- Home
- Isranews
- ข่าว
- ที่แท้ทหารไทยฯเจ้าทุกข์!โชว์คำสั่งอายัดทรัพย์คดีปลอมเอกสารกู้แบงก์3.4พันล.-25บ.พัวพัน
ที่แท้ทหารไทยฯเจ้าทุกข์!โชว์คำสั่งอายัดทรัพย์คดีปลอมเอกสารกู้แบงก์3.4พันล.-25บ.พัวพัน
"...ภายหลังธนาคารทหารไทยฯ ได้ให้สินเชื่อกับ บริษัท เอพีเอสฯ จำกัด ตามสัญญา ลงวันที่ 28 ก.ย.2554 และได้ทำรายการโอนเงินไปต่างประเทศตามคำสั่งของผู้ขอสินเชื่อเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อประมาณกลางปี 2556 ธนาคารได้ตรวจสอบธุรกรรมการรับโอนเงินค่าสินค้าของ บริษัท เอพีเอสฯ พบว่า บริษัทผู้ขายสินค้าและบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้าให้กับ บริษัท เอพีเอสฯ มีกรรมการผู้มีอำนาจคนเดียวกัน และบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้าจากต่างประเทศมิใช่คู่ค้าของบริษัท บริษัท เอพีเอสฯ ตามที่ได้แจ้งไว้กับธนาคาร ทำให้มีการระงับการใช้วงเงินสินเชื่อดังกล่าว ..."
สืบเนื่องจากกรณีปรากฎข่าวว่าคณะกรรมการธุรกรรมของคณะกรรมการป้องและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีมติ วันที่ 14 ธ.ค.2560 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการ กระทำความผิดรายบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด กับพวกไว้ชั่วคราว มูลค่าประมาณ 62 ล้านบาท จากกรณีมีพฤติการณ์ขอสินเชื่อจากธนาคาร อ้างว่าเพื่อซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ และ ขอให้โอนเงินสินเชื่อไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าเป็นการชำระค่าซื้อขายสินค้า ต่อมาธนาคารพบว่าบริษัทผู้ขายสินค้าและบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้า มีกรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ค้าของบริษัท และมีการยื่นเอกสารปลอมในการขอสินเชื่อ จนเป็นเหตุให้ธนาคารหลายธนาคารได้รับความเสียหาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2556 ประมาณ 3,400 ล้านบาท ตามการประสานงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก บริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด พบว่า ปัจจุบันถูกนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2560 (อ่านประกอบ : บ.คดีปลอมเอกสารกู้แบงก์ 3.4 พันล. ปริศนา!เป็นหนี้ กก.173 ล. ก่อนเลิกกิจการ, ดูชัดๆ 2 หุ้นใหญ่ คดีปลอมเอกสารกู้แบงก์ 3.4 พันล.- แจ้งงบฯรายได้ 2.7 พันล. ,บ.ขายคอมฯปลอมเอกสารกู้แบงก์ 3.4 พันล.ถูก ปปง.อายัด 62 ล.-‘หญิงสาว’หุ้นใหญ่ )
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ปปง. ได้เผยแพร่คำสั่งอายัดทรัพย์ บริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด กับพวก มูลค่าประมาณ 62 ล้านบาท เป็นทางการแล้ว
โดยระบุพฤติการณ์กระทำความผิดว่า บริษัท เอพีเอสฯ กับพวก โดยนางสาวพรธิภา แซ่เฮ้ง กรรมการผู้มีอำนาจได้ยื่นขอสินเชื่อทีเอ็มบีตามคำสั่งจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยแยกเป็นวงเงินสินเชื่อก่อนการขายและหลังการขาย จำนวน 300 ล้านบาท และวงเงินซื้อขายเงินตราต่างประเทศจำนวน 300 ล้านบาท โดยมีหลักประกัน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังธนาคารทหารไทยฯ ได้ให้สินเชื่อกับ บริษัท เอพีเอสฯ จำกัด ตามสัญญา ลงวันที่ 28 ก.ย.2554 และได้ทำรายการโอนเงินไปต่างประเทศตามคำสั่งของผู้ขอสินเชื่อเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อประมาณกลางปี 2556 ธนาคารได้ตรวจสอบธุรกรรมการรับโอนเงินค่าสินค้าของ บริษัท เอพีเอสฯ พบว่า บริษัทผู้ขายสินค้าและบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้าให้กับ บริษัท เอพีเอสฯ มีกรรมการผู้มีอำนาจคนเดียวกัน และบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้าจากต่างประเทศมิใช่คู่ค้าของบริษัท บริษัท เอพีเอสฯ ตามที่ได้แจ้งไว้กับธนาคาร ทำให้มีการระงับการใช้วงเงินสินเชื่อดังกล่าว และธนาคารได้มีการสอบถามไปยังตัวแทนบริษัท วันไฮไลนส์ จำกัด (ผู้ขนส่ง) ประเทศฮ่องกง ที่อยู่ในประเทศไทย พบว่า ส่วนหนึงมีเลขที่ใบขนส่งสินค้าในฐานข้อูมูล แต่ข้อมูลอื่นๆ ทั้งหมดในใบขนส่งไม่ตรงกับข้อมูลในระบบของบริษัทผู้ขนส่ง และอีกส่วนหนึ่งตรวจสอบไม่พบเลขที่ใบขนส่ง ทำให้เชื่อว่ามีการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมในการเบิกเงินสินเชื่อจากธนาคาร จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกงกับ บริษัท เอพีเอสฯ และนิติบุคคลร่วมกับกรรมการของนิติบุคคลอีกจำนวน 12 บริษัท ที่สถานีตำรวจนครบาลบางซือ ซึ่งต่อมาทางธนาคารได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ทางธนาคารยังได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนดคีพิเศษ ให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เอพีเอสฯ และกรรมการที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม ฉ้อโกงและนำปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยได้รับอนุญาตไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นหรือนำไปใช้ผิดเงื่อนไข ในการได้ไปซึ่งปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ ซึ่งทางกรมสอบสวนคตดีพิเศษ ได้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว อันเข้าลักษณะเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุรกิจ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ( 18) แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บริษัท เอพีเอสฯ กับพวกได้ไปซื้อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ขณะที่ในประกาศคำสั่งอายัดทรัพย์ฉบับนี้ ระบุรายชื่อบริษัทเอกชนรายอื่น ที่ถูกอายัดทรัพย์นอกเหนือจาก บริษัท เอพีเอสฯ ไว้หลายแห่ง ประกอบไปด้วย รวมจำนวนกว่า 25 ราย ดังต่อไปนี้
1.บริษัท วี โมบาย จำกัด
2.บริษัท นีโอ พลาสติก เคมิคอล จำกัด
3.บริษัทสำนักงานเจริญการบัญชีและคอมพิวเตอร์ จำกัด
4.บริษัท ปานนที อุตสาหกรรม จำกัด
5.บริษัท พารากอน ดอทคอม จำกัด
6.บริษัท ซี.พี.เอส เทเลคอม จำกัด
7.บริษัท โกลเด้น บี บิวตี้ จำกัด
8.บริษัท ทรูแม็กซ์ จำกัด
9.บริษัท นัส แมเนจเม้นท์ จำกัด
10.บริษัท เอสพีซีเปเปอร์ จำกัด
11.บริษัท บิลเลี่ยน เทเลคอม จำกัด
12.บริษัท เฟรมไอเดีย จำกัด
13.บริษัทเอ็กซ์เพรส เทเลคอม จำกัด
14.บริษัทเคลลี่หยาง จำกัด
15.บริษัท ประยงค์ พลาสติกภัณฑ์ จำกัด
16.บริษัท โกลเด้นพี จำกัด
17.บริษัท บีทีพริ้นท์ติ้ง จำกัด
18.บริษัท ซี ดับเบี้ล จี จำกัด
19.บริษัท ซี.พี.เอส.คอมเทรด จำกัด
20.บริษัท โชคธนัทโลหะเจริญ จำกัด
21.บริษัท จีทู พับบลิค เคชั่น จำกัด
22.บริษัท เอส.ซี.เฮาส์ พีเจ้นท์ จำกัด
23.บริษัท เอส.เอส. เทเลเน็ต จำกัด
24.บริษัท รัซเซล ไบซิเคิล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
(ดูคำสั่งอายัดทรัพย์ 62 ล้านบาท ฉบับเต็มที่นี่ http://www.amlo.go.th/amlo-intranet/images/CommandHold/CommandHold_2559/CommandHold_2560/137-2560.pdf)
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้ ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบของเจ้าพนักงานสอบสวน บริษัทเอกชนผู้เกี่ยวข้องทุกรายจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่