- Home
- Isranews
- ข่าว
- กฤษฎีกาชี้ ‘บ.การบินกรุงเทพ’ เช่าที่ราชพัสดุสนามบินสมุยไม่ได้-ยังไม่ถูกถอนที่ดินสาธารณ ปย.
กฤษฎีกาชี้ ‘บ.การบินกรุงเทพ’ เช่าที่ราชพัสดุสนามบินสมุยไม่ได้-ยังไม่ถูกถอนที่ดินสาธารณ ปย.
กฤษฎีกาชี้กรมธนารักษ์เปลี่ยนสถานะ ‘คลองสาธารณประโยชน์’ บริเวณสนามบินสมุย เป็นที่ดินราชพัสดุให้ ‘บ.การบินกรุงเทพ’ เช่าไม่ได้ เหตุยังไม่ถูกถอนสภาพตามกม.ที่ดิน -ไม่ให้ความเห็นสัญญาโมฆะต้องชดใช้เอกชน ระบุไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1420/2560 เรื่อง สถานะที่ดินพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนเลขที่ สฎ.958 บริเวณสนามบินสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตามที่กรมธนารักษ์ยื่นหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค0303/3977 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2560 ขอหารือในประเด็นข้อกฎหมาย
ทั้งนี้ ภายหลังกรมธนารักษ์ได้รับแจ้งจากคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าได้รับการร้องเรียน กรณีขอให้ตรวจสอบการบุกรุกคลองสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นที่ดินบริเวณที่กรมธนารักษ์จัดให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เช่า
โดยการพิจารณาจากข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้รับฟังจากผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ร้องเรียน ประกอบกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เอกสาร หลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่พรุอันเป็นที่รองรับน้ำก่อนระบายลงสู่ทะเลอันเป็นพื้นที่ที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่สามารถนำมาขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุได้
การที่กรมธนารักษ์ได้นำที่ดินดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุตามที่สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานีแจ้ง และได้อนุญาตให้บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เช่า ดังกล่าว จึงอาจถือได้ว่าเป็นการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน จึงขอให้กรมธนารักษ์พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแจ้งผลการพิจารณาให้คณะกรรมาธิการฯ ทราบโดยด่วน
โดยข้อหารือทางกฎหมายมี 2 ประเด็น มีดังนี้
1.กรมธนารักษ์เห็นว่าพื้นที่ในบริเวณคลองบางทด ซึ่งมีสถานะเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงสภาพตื้นเขินน้ำท่วมไม่ถึง ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1309 ทางราชการ โดยโรงเรียนบ้านบางรักษ์เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว จึงเปลี่ยนสถานะเป็นที่ราชพัสดุ และได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สฎ. 958 เป็นการถูกต้องแล้ว หรือไม่
2.กรณีหากที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุ สัญญาที่หน่วยงานของรัฐ (กรมธนารักษ์) ทำกับเอกชน (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) จะตกเป็นโมฆะหรือไม่ หากกรณีสัญญาเป็นโมฆะในฐานะรัฐจะคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เอกชนผู้เข้ามาเป็นคู่สัญญาโดยสุจริตได้หรือไม่ เพียงใด
คณะกรรมการกฤษฏีกา (คณะที่ 7) มีความเห็นในเรื่องขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สฎ. 958 จะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไรนั้น ตามมาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
การจะนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น จะต้องดำเนินการถอนสภาพตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ก่อน แม้ว่าต่อมาที่ดินดังกล่าวจะเปลี่ยนสภาพไปก็ตาม
เมื่อไม่ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวได้ถูกถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันแต่ประการใด ที่ดินแปลงนี้จึงยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ตลอดมา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๖) ได้เคยให้ความเห็นในทำนองเดียวกันนี้ไว้ในเรื่องเสร็จที่ 103/2514 และต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 8) ได้ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันนี้ไว้ในเรื่องเสร็จที่ 268/2529
เมื่อที่ดินดังกล่าวยังไม่ถูกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) แม้ต่อมากรมธนารักษ์นำไปขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สฎ. 958 ที่ดินแปลงนี้ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ตลอดมา จึงไม่อยู่ในความหมายของที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518
สำหรับบทบัญญัติตามมาตรา 1309 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กรมธนารักษ์กล่าวอ้างนั้น เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวดว่าด้วยการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน และเป็นบทบัญญัติที่กำหนดว่า เกาะที่เกิดในทะเลสาบหรือในทางน้ำหรือในเขตน่านน้ำของประเทศ และท้องน้ำที่ตื้นเขินเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ไม่อาจมีผู้ใดได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในเกาะหรือท้องน้ำที่ตื้นเขินดังกล่าวได้เท่านั้น การที่จะพิจารณาว่า ทรัพย์สินของแผ่นดินจะมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใดบ้าง จะต้องพิจารณาบทบัญญัติตามมาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น
ส่วนประเด็นหากที่ดินบริเวณดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุ สัญญาที่หน่วยงานของรัฐ (กรมธนารักษ์) ทำกับเอกชน (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) จะตกเป็นโมฆะหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า กรณีสัญญาเป็นโมฆะในฐานะรัฐจะคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เอกชนผู้เข้ามาเป็นคู่สัญญาโดยสุจริตได้หรือไม่ เพียงใด นั้น ข้อหารือในประเด็นนี้เป็นเรื่องข้อกำหนดในสัญญา มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาให้ความเห็นได้ .