- Home
- Isranews
- ข่าว
- ประชุม2นัดได้คนละ7หมื่น!ป.ป.ท.โร่หารือก.บัญชีกลางเบิกเบี้ยค่าประชุมอนุฯไต่สวนคดีจำนำข้าว
ประชุม2นัดได้คนละ7หมื่น!ป.ป.ท.โร่หารือก.บัญชีกลางเบิกเบี้ยค่าประชุมอนุฯไต่สวนคดีจำนำข้าว
วิจารณ์สนั่น ป.ป.ท.อนุมัติเบิกจ่ายเบี้ยค่าประชุมให้คณะอนุฯ ไต่สวนคดีจำนำข้าว 7 ราย แบบนับรวมการปฏิบัติหน้าที่พร้อมกัน 47 คำสั่ง ยอดเงินพุ่งเฉลี่ยคนละ 7 หมื่น บางรายได้เงิน สูงถึง 8.8 หมื่น ทั้งที่ ประชุมสรุปงาน แค่ 2 ครั้ง เผยฝ่ายบริหารโร่ทำหนังสือหารือ กรมบัญชีกลาง แล้ว หวั่นทำผิดระเบียบใช้จ่ายไม่ประหยัด พร้อมรับฟังคำชี้ขาด ผิดยินดีคืนเงินหลวง
การเบิกค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีโครงการจำนำข้าว ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีเจ้าหน้าที่ป.ป.ท. ที่ทำหน้าที่เป็นคณะอนุฯ ไต่สวน จำนวน 7 ราย ได้รับอนุมัติให้เบิกค่าเบี้ยประชุม ตกละเฉลี่ยคนละ 7-8 หมื่นบาท
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ปปท. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ท.ได้ทำเรื่องถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือเกี่ยวกับการอนุมัติเบิกค่าเบี้ยประชุมของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. จำนวน 7 ราย ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการไต่ส่วนข้อเท็จจริงกรณีโครงการจำนำข้าว เฉลี่ยคนละ 7-8 หมื่นบาท ว่าถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติหรือไม่
“ตามระเบียบการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมของสำนักงาน ปปท. จะให้เบิกจ่ายได้ครั้งละ 1-2 พันบาท ต่อการประชุม 1 ครั้ง แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หลายราย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุไต่สวน พร้อมกันถึงจำนวน 47 คำสั่ง ขณะที่ในช่วงวันที่ 18-22 ก.ค.2560 มีจัดประชุมสรุปผลการดำเนินงานของคณะอนุไต่สวนพร้อมกันทั้ง 47 คำสั่ง จำนวน 2 ครั้ง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ทำเรื่องเบิกจ่ายเบี้ยประชุมแบบแยกคำสั่ง ให้ในครั้งเดียว จึงทำให้วงเงินเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงต่อคนสูงถึงคนละ 7 หมื่นบาท บางรายได้สูงถึง 8.8 หมื่นบาท แทนที่จะนับรวมเป็นการปฏิบัติหน้าที่แค่ครั้งเดียว" แหล่งข่าวระบุ (ดูตารางประกอบ)
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากที่มีการอนุมัติเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวไปแล้ว เจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ มีความกังวลว่า อาจมีปัญหาตามมาในภายหลัง เนื่องจากหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่าย ของป.ป.ท. ที่ใช้ในปัจจุบัน ระบุว่า จะต้องคำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสม และความประหยัด เพื่อประโยชน์ทางราชการอย่างแท้จริง จึงได้ทำเรื่องแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.ได้รับทราบ
“หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ท.ทราบเรื่อง ก็เกิดความไม่สบายใจ จึงได้สั่งการให้ทำเรื่องไปหารือยังกรมบัญชีกลาง ว่า การเบิกจ่ายเบี้ยประชุมวงเงินสูงดังกล่าว ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการชี้ขาดจากกรมบัญชีกลางตอบกลับมา ถ้าหากกรมบัญชีกลางชี้มาว่าไม่ถูกต้อง และให้เจ้าหน้าที่คืนเงินก็พร้อมจะดำเนินการทันที” แหล่งข่าวระบุ
ด้าน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ อดีตเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ท. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว คงไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้มาก แต่เคยสอบถามเบื้องต้นไปยังเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเป็นคณะอนุกรรมการฯแล้ว พบว่า ดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เนื่องจากคดีข้าวมีหลายร้อยคดีมาก และทีมหนึ่งต้องประชุม 30-40 ครั้งติดต่อกัน บางคดีเป็นผู้ถูกกล่าวหากลุ่มเดียวกันด้วย ทั้งนี้หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมให้ติดต่อไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. ผู้ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้เพิ่มเติม