กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกเห็นด้วยเก็บเงินค่าถุง ชี้ปัญหาขยะเหตุจากนิสัยคนและระบบจัดการ
กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เห็นด้วยเก็บค่าถุง 1 บาท ลดวัฒนธรรมการใช้ล้นเกิน แนะหยุดผลิตถุงขนาดเล็กเหตุไม่จำเป็นแถมผลิตขยะ แจงสังคมพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย ปัญหาขยะคือเรื่องของคนและการจัดการ
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ในเวทีเสวนา “ถุงพลาสติก เราใช้ ใครต้องจ่าย?” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสุรศักดิ์เหลืองอร่ามศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ กล่าวว่า ทั้งส่วนตัวและในนามกลุ่มอุตสาหกรรมเห็นด้วยการจ่ายตังค์รับถุง เป็นเรื่องที่ดีเพราะไม่ใช่เฉพาะไทยที่มีแนวคิดนี้ แต่ทั่วโลกทำกัน เพียงแค่ว่าประเด็นที่อยากแยกให้คนทั่วไปเข้าใจคือ อย่ามองว่าพลาสติกคือผู้ร้าย อะไรคือต้นเหตุของปัญหา
“วันนี้เรากำลังมองปัญหาผิดจุด ไอเดียการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต หมายถึงเรามองว่าพลาสติกเป็นผู้ร้าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการเก็บเงินจากผู้ผลิตไม่ได้มีผลต่อสังคมอะไรเพราะสุดท้ายคือต้นทุนที่สูงก็กลายเป็นภาระผู้ใช้อยู่ดี”
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้คิดจากไอเดียเก็บเงินจากผู้ผลิตคือการลดทอนการแข่งขันของประเทศ หลายคนไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นของคนไทยโดยแท้จริง คนไทยสามารถผลิตได้ตั้งแต่เครื่องจักร เม็ดพลาสติก ออกแบบถุง ส่งออกไปจำหน่าย ถ้าเราไปมองพลาสติกว่าเป็นผู้ร้าย เรากำลังทำลายอุตสาหกรรม ลดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นเรื่องขยะอย่าหลงประเด็น
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กล่าวถึงปัญหาขยะอยู่ที่คนทิ้งขยะ และการจัดการขยะ ถ้าในแง่มาตรการใครสร้างมลพิษคนนั้นจ่ายอันนั้นเห็นด้วย แต่การมาเก็บเพิ่มจากภาคผลิตไม่ช่วยอะไร ข้อเสนอที่ว่าให้คิดค้นพลาสติกชีวภาพ ตอนนี้ทุกที่พยายามทำอยู่ เพราะเขาได้ประโยชน์จาก BOI ในเชิงทางภาษีถึง 8 ปี ส่วนอื่นๆ ต้องไปตามกลไกตลาด ซึ่งพลาสติกชีวภาพวันนี้ก็ยังมีปัญหาคืออายุการใช้งานที่น้อยมาก ผลิตเสร็จอยู่ได้ 9 เดือนสลายหมด
"ดังนั้นการใช้มาตรการใครจะเอาถุงให้จ่ายเงิน เป็นการทำในเชิงสัญลักษณ์ จำนวนที่ควรจะเก็บคือ 1 บาทซึ่งคิดว่าเหมาะสม ได้เชิงสัญลักษณ์และงบประมาณในเชิงอื่น และถ้าช่วยให้ลดการใช้ถุงพลาสติกไปครึ่งหนึ่ง เราจะได้เงินกลับอย่างน้อย 2,500 ล้านบาท รัฐได้เอาไปให้ความรู้ ไปแก้ทั้งระบบต่อไป” นายสุรศักดิ์ กล่าว และว่า คำถามถ้าอย่างนั้น เราไปเก็บจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ความจริงถุงพลาสติกที่ใช้ในห้างค้าปลีกเหล่านั้นไม่ถึงครึ่งของปริมาณใช้ทั้งประเทศ เอาเฉพาะแค่ 4 ห้างค้าปลีกใหญ่ใช้ถุงพลาสติกปีละ 3พันล้านใบ แต่ระบบค้าปลีกข้างนอกเยอะกว่าหลายเท่า ไม่ว่าตลาดสด รถเข็น อื่นๆ อีกมาก
ฉะนั้น นายสุรศักดิ์ มีข้อเสนอคือให้กำหนดไปเลยว่า ขนาดถุงต้องทำเท่าไหร่ ทราบหรือไม่ว่าถุงพลาสติกขนาดเล็กจริงๆ แล้วเราเรียกว่า ขยะ ถ้าเราตัดถุงขนาดเล็กออก และผลิตแต่ถุงที่มีความหนา ขนาดใหญ่ เอาใช้งานต่อไปสะดวก ถุงนั้นก็จะมีราคา และกำหนดนโยบายมาตามห้างว่า ซื้อของจะเอาถุงต้องจ่ายตังค์ แบบนี้เราแทบไม่ต้องบังคับแม่ค้าเจ้าเล็กๆ เลย เพราะเขาจะเอาด้วยแน่นอน เพราะได้เงิน ใช้กลไกตลาดมาช่วย และสุดท้ายคนก็จะชินไปเอง แต่กฎหมายอย่าออกมาแล้วบังคับใช้เลยไม่เช่นนั้นจะแตกตื่นเหมือนพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ดังนั้นมีกฎหมายและค่อยๆ ปรับให้ผู้ประกอบมีเวลา คนใช้ด้วยเช่นกัน