- Home
- Isranews
- ข่าว
- ชงใช้ม.44 แก้ปัญหา! ปูดมติ3หน่วยงานรัฐ บีบดีเอสไอชะลอสอบเอกชนคดีเลี่ยงภาษีก๊าซไทย-มาเลฯ
ชงใช้ม.44 แก้ปัญหา! ปูดมติ3หน่วยงานรัฐ บีบดีเอสไอชะลอสอบเอกชนคดีเลี่ยงภาษีก๊าซไทย-มาเลฯ
ปูดแผนช่วยคดีขายก๊าซธรรมชาติเหลว พื้นที่ไทย-มาเลฯ เผยมติที่ประชุมลับ 3หน่วยงานรัฐ ลงมติร่วมเห็นพ้องให้ดีเอสไอชะลอสอบเอกชน-ชงใช้ม.44 แก้กม.- ด้าน ปลัดยธ.ยันไม่จริง
การสอบสวนคดีการจัดเก็บอากรศุลกากรขาออก จากการขายก๊าซธรรมชาติเหลวของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย กำลังเกิดปัญหาขึ้น เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถูกสั่งให้ชะลอผลการสอบสวนออกไป ภายหลังจาก ได้แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้ได้รับสัญญาในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอากรขาออก และมีการเรียกอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้รับสัญญาชาวมาเลเชียให้ปากคำไปแล้ว แต่มีความพยายามของหน่วยงานรัฐไทย ในการให้ความช่วยเหลือ ไม่ให้บริษัทผู้รับสัมปทานต้องเสียภาษี ทั้งในลักษณะการตีความข้อกฎหมาย รวมถึงการเสนอขอใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อยกเว้นการจัดเก็บภาษีด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารระดับสูงของ กระทรวงพลังงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมเพื่อหาข้อยุติและพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีการจัดเก็บอากรศุลกากรขาออกจากการขายก๊าซธรรมชาติเหลว ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ดีเอสไอ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทผู้ได้รับสัญญาในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอากรขาออก โดยได้มีการเรียกอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้รับสัญญาชาวมาเลเซียให้ปากคำ ภายหลังสืบสวนพบว่าการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าว มีการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ไปเป็นของบริษัทต่างชาติ ก่อนที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งจะรับซื้อต่อและส่งก๊าซธรรมชาติเหลวเข้าไทย แต่ใบขนสินค้าไม่มีการสำแดงที่มาของสินค้า ซึ่งดีเอสไอ เห็นว่าเป็นการแสดงพิกัดที่จะหลีกเลี่ยงภาษี
ขณะที่ความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2533 ในข้อ 16 (1) (ก) กำหนดให้ “อัตราอากรขาออกที่จะต้องจ่ายโดยผู้ได้รับสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับส่วนแบ่งของผู้ได้รับสัญญาในน้ำมันดิบส่วนที่เป็นกำไรที่ขายนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียให้เป็นร้อยละ 10..” โดยมีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้นำก๊าซธรรมชาติเหลวที่ผลิตจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียมาใช้ประโยชน์ในประเทศทั้งสอง ซึ่งโดยทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น จะเป็นการประมูลแข่งขันเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด โดยผู้เข้าร่วมการประมูลส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมัน (ซึ่งอาจจดทะเบียนในประเทศที่สาม) แม้ว่าในที่สุดก๊าซธรรมชาติเหลวดังกล่าวจะนำมาใช้ในประเทศ ซึ่งแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและมาเลเซียจะไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร
เบื้องต้น ที่ประชุมร่วมหน่วยงานรัฐดังกล่าว เห็นควรให้ กรมศุลกากร ตีความข้อกฎหมายการจัดเก็บอากรศุลกากรขาออกกรณีนี้ให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะการยืนยันพิธีการจัดเก็บอากรขาออกฯ ให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก และเห็นพ้องให้ ดีเอสไอ ชะลอการสอบปากคำคดีความออกไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติด้วย นอกจากนี้ ยังขอให้กรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ ประสานองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ในการยกร่างหนังสือรายงานประเด็นดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอขอรับความเห็นชอบตามความในมาตรา 44 เพื่อขอยกเว้นพิธีการศุลกากรและสรรพากรสำหรับก๊าซธรรมชาติส่วนของมาเลเซียต่อไป
โดยในที่ประชุมดังกล่าวมีการอ้างเหตุผลว่า การที่ดีเอสไอ มีการเรียกอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้รับสัญญาชาวมาเลเซียมาให้ปากคำ ทำให้คณะกรรมการองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (ฝ่ายมาเลเซีย) ได้แสดงความกังวลใจอย่างมาก เกรงว่าอาจกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 3 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้ติดต่อไปยังนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ซึ่งถูกระบุว่าเข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม นายวิศิษฎ์ ระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้
เมื่อถามย้ำว่า มีข่าวว่า ที่ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน มีมติเห็นพ้องให้ดีเอสไอ ชะลอการสอบสวนคดีนี้ใช่หรือไม่ นายวิศิษฎ์ ตอบว่า ไม่ได้มีมติแบบนั้น และไม่ขอชี้แจงอะไรเพิ่มเติมอีก