รถกู้ภัยฯ คันละ 7.7ล.! ปภ.แจงของดีเครื่องมือครบ-คน 3 เหล่าทัพ กำหนดสเปก
ปภ.ส่งหนังสือแจง ‘อิศรา’ปมจัดซื้อรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว คันละ 7.7 ล. ยัน ของดี เครื่องมือครบ การันตีจัดทำสเปกโดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 เหล่าทัพ ผู้ซื้อเอกสารมากราย ให้บุคคลภายนอกดูแล้วผู้เสนอราคาไม่เชื่อมโยงกัน ขอให้สื่อช่วยพีอาร์กระตุ้นเอกชนเข้าร่วมเยอะๆ
กรณีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทำสัญญาจัดซื้อรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 90 คัน 697,042,000 บาท จากวงเงิน 700 ล้านบาท จำแนกเป็น
1.จัดซื้อรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว คันละ 17 คัน คันละ 7,726,000 บาท รวม 131,342,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2559 (สัญญาเลขที่ 0604/39/2560)
2.จัดซื้อรถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 36 คัน คันละ 7,726,000 บาท รวม 278,136,000 บาท เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2558 (สัญญาเลขที่ 0603/48/2558)
3.จัดซื้อรถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 37 คัน คันละ 7,772,000 บาท รวม 287,564,000 บาท เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2557 (สัญญาเลขที่ 0603/54/2557)
จาก บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ชนะประกวดราคา ซึ่งเป็นเอกชนรายเดียวกับผู้ชนะประกวดราคาจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่ม 42 คัน ราคา 255.7 ล้าน (อ่านประกอบ:รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว ปภ. คันละ 7.7 ล. เจ้าเดิมชนะ 3 ปีรวด 90 คัน 700 ล.)
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างครั้งแรกเมื่อปี 2557 นั้น ปภ.ได้สืบราคากลางจากเอกชน 5 รายซึ่งเป็นเอกชนที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นเครือข่ายเดียวกัน และการจัดซื้อครั้งต่อมาก็อ้างอิงราคาจากการสืบราคากลางครั้งแรก (อ่านประกอบ: รู้หรือไม่ รถกู้ภัยฯ ปภ. 90 คัน 700 ล. สืบราคาจากเอกชนกลุ่มเดียวกัน ?)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2560 นายวรพจน์ เพ็ญพาส รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมีสาระสำคัญ
1.รถกู้ภัยดังกล่าวมี อุปกรณ์สำหรับติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ช่วยเหลือกู้ภัยและดับเพลิงครบถ้วน
2. กำหนด คุณลักษณะเฉพาะ (สเปก) โดยเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญด้านครุภัณฑ์ดังกล่าว และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้ครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และมีมาตรฐานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ
3. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จัดซื้อด้วยวิธีประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) กำหนดราคากลาง ตามแนวทางคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวคือ การใช้ราคาตามที่สำนักงบประมาณกำหนด (บัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์) หรือราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุด ภายใน 2 ปีงบประมาณ หรือราคาสืบจากท้องตลาดตามลำดับ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นการจัดการครั้งแรกและเป็นครุภัณฑ์ที่ไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาด จึงได้สืบราคาจากผู้ประกอบการที่มีอาชีพเกี่ยวกับผู้ประกอบรถกู้ภัยและเครื่องจักรกลสาธารณภัย จำนวน 5 ราย
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จัดซื้อด้วยวิธีประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ใช้ราคาที่เคยจัดซื้อในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งได้จัดหาไว้แล้วไม่เกิน 2 ปีงบประมาณ มาจัดทำราคากลาง
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จัดซื้อด้วยวิธีประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ใช้ราคาที่เคยจัดซื้อในงบปีประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้จัดหาไว้แล้วไม่เกิน 2 ปีงบประมาณ มาจัดทำราคากลาง
4. ขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ปภ.ได้นำร่างขอบเขตของงาน (TOR) รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ร่างประกาศและร่างเอกสารการประกวดราคาพร้อมทั้งราคากลางประกาศเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง และของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อให้สาธารณชนได้เสนอแนะ ประชาพิจารณ์ หรือโต้แย้งความคิดเห็น หากมีกรณีเอื้อประโยชน์ หรือกัดกันผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใด ก็สามารถโต้แย้งหรือเสนอแนะ และส่วนราชการต้องพิจารณาและทบทวนอีกครั้งหนึ่งทุกกรณี จากการประกาศเผยแพร่ร่างขอบเขตของงาน (TOR) รายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะ ร่างประกาศและร่างเอกสารการประกวดราคา เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ วิจารณ์ หรือมีความเห็น ปรากฏว่า ไม่มีผู้เสนอแนะ วิจารณ์ หรือโต้แย้งเป็นประการอื่น แตกต่างจากที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเผยแพร่แต่อย่างใด ทั้ง 3 ปีงบประมาณ
5.ขั้นตอนการประกาศประกวดราคา มีผู้สนใจซื้อ/ดาวน์โหลดเอกสารจำนวนหลายราย ผู้เสนอราคาทุกรายยื่นมีคุณสมบัติ ยื่นเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน และไม่เป็นผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ปภ. ยังได้เชิญบุคคลภายนอกร่วมพิจารณาเอกสารหลักฐานการเสนอราคา ซึ่งเห็นว่าถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีการเชื่อมโยงของผู้เสนอราคาแต่อย่างใด
ในการดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์รายการดังกล่าว ทุกขั้นตอนเป็นไปตามแนวทาง กฎ ระเบียบ ของทางราชการทุกประการ ภายใต้หลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ตามระเบียบ มิได้เอื้อประโยชน์หรือผูกขาดผลิตภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่งยี่ห้อใด แม้ว่าคู่สัญญาจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม แต่ก็เป็นการผ่านการแข่งขันที่มีการเสนอราคาโดยเปิดเผย และเปิดกว้าง ภายใต้ระเบียบแบบแผนของทางราชการ
อย่างไรก็ตามเพื่อตอบสนองต่อข้อคิดเห็นของสื่อมวลชน จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายเครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์กู้ภัยต่างๆ เข้าร่วมเสนอราคาโครงการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในโอกาสต่อไป นอกเหนือจากการดำเนินการตามระเบียบราชการที่กำหนด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ปฏิบัติตามระเบียบแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการและต่อทางราชการอีกด้วย
มีรายละเอียดดังนี้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
1.รถยนต์เคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์กู้ภัย ออกแบบให้สามารถใช้งานได้ทั้งการดับเพลิง การกู้ภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีฉุกเฉินเบื้องต้น สามารถขับเคลื่อนได้เหมาะสมในทุกสภาพพื้นที่ พร้อมมีตู้เก็บอุปกรณ์สำหรับติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติงานฉุกเฉิน มีอุปกรณ์ช่วยเหลือกู้ภัยและดับเพลิงครบถ้วน ซึ่งมีอุปกรณ์หลัก อาทิ 1) ตัวรถและตู้เก็บอุปกรณ์ 2) อุปกรณ์กู้ภัย/ช่วยชีวิต เช่น เครื่องตัด/ถ่าง ไฮดรอลิคเอนกประสงค์ เครื่องสูบไฮดรอลิค เครื่องค้ำยัน ชุดหมอนลมกู้ภัยแรงดันสูง ฯลฯ 3) ระบบไฟส่องสว่างและสัญญาณฉุกเฉิน 4) ระบบดับเพลิงแรงดันสูง 5) ชุดอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ 6) วิทยุสื่อสาร
ในการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความชำนาญด้านครุภัณฑ์ดังกล่าว และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้ครุภัณฑ์เครื่องจักรกลสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และมีมาตรฐานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ
2. การจัดซื้อรถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีดังนี้
3.การจัดทำราคากลาง
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จัดซื้อด้วยวิธีประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) กำหนดราคากลาง ตามแนวทางคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวคือ การใช้ราคาตามที่สำนักงบประมาณกำหนด (บัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์) หรือราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุด ภายใน 2 ปีงบประมาณ หรือราคาสืบจากท้องตลาดตามลำดับ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นการจัดการครั้งแรกและเป็นครุภัณฑ์ที่ไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาด จึงได้สืบราคาจากผู้ประกอบการที่มีอาชีพเกี่ยวกับผู้ประกอบรถกู้ภัยและเครื่องจักรกลสาธารณภัย จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1) บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด 2) บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด 3) บริษัท มารีน่า ไทยเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด 4) บริษัท โนวาเทค จำกัด 5) บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่น จำกัด โดยใช้ราคาที่ต่ำที่สุดเป็นราคากลาง และได้เสนอราคาประกอบการพิจารณาของสำนักงบประมาณและผ่านการตรวจสอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว จึงได้รับอนุมัติงบประมาณประจำปี
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จัดซื้อด้วยวิธีประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) กำหนดราคากลางตามแนวทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) โดยใช้ราคาที่เคยจัดซื้อในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งได้จัดหาไว้แล้วไม่เกิน 2 ปีงบประมาณ มาจัดทำราคากลาง
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จัดซื้อด้วยวิธีประมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กำหนดราคากลางตามแนวทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยใช้ราคาที่เคยจัดซื้อในงบปีประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้จัดหาไว้แล้วไม่เกิน 2 ปีงบประมาณ มาจัดทำราคากลาง
4. ขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อรถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว
4.1 การจัดซื้อรถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว ทั้ง 3 ปีงบประมาณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้นำร่างขอบเขตของงาน (TOR) รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ ร่างประกาศและร่างเอกสารการประกวดราคาพร้อมทั้งราคากลางประกาศเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง และของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อให้สาธารณชนได้เสนอแนะ ประชาพิจารณ์ หรือโต้แย้งความคิดเห็น หากมีกรณีเอื้อประโยชน์ หรือกัดกันผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใด ก็สามารถโต้แย้งหรือเสนอแนะ และส่วนราชการต้องพิจารณาและทบทวนอีกครั้งหนึ่งทุกกรณี จากการประกาศเผยแพร่ร่างขอบเขตของงาน (TOR) รายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะ ร่างประกาศและร่างเอกสารการประกวดราคา เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ วิจารณ์ หรือมีความเห็น ปรากฏว่า ไม่มีผู้เสนอแนะ วิจารณ์ หรือโต้แย้งเป็นประการอื่น แตกต่างจากที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเผยแพร่แต่อย่างใด ทั้ง 3 ปีงบประมาณ
4.2 ขั้นตอนการประกาศประกวดราคา มีผู้สนใจซื้อ/ดาวน์โหลดเอกสารจำนวนหลายราย ดังนี้
4.3 การพิจารณาผลการประกวดราคา คณะกรรมการประกวดราคา/คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้เสนอราคา โดยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ตรวจสอบข้อเสนอทางด้านเทคนิคตามเงื่อนไขที่ประกาศประกวดราคา ตรวจสอบผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันของผู้เสนอราคา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผู้เสนอราคาทุกรายยื่นมีคุณสมบัติ ยื่นเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน และไม่เป็นผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
อนึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังได้เชิญบุคคลภายนอกร่วมพิจารณาเอกสารหลักฐานการเสนอราคา ซึ่งเห็นว่าถูกต้อง ครบถ้วน ไม่มีการเชื่อมโยงของผู้เสนอราคาแต่อย่างใด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเรียนว่า การดำเนินการจัดซื้อรถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็วทั้ง 3 ปีงบประมาณ นั้น เป็นไปตามแผนจัดหาเครื่องจักรกลให้หน่วยงานในสังกัด แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณประจำปี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงไม่ได้รับการจัดสรรตามแผนในปีงบประมาณเดียวทั้งหมด แต่ได้รับอนุมัติแบบทยอยจัดสรรแต่ละปีงบประมาณ รวม 3 ปีงบประมาณ ซึ่งในการดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์รายการดังกล่าว ทุกขั้นตอนเป็นไปตามแนวทาง กฎ ระเบียบ ของทางราชการทุกประการ ภายใต้หลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ตามระเบียบ มิได้เอื้อประโยชน์หรือผูกขาดผลิตภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่งยี่ห้อใด แม้ว่าคู่สัญญาจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิม แต่ก็เป็นการผ่านการแข่งขันที่มีการเสนอราคาโดยเปิดเผย และเปิดกว้าง ภายใต้ระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อตอบสนองต่อข้อคิดเห็นของสื่อมวลชน จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายเครื่องจักรกลหรืออุปกรณ์กู้ภัยต่างๆ เข้าร่วมเสนอราคาโครงการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในโอกาสต่อไป นอกเหนือจากการดำเนินการตามระเบียบราชการที่กำหนด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ปฏิบัติตามระเบียบแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการและต่อทางราชการอีกด้วย (ดูหนังสือชี้แจงตัวเต็มประกอบ)
อ่านประกอบ:
รู้หรือไม่ รถกู้ภัยฯ ปภ. 90 คัน 700 ล. สืบราคาจากเอกชนกลุ่มเดียวกัน ?
รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว ปภ. คันละ 7.7 ล. เจ้าเดิมชนะ 3 ปีรวด 90 คัน 700 ล.
2 ปม ปภ.ไม่ตอบ กรณีรถผลิตน้ำดื่ม 255.7 ล. ‘สืบราคากลาง’จาก 2 บ.เชื่อมโยงกัน?
สเปคสูง! ปภ.แจงรถน้ำดื่มคันละ 6.1 ล.แพงกว่าปี 56 เปลี่ยนหลอดไฟ เพิ่มเครื่องสูบ1 ตัว
ชำแหละ 3 ปมรถผลิตน้ำดื่มช่วยภัยพิบัติ 255.7 ล.ไฉน!แพงกว่าปี 56 คันละ 7 แสนบ.
อธิบดี ปภ. ยังไม่ตอบทันที! ปมจัดซื้อรถผลิตน้ำดื่มช่วยผู้ประสบภัย 255.7 ล.
รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยน้ำท่วม 428 ล. สืบราคาครั้งเดียว-บ.ขายเครื่องจักรโผล่
รู้หรือไม่?รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยน้ำท่วมสกลนครคันละ 5.4 ล.-บ.เดียว 428.8 ล.