ตุลาการศาล ปค.แย้ง ป.ป.ช.ยัน‘ศิโรตม์’ ทำถูกไม่เก็บภาษีหุ้นชินฯ‘บรรณพจน์’
ตุลาการผู้แถลงคดี เสนอแนะองค์คณะฯ เห็นแย้ง ป.ป.ช. ยัน ศาล ปค.พิพากษาโดยชอบแล้ว สั่งเพิกถอนคำสั่งปลด ‘ศิโรตม์’ จากราชการ-คืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมด เหตุทำโดยชอบ ปมถูกชี้มูลผิดละเว้นการเก็บภาษีหุ้นชินฯ ‘บรรณพจน์-พจมาน’ ชี้เป็นการให้โดยเสน่หา เนื่องจากแต่งงาน-มีลูกชาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 ศาลปกครองกลาง พิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ที่นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ฟ้องปลัดกระทรวงการคลัง ลงโทษปลดออกจากราชการ สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายศิโรตม์ กับพวก กรณีไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้จากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร) ที่รับโอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน
กรณีนี้ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษาแล้วว่า ให้เพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการ และคืนสิทธิประโยชน์ให้นายศิโรตม์ อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ร้องขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ เบื้องต้นศาลปกครองกลางไม่รับคำร้อง แต่ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ได้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้รับคำร้องดังกล่าวมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
การพิจารณาคดีในวันนี้ นายศิโรตม์ ในฐานะผู้ฟ้องคดี และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้ร้อง ทำคำแถลงในคดีเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้องค์คณะตุลาการฯพิจารณา ส่วนปลัดกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถูกฟ้อง ไม่มาศาล
ตุลาการฯผู้แถลงคดี ชี้แจงว่า คดีนี้แม้ ป.ป.ช. แย้งว่า ไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลปกครองจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ เพราะมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดนายศิโรตม์ กับพวกนั้น เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่า ข้อโต้แย้งของ ป.ป.ช. ไม่อาจรับฟังได้
ส่วนคำสั่งปลัดกระทรวงการคลังที่ลงโทษปลดนายศิโรตม์ออกจากราชการนั้น เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นผลมาจากมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด โดยการดำเนินการเรื่องนี้ได้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งความเห็นของสำนักตรวจสอบภาษี และสำนักกฎหมายกรมสรรพากร รวมทั้งเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจงก่อนพิจารณา ซึ่งความเห็นของหน่วยงานทั้งหมดเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การโอนหุ้นดังกล่าวถือเป็นการให้โดยเสน่หา และคุณหญิงพจมานอยู่ในวิสัยจะให้ได้ เพราะเป็นการให้ในโอกาสที่นายบรรณพจน์แต่งงานมีครอบครัว พร้อมได้ลูกชาย จึงเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกระทรวงการคลังเองไม่มีระเบียบปฏิบัติในเรื่องการโอนหุ้นที่เข้าตามข้อยกเว้นดังกล่าว
ดังนั้นจึงถือว่า นายศิโรตม์ พิจารณาตามสมควรแล้วก่อนจะสั่งการ และไม่ปรากฏหลักฐานว่า นายศิโรตม์ได้ประโยชน์จากการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติว่า นายศิโรตม์ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่เห็นว่า การใช้ดุลยพินิจของนายศิโรตม์นั้น ไม่ใช่การใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ตุลาการฯผู้แถลงคดีฯ จึงมีความเห็นว่า ควรพิจารณายกเลิกคำสั่งปลัดกระทรวงการคลังที่สั่งลงโทษปลดนายศิโรตม์ออกจากราชการ แต่เนื่องจากนายศิโรตม์เกษียณอายุราชการแล้ว จึงไม่สามารถพิจารณาให้กลับไปรับราชการได้อีก แต่เห็นว่า ควรคืนสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ให้กับนายศิโรตม์ โดยให้มีผลย้อนกลับไปตั้งแต่มีคำสั่งดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ความเห็นและข้อเสนอแนะของตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ผูกพันกับการพิจารณาคดีขององค์คณะตุลาการฯ และตุลาการผู้แถลงคดีไม่ได้เป็นหนึ่งในองค์คณะตุลาการฯแต่อย่างใด
อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ร้อง-ศาล ปค.รื้อคดี‘ศิโรตม์’ ปมถอนคำสั่งปลดราชการ-หลังถูกฟันละเว้นภาษีหุ้นชินฯ