ส่อผลาญงบพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง4พันล.!สตง.พบงานก่อสร้างเสร็จไม่ใช้ปย.เพียบ
สตง.เผยแพร่ผลตรวจสอบการใช้จ่ายงบพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง4พันล.เป็นทางการ พบงานก่อสร้างสำคัญแล้วเสร็จไม่ใช้ประโยชน์เพียบ แถมขาดความพร้อมบริหารจัดการภายหลังด้วย เผย 'หมู่บ้านอารยธรรม' สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 58 ใช้จัดงานประเพณีแค่ปีละครั้ง- จี้ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี แก้ไขปัญหาด่วน
การใช้จ่ายงบประมาณจำนวน 4,088.40 ล้านบาท ตามแผนพัฒนาพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557 -2566 ซึ่งมีโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องจำนวนมากกว่า 71 โครงการ ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า งานก่อสร้างบางรายการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมทั้งขาดการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้เผยแพร่รายงานผลตรวจสอบการดำเนินงานโครงการตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีการกำหนดงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาพื้นที่เมืองโบราณอู่ทองในวงเงิน 4,088.40 ล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ด้านต่างๆ ซึ่งมีโครงการที่ต้องดำเนินการรวมกว่า 71 โครงการ มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการ/กิจกรรมรวม 33 หน่วยงาน
สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการฯ ต่ำกว่ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการอีกจำนวนกว่า 21 โครงการ ขณะที่จากการสุ่มตรวจสอบกิจกรรมตามแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการฯ ที่มีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 23 สัญญา ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง จำนวน 39 กิจกรรม ใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวน 151.19 ล้านบาท พบว่า กิจกรรมการก่อสร้างที่สุ่มตรวจสอบมีการใช้ประโยชน์ได้ไม่ครบทุกรายการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีสิ่งก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 34 กิจกรรม มีการใช้ประโยชน์เพียง จำนวน 19 กิจกรรม ที่เหลืออีกจำนวน 15 กิจกรรม ยังไม่มีการใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
อาทิ บริเวณสถานที่ก่อสร้างพระพุทธรูปปุษยคีรีและพุทธมณฑลประจำจังหวัด สุพรรณบุรี มีสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ได้แก่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและห้องน้ำสำหรับ ให้บริการประชาชน แต่พบว่าสิ่งก่อสร้างทั้ง2 กิจกรรม ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในการให้บริการนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด
ขณะที่ บริเวณหมู่บ้านอู่ทองอู่อารยธรรม มีสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จหลายรายการ เช่น การก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอู่ทองอู่อารยธรรมสุวรรณภูมิ ก่อสร้าง ลานแสดงกลางแจ้งเมืองโบราณอู่ทอง ก่อสร้างห้องน้ำสาธารณะ การจัดทำแหล่งน้ำโดยการขุดสระน้ำ การก่อสร้างถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต การวางท่อระบายน้ำ และติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง การก่อสร้างอาคารเก็บพัสดุ การก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านฯ การปรับปรุงภูมิทัศน์พร้อมปลูก ต้นไม้บริเวณหมู่บ้านอู่ทองอู่อารยธรรม แต่พบว่า สิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2558 ส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์น้อย โดยจะมีการใช้ประโยชน์เมื่อมีการใช้สถานที่ดังกล่าวจัดงานประเพณีเพียงปีละ 1 ครั้ง ทำให้สิ่งก่อสร้างไม่ได้มีการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ส่วนอาคารศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด แต่กลับนำไปใช้เป็นสถานที่ทำการของมูลนิธิสุวรรณภูมิ โดยไม่มีเอกสารการขอใช้อาคารดังกล่าวจากหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีกรณีบริเวณวนอุทยานพุหางนาค มีการดำเนินกิจกรรมการก่อสร้างไปแล้วจำนวน 3 กิจกรรม คือ การก่อสร้างอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ ปีงบประมาณ 2558 และปรับภูมิทัศน์เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ จากการสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์สิ่งก่อสร้างทั้ง 3 กิจกรรม พบว่า อาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวยังไม่มีการใช้ประโยชน์เนื่องจากยังไม่มีการติดตั้งระบบไฟฟ้า ประปา ภายในอาคาร และการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง มีการกำหนดรูปแบบของ สิ่งก่อสร้างไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน โดยเข้าสำรวจสภาพสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วในพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ว่ามี สภาพชำรุดเสียหายหรือไม่ พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนคุมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน เพื่อให้ทราบว่า ภายในเมืองโบราณอู่ทอง มีสิ่งก่อสร้างอะไรบ้าง และหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบทั้งช่วงระหว่าง ก่อสร้างและภายหลังการก่อสร้าง
นอกจากนี้ ยังขอให้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติบริเวณพุหางนาคพิจารณาทบทวนการดำเนินการก่อสร้างทางเดินศึกษาธรรมชาติ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และคำนึงถึงความประหยัดคุ้มค่า เพราะหากดำเนินการก่อสร้างไปแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และไม่คุ้มค่า ทำให้ทางราชการเสียหายจะต้องดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชอบ