เกษียณแล้วเอาผิดไม่ได้!กฤษฎีกาชี้ ธ.อิสลามอดฟัน'บิ๊ก'โกงเงินนายหน้าประกันชีวิต
กฤษฎีกาตีความชัด! ธ.อิสลามฯ เอาผิดวินัยอดีต พนง. หลังเกษียณแล้วไม่ได้ หลังพบเหตุทุจริตเงินค่านายหน้า บ.ประกันชีวิต-ประกันภัย พบช่วงปี’59 ไล่ออกรักษาการ ผจก. เซ่นปมนี้ไปแล้วด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2560 สำนักงานกฤษฎีกาได้ตอบข้อซักถาม ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท. หรือไอแบงก์) กรณีตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงพนักงานไอแบงก์กรณีทุจริตค่านายหน้าธุรกิจประกันชีวิต และประกันภัย แต่เนื่องจากพนักงานรายดังกล่าวได้เกษียณอายุ สามารถยุติการสอบได้หรือไม่ เนื่องจากข้อบังคับไอแบงก์ ไม่สามารถลงโทษทางวินัยกับพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้วได้ แตกต่างจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 100 ที่กำหนดให้ดำเนินการทางวินัยได้เสมือนผู้นั้นยังไม่ได้ออกจากราชการ
เบื้องต้นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) และผู้แทนไอแบงก์ ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า ไอแบงก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 การพิจารณาโทษทางวินัยกับพนักงานไอแบงก์จะกระทำได้เพียงใดย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย หรือระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของไอแบงก์
ข้อบังคับไอแบงก์ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการทำงานและสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างธนาคาร พ.ศ. 2551 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 7) ดังนั้นการพิจารณาว่า ไอแบงก์จะสามารถดำเนินการทางวินัยกับพนักงานไอแบงก์ที่เกษียณอายุหรือพ้นสภาพการทำงานไปแล้วได้หรือไม่อย่างไร ต้องเป็นไปตามข้อบังคับดังกล่าว อันเป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ประชุมร่วมคณะที่ 1-2 เมื่อปี 2553)
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไอแบงก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัยกรณีนี้แล้ว เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2559 แต่พนักงานรายนี้เกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2559 โดยข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดให้ไอแบงก์สามารถดำเนินการทางวินัยกับพนักงานทีเกษียณอายุหรือพ้นสภาพการทำงานไปแล้วได้ ด้วยเหตุนี้แม้ไอแบงก์จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับพนักงานรายนี้ก็ตาม แต่เมื่อระหว่างสอบสวนพนักงานรายนี้ได้เกษียณอายุไปแล้ว ข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้ได้ แตกต่างจากการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาสามารถดำเนินการสอบสวนข้าราชการที่ออกจากราชการไปแล้วภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เมื่อปี 2545 2556 และ 2557 ดังนั้นไอแบงก์จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเกษียณอายุการทำงานไปแล้วได้
ทั้งนี้เนื้อหาบางตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ด้วยว่า ประเด็นการทุจริตของพนักงานรายนี้ เกี่ยวกับเงินค่านายหน้าบริษัทประกันชีวิต และ/หรือประกันภัย โดยไม่ยอมส่งคืนไอแบงก์ แต่กลับไปมอบให้รักษาการผู้จัดการไอแบงก์ (ขณะนั้น) และรักษาการผู้จัดการปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินดังกล่าว ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่รักษาการผู้จัดการรายนี้ และมีมติเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 ลงโทษไล่ออก และบอร์ดไอแบงก์มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ