- Home
- Isranews
- ข่าว
- นักวิชาการชี้ทารก - 6 เดือน ดื่มนมแม่ล้วนๆ แค่ 23% ยันโฆษณานมผงมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจ
นักวิชาการชี้ทารก - 6 เดือน ดื่มนมแม่ล้วนๆ แค่ 23% ยันโฆษณานมผงมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจ
รองอธิบดีกรมอนามัย เร่งออกประกาศกว่า 10 ฉบับรองรับ พ.ร.บ. การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 8 กันยาฯ หวังให้มีการกำหนดรายละเอียดบางอย่างให้ชัดเจน เช่น การบริจาคของผู้ประกอบการนมผงลักษณะใดทำได้หรือไม่ได้ การจะให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคโดยตรงต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ 3 /2560 หยุด!! โฆษณา ฆ่าน้ำนมแม่ ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีสารอาหารกว่า 200 ชนิด และควรให้ดื่มนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นดื่มนมแม่ต่อได้ พร้อมกับอาหารหลักตามวัย ซึ่งที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกก็ได้แนะนำสามารถให้นมแม่ได้ถึง 2 ปี
นพ.ธงชัย กล่าวถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก พ.ศ.2560 หรือกฎหมายนมแม่ มีจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายน 2560 จากนี้ต้องเร่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และออกประกาศรองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ ภายใน 6 เดือน กว่า 10 ฉบับ ซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดบางอย่างให้ชัดเจน เช่น การบริจาคของผู้ประกอบการนมผงลักษณะใดทำได้หรือไม่ได้ การจะให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคโดยตรงต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง เป็นต้น
ด้านพญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตแม่เลี้ยงลูกด้วยนมผง 81.8% จะเลือกยี่ห้อนมผงตามที่ได้รับแจกและคำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข ทำให้โอกาสให้นมแม่น้อยลง การตลาดผมผสมจึงมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจของแม่
"ตัวเลขจากการสำรวจปี 2559 พบว่า มีเด็กไทยได้นมแม่อย่างถูกต้องล้วนๆ ตั้งแต่ยังเป็นทารก - 6 เดือน แค่ 23% ซึ่งมาจากที่แม่ตัดสินใจหยุดการให้นม หรือทำไม่ได้ หนึ่งในนั้นคืออิทธิพลของการโฆษณา" พญ.ศิราภรณ์ กล่าว และว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ต้องชื่นชมกรมอนามัย และเครือข่ายที่ร่วมกันทำงาน จากปี 2549 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ที่ 5% มาปี 2555 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12% และมาปีที่แล้ว 23%
ส่วนผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จได้ต้องส่งเสริม และปกป้อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก พ.ศ.2560 ถือเป็นกฎหมายปกป้องซึ้งจะทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จได้
"กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามผลิตหรือจำหน่าย แต่ห้ามโฆษณาที่ไปยุ่งกับทารก และฉลากต้องแตกต่างอย่างชัดเจนแยกแยะได้โดยง่าย หลังจากนี้ 1 ปีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนฉลากทั้งหมด"
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวถึงการปฎิบัติตามตัวบทกฎหมายนมแม่ว่า ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนฉลากหลัง 9 กันยายนนี้ ซึ่งอาหารสำหรับทารก และเด็กเล็ก ฉลากต้องแยกแยะได้อย่างชัดเจน รวมถึงผู้ผลิต นักโฆษณาก็ต้องระมัดดระวังการโฆษณาการส่งเสริมการตลาดอาหารทารก และเด็กเล็กด้วย โดยเฉพาะ ไม่ใช้ทารกหรือเด็กเล็กอยู่ในโฆษณา ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องไม่รับของแล้ว เพราะต้องให้ข้อมูลที่เป็นกลาง ไม่ใช่พรีเซ็นเตอร์ให้บริษัทนมผง เป็นต้น
"การส่งเสริมการตลาดอาหารทารก ลด แลก แจก แถมจะทำไม่ได้เลย เราแค่ขอพื้นที่ทำการตลาด ยกเว้นทารก 0-3 ปี ไว้สำหรับนมแม่ ทั้งนี้อยากให้ประชาชนคอยควบคุมไม่ให้มีการละเมิดสุขภาพเด็กด้วยต่อจากนี้ หากพบส่งสัญญาณแจ้งข่าวให้สาธารณชนได้รับรู้"
ด้านนายพยัพ แจ้งสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สำนักพัฒนาองค์กร บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) องค์กรที่ส่งเสริมพนักงานให้นมแม่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 กล่าวว่า ไทยซัมมิทมีพนักงานหญิงกว่า 2 พันคน พบว่า มีการตั้งครรภ์เดือนละประมาณ 100 -200 คน เมื่อเห็นพนักงานคลอดลูกและเก็บน้ำนม จึงเสนอผู้บริหาร กระทั่งออกนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จัดตั้งห้องนมแม่ขึ้นมาภายในโรงงาน เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน พร้อมกับให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการเก็บสถิติพนักงานตั้งครรภ์และติดตามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จนกระทั่งแม่กลับมาทำงาน