ขสมก. เผยเลื่อนยื่นซองรถเมล์ NGV รอสรุปประเด็นราคากลาง 16 มิ.ย.นี้
รักษาการผอ. ขสมก. เหตุเลื่อนยื่นซองรถเมล์ NGV เพราะรอข้อสรุปประเด็นราคากลาง ย้ำต้องอิงจากการซื้อขายที่สำเร็จ
สืบเนื่องจากกรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกหนังสือชี้แจงเรื่องเลื่อนการยื่นเอกสารประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารจำนวน 489 คัน ซึ่งแต่เดิมได้กำหนดยื่นเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีทางอีเล็คโทรนิกส์ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 กำหนดแจ้งผลการพิจารณาคัดเลือกภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 และกำหนดการเสนอราคาในวันที่ 26 มิถุนายน 2560
เป็นกำหนดวันยื่นเอกสารใหม่วันที่ 22 มิถุนายน 2560 การแจ้งผลการพิจารณาเป็นวันที่ 28 มิถุนายน 2560 และการกำหนดเสนอราคาเป็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 แทนนั้น
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org) ถึงประเด็นการเลื่อนวันยื่นเอกสารประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ NGV ออกไป เพราะต้องรอที่ประชุมอนุกรรมการด้านกฎหมายในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ก่อน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการใช้ราคากลาง ซึ่งในตามหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. ที่ต้องใช้ราคาการซื้อขายครั้งล่าสุดเป็นเกณฑ์ราคากลาง แต่สำหรับรถเมล์ NGV ที่มีปัญหานั้น เบื้องต้นเราพบว่า ไม่สามารถใช้ราคาเดิมได้ เพราะไม่ใช่การซื้อขายที่สำเร็จ
"ขณะนี้ราคาจริงของรถไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่ เพราะยังไม่ได้รวมภาษีอีก 40% และค่าปรับอีกเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นในเมื่อยังไม่สามารถหาข้อสรุปในตรงนี้ได้ จึงมีความจำเป็นต้องรอมติที่ประชุมอนุกรรมการด้านกฎหมายก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เอกชนที่มายื่นต้องได้รับผลกระทบหากมีการปรับเปลี่ยนใดๆ" นายสมศักดิ์ กล่าว และว่า ได้เคยปรึกษาท่านปลัดกระทรวงฯ ก็เห็นว่า จำเป็นต้องใช้ราคาซื้อขายที่สำเร็จ กรณีหากว่าที่ประชุมตกลงใช้ราคาเดิมของเบสท์ริน "ผมก็จะลาออกจากรักษาการด้วย เพราะคิดไม่เหมือนกัน และต้องมีคนรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ผม"
ขณะที่นายสันติ ปิยะทัต ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โดยหลักกฎหมายแล้วการกำหนดราคากลางดังกล่าว ขสมก. จะต้องยึดถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (ป.ป.ช.) มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 ประกอบกับคู่มือแนวทางการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างราคากลางและการคำนวณราคากลางที่ ป.ป.ช. จัดทำให้กับหน่วยงานของรัฐ ราคากลางหมายถึงราคามาตรฐานหรือราคาที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ราคาที่ได้มาจากการอ้างอิงสืบราคาจากท้องตลาด ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปีงบประมาณ แต่จะยึดถือราคาใดให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ แต่การเปิดประมูลใหม่ของ ขสมก. ในครั้งนี้ก็ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าการกำหนดราคากลางต้องยึดถือตามราคาที่เคยซื้อและจ้าง บริษัท เบสท์รินฯ เพราะเป็นประโยชน์กับรัฐหรือสาธารณะชนมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวข่าวรายงานเพิ่มเติ่มว่า ราคากลางซื้อรถ 489 คัน ณ 28 เมษายน 2560 เป็นเงินประมาณ 1,735 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ขสมก. ได้นำร่างขอบเขตของงานและร่างเอกสารประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสาร จำนวน 489 คัน ประกาศในเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางและเว็บไซต์ของ ขสมก. ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ปรากฎว่า มีสาธารณะชนเสนอแนะและวิจารณ์ จำนวน 4 ราย
มีรายงานว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาร่วมกันแล้ว ได้ชี้แจงข้อเสนอแนะและวิจารณ์ของสาธารณะชน ดังนี้
1.บริษัท ช.ทวี จำกัด(มหาชน) มีข้อเสนอแนะให้องค์การใช้ราคา 1,784,850,000 บาท (3,650,000 บาทต่อคัน) เป็นราคากลางในการประมูลครั้งนี้
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอเรียนชี้แจงว่า ราคา 1,784,850,000 บาท เป็นราคาในการประกวดราคาครั้งแรก ซึ่งได้มีการแข่งขันราคาจนถึงที่สุดได้ราคา 1,735,550,000 บาท ซึ่งได้มีการประมูลแล้ว ในการประกวดราคาครั้งล่าสุด องค์การกำหนดราคากลางตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ป.ป.ช.กำหนด โดยใช้ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดที่ได้ทำการประมูลเสร็จสิ้นมาแล้ว เป็นราคากลางที่ราคา 1,735,550,000 บาท คิดเป็น 3,549,182 บาทต่อคัน โดยเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม
2.นางกฤษฎาวรรณ พรหมชนะ(บริษัท Scomi Malaysia) มีข้อเสนอแนะให้องค์การเปิด L/C ให้ผู้ผลิตโดยตรง (บริษัท Scomi สามารถหาบริษัทที่ทำ Logistic Support ในประเทศไทยและเงื่อนไขอื่นๆ ตาม TOR ได้ทุกประการ) และทางกระทรวงสามารถเปิด L/C สั่งซื้อโดยตรงโดยตรงกับทางโรงงานในประเทศมาเลเซียได้หรือไม่
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอเรียนชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของ TOR ต้องการลงนามสัญญากับนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือหากเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า Joint Venture หรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน Consortium จะต้องกำหนดบริษัทหลัก Lead Firm ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และ TOR เปิดกว้างให้กว้างให้เป็นรถนำเข้าสำเร็วรูปทั้งคันจากต่างประเทศ หรือรถที่ประกอบในประเทศไทยก็ได้
3.บริษัท เค.แอนด์. คิว.แอสโซซิเอทส์ จำกัด มีข้อเสนอแนะร่าง TOR-1 สรุปได้ว่า ขอให้ขยายเวลาการส่งมอบรถโดยสาร จำนวน 489 คัน เป็นภายใน 12 เดือน เพื่อให้รถโดยสาร [Bus] จากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันได้
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอเรียนชี้แจงว่า โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV จำนวน 489 คัน เป็นโครงการเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้องค์การเร่งดำเนินการเพื่อให้มีรถโดยสารใหม่เพื่อบริการประชาชนโดยเร็ว อีกทั้งรถโดยสารขององค์การที่มีในปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีรถโดยสารใหม่มาวิ่งให้บริการประชาชน
4.นายอรุณ ลีธนาโชค มีข้อเสนอแนะว่า ควรกำหนดข้อความนี้ “ผู้ชนะการเสนอราคาจะต้องอำนวยความสะดวกและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ตัวแทนกรรมการตรวจรับ 5 ท่าน ไปตรวจสอบการประกอบ ณ สถานที่และการประกอบจริง 2 ครั้ง” โดยที่ ขสมก.ไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย เป็นการตรวจรับเบื้องต้นว่ากรรมวิธีการผลิตมีคุณภาพหรือไม่ วัสดุที่ใช้ในการประกอบตรงตามร่าง TOR หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของวัสดุไม่ลามไฟ แทนข้อความ “ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องแจงชื่อโรงงานที่ใช่ในการประกอบรถโดยสารพร้อมแนบสำเนาหนังสือใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001 พร้อมทั้งแจ้งแผนการประกอบรถโดยสารโดยละเอียด”
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอเรียนชี้แจงว่าในการกำหนดให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องแจ้งชื่อโรงงานที่ใช้ในการประกอบโดยสารพร้อมแนบสำเนาหนังสือใบรับรองมาตรฐาน ISO 9001 นั้น เพื่อให้มั่นใจว่าโรงงานที่ประกอบรถโดยสารมีมาตรฐานการผลิต ซึ่งระบบคุณภาพจะเป็นการรับรองการผลิตว่าคุณภาพของรถทุกคันเท่ากัน สำหรับการตรวจสอบโรงงานประกอบรถ หากกำหนดข้อความดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้เสนอราคา
ภาพประกอบจากhttps://www.thairath.co.th