- Home
- Isranews
- ข่าว
- ไม่ใช่สนธิสัญญา! คกก.วินิจฉัยฯ สขร.สั่งเปิด MOU รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น หลังถูกปิดข้อมูล
ไม่ใช่สนธิสัญญา! คกก.วินิจฉัยฯ สขร.สั่งเปิด MOU รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น หลังถูกปิดข้อมูล
ต้องโปร่งใส! คกก.วินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารฯ สขร. สั่งเปิด MOU 2 ฉบับ รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น ให้ผู้ร้อง หลัง ก.คมนาคม ปฏิเสธคำขอ อ้างกระทบสัมพันธ์ระหว่าง ปท. ไม่เป็นผลดีต่อไทย ระบุชัดไม่ใช่สนธิสัญญา ไม่เสียหายต่อความมั่นคง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2560 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ได้มีมติให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้แก่นายอรุณ อังศุยานนท์ ผู้ขอ ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (สขร.)
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2559 นายอรุณ อังศุยานนท์ ได้ยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ขอคัดสำเนาเอกสาร 2 รายการ
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (MOU) ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565
2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น (MOU) ภายใต้การพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย
สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมมีหนังสือถึงผู้ขอ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2560 ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลทั้งสองรายการ โดยให้เหตุผลว่า
รายการแรก เนื่องจากข้อมูลยังไม่ได้ข้อยุติและเอกสารที่ขอเป็นเอกสารลงนามระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ขณะนี้ประเทศไทยโดยกระทรวงคมนาคม ยังมีประเทศคู่เจรจาอื่นอีก เช่น ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนกับประเทศไทย เช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ดังนั้นหากมีการเผยแพร่ข้อมูลไปยังคู่สัญญาของประเทศไทยในอนาคตอาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลไทย
รายการที่สอง กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า แม้ประเทศไทยและญี่ปุ่นจะได้ข้อยุติในการเจรจาแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจ ซึ่งการเปิดเผยบันทึกความเข้าใจฯ อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่เจรจาอื่นๆได้ หากมีการนำข้อตกลงมาเปรียบเทียบ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย ขณะนี้มีความร่วมมือด้านระบบรางกับประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงเห็นว่าไม่ควรเปิดเผยข้อมูลทั้ง 2 กรณี
นายอรุณได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ต่อ สขร.เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2560 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศฯได้วินิจฉัย สรุปว่า
รายการแรก
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (MOU) เป็นกรอบความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในเส้นทางที่กำหนด เพื่อให้เริ่มก่อสร้างในปี 2559 และให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อกำกับกดูแลการดำเนินการตามบันทึกดังกล่าว
2. ไม่ใช่สนธิสัญญาเนื่องจากมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ
3. ข้อเท็จจริงปรากฎว่าสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงคมนาคมอยู่แล้ว
4.กระทรวงคมนาคมไม่สามารถชี้แจงให้เห็นได้ว่าการเปิดเผยข้อมูลอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว หรืออาจทำให้ประเทศไทยเสียหรือลดอำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นๆหรืออาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างไรแล้ว ฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลจึงไม่อาจถือได้ว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
จึงเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 ตามอุทธรณ์สามารถเปิดเผยข้อมูลให้ผู้อุทธรณ์ทราบตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540
รายการที่สอง
1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น สาระสำคัญเกี่ยวกับเป็นกรอบความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาขนส่งระบบรางของประเทศไทย ไม่ใช่สนธิสัญญาเนื่องจากมิได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ
2.กระทรวงคมนาคมไม่สามารถชี้แจงให้เห็นได้ว่าการเปิดเผยข้อมูลอาจมีผลกระทบต่อการประเมิน ความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนการดำเนินการตามบันทึกแสดงเจตจำนงฯหรืออาจทำให้ประเทศไทยเสียหรือลดอำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นๆ หรืออาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างไรแล้ว ฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลจึงไม่อาจถือได้ว่า จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
จึงเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารรายการที่ 2 ตามอุทธรณ์สามารถเปิดเผยข้อมูลให้ผู้อุทธรณ์ทราบตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540
คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศฯระบุว่า โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายฯ ในการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่ไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ต้องเปิดเผย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐ ให้ประชาชนได้รับทราบตามสิทธิ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่ง แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ จึงวินิจฉัยให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายการที่ 1 และ รายการที่ 2 พร้อมทั้งสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์
สำนักข่าวอิศรารายงาน คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ประกอบด้วย นายถวิล เปลี่ยนศรี ประธานกรรมการ นายรัชนันท์ ธนานันท์ กรรมการ นายวรเดช วีระเวคิน กรรมการ ผศ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา กรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนอุทธรณ์