- Home
- Isranews
- ข่าว
- ก.ล.ต.ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบผู้บริหาร‘กรุ๊ปลีส’ ใช้ บ.ลูกปล่อยกู้เอกชน ตปท.54 ล.เหรียญสหรัฐฯ
ก.ล.ต.ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบผู้บริหาร‘กรุ๊ปลีส’ ใช้ บ.ลูกปล่อยกู้เอกชน ตปท.54 ล.เหรียญสหรัฐฯ
ก.ล.ต.ฟัน ปธ.กรรมการ ‘กรุ๊ปลีส’ บ.เงินทุนและหลักทรัพย์ ใช้บริษัทลูกปล่อยกู้เอกชนต่างประเทศ ‘ไซปรัส-สิงคโปร์’ 54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เจ้าตัวรับประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ส่งดีเอสไอ-ปปง. สอบต่อ-ขยายผลเส้นทางเงินด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท และทำบัญชีไม่ถูกต้อง โดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อให้ผลประกอบการของ GL สูงเกินความจริง
ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากในงบการเงินงวดปี 2559 ของ GL ที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกรรมการให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้ในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการของ GL เพิ่มสูงขึ้น ก.ล.ต. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายมิทซึจิ ให้บริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิ้งส์ จำกัด (GLH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GL ที่ประเทศสิงคโปร์ ปล่อยกู้แก่บริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง โดยพบหลักฐานว่า GLH ให้กู้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส 4 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง เป็นเงินให้กู้รวมประมาณ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีนายมิทซึจิ เป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง โดยเมื่อบริษัททั้ง 5 แห่งได้รับเงินกู้จาก GLH ไปแล้ว ได้นำไปหมุนเวียนในกลุ่มบริษัทผู้กู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ GLH เป็นงวด ๆ ซึ่งยอดดอกเบี้ยถูกนำไปรวมเป็นรายได้ในงบการเงิน อันเป็นการแต่งบัญชีและสร้างผลประกอบการของ GL ให้สูงเกินจริง
ก.ล.ต. เห็นว่า การกระทำของนายมิทซึจิข้างต้นเป็นการทำธุรกรรมอำพราง การยักยอก ยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีและทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง รวมถึงบอกกล่าว เผยแพร่ ข้อความเท็จ ส่งผลกระทบต่อราคาหรือการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ตลอดจนขัดแย้งกับข้อมูลที่ GL ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 13 มี.ค. 2560 และการแถลงข่าวของนายมิทซึจิ ในวันที่ 14 มี.ค. 2560 ที่ยืนยันว่า บริษัทผู้กู้ในต่างประเทศไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตนเอง
จึงเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 และ มาตรา 313 และมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 ซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำการฝ่าฝืนมาตรานั้น ๆ แล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าว ต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 240 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559 ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนายมิทซึจิ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การถูกกล่าวโทษทำให้นายมิตซึจิเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับกรณี GL ข้างต้น
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์ และอาจเป็นการยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นความผิดมูลฐานแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก.ล.ต. จึงแจ้งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
การดำเนินคดีนี้ ก.ล.ต. ได้รับความช่วยเหลือจาก Cyprus Securities and Exchange Commission ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการเอาผิดข้างต้น
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ