กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรค้านนำเข้าหมูทรัมป์ พบสารเร่งเนื้อแดง ทำลายเศรษฐกิจ
กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรรวมตัว ก.พาณิชย์ ค้านไทยเตรียมเจรจานำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯ หวั่นทำลายระบบ ศก.-สุขภาพคนไทย เหตุใช้สารเร่งเนื้อแดง ผิดกม.
วันที่ 11 ก.ย. 2560 กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจากทั่วประเทศกว่า 100 คน รวมตัวกัน ณ กรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐฯ หลังทราบว่าคณะของกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าว โดยมีนายสุชาติ สินรัตน์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้รับมอบ
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ มาตลอด ล่าสุด ทราบว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เชิญ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเจรจาการค้าระหว่างกัน เพื่อลดการขาดดุลของสหรัฐฯ เพื่อลดการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยมีหัวข้อการเจรจาเกี่ยวกับความต้องการให้ไทยนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐฯ ด้วย
“วันพรุ่งนี้ 12 ก.ย. 2560 คณะของกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางไปสหรัฐฯ ก่อน จึงกังวลเลยต้องมายืนยันคัดค้าน” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าว และย้ำว่า เนื้อสุกรจากสหรัฐฯ มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แร็ตโตปามีน) อย่างกว้างขวาง แต่สารดังกล่าวเป็นสารต้องห้ามตามบัญญัติและกำหนดบทลงโทษในกฎหมายไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจึงขอให้รัฐบาลไทยยืนยันการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด เพื่อปกป้องประชาชนผู้บริโภคชาวไทยปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทางการเกษตรที่เป็นรากฐานและเสาหลักของประเทศ ทั้งนี้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ภาพเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำ จนรัฐบาลต้องผลักดันไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามรายได้ปานกลางของประชากร
นายสุรชัย กล่าวต่อถึงสภาพความเป็นจริงของภาคเกษตรของไทยจากการประเมินของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งยังอยู่ในระดับ 1.4-1.7 เท่านั้น ในขณะที่ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นทุกปี ดังนั้นการตัดสินใจใด ๆ ของรัฐบาลต้องอยู่บนพื้นฐานที่ต้องหารือกับประชากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มิใช่จะตัดสินใจใด ๆ โดยไม่มีการพิจารณารอบด้าน ซึ่งจะเป็นการทำลายโครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ โครงสร้างการประกอบอาชีพของสังคมที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไข
“สมาคมฯ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศยืนยันขอคัดค้านการนำเข้าสุกรสหรัฐฯ อย่างถึงที่สุด เพื่อไม่ให้การตัดสินใจในเรื่องนี้ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ทำลายผู้เลี้ยงสุกร และทำลายสุขภาพอนามัยของคนในชาติ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะระดมเงินเข้ากองทุนรายละ 100 บาท เพื่อต่อสู้คัดค้านให้ถึงที่สุด เเละใช้เป็นเงินสำรองหากมีการต่อสู้ฟ้องร้องในขั้นตอนของกฎหมายด้วย เพราะมิฉะนั้นปล่อยให้มีการนำเข้าจะผลกระทบทั้งห่วงโซ่เสียหายมากถึง 1 ล้านล้านบาท” นายกสมาคมฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2559 สหรัฐฯส่งออกมาไทยเป็นมูลค่า 10,570 ล้านดอลลาร์ นำเข้าจากไทย มูลค่า 29,490 ล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยถึง 18,920 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นจึงต้องการให้ไทยนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการขาดดุล