได้ว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 อันดับแรก คือโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคข้ออักเสบ และโรคเบาหวาน เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างมาก