พบ กกต.โอนงบให้กงสุล-มท.ช่วงยังไม่มีเลือกตั้ง-ประชามติ ส่อขัดกม.เลขาฯยันถูกต้อง
พบ กกต. สนับสนุนงบโครงการนวัตกรรมจัดการเลือกตั้ง-ประชามติปี’60 ให้ กรมการกงสุล-กรมการปกครอง-สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ วงเงินกว่า 17 ล้าน ส่อขัดกฎหมาย พ.ร.บ.งบฯ ระบุชัด ทำไม่ได้ ด้านรักษาการเลขาฯโต้ ดำเนินการถูกต้องทุกอย่าง ใช้เงินคุ้มค่า ขอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มก่อน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติในการประชุมครั้งที่ 54/2559 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2559 อนุมัติในหลักการให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และกรมการขนส่ง ดำเนินโครงการนวัตกรรมการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ กิจกรรมการทำระบบ การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. นอกราชอาณาจักรทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (I-Vote) โดยให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ฯ ดำเนินการในวงเงินจำนวน 6,995,000 บาท และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการภายในวงเงิน 9,100,520 บาท และงบประมาณจำนวน 9.6 แสนบาท ให้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (รวมวงเงินทั้งสิ้น 17,055,520 บาท) ทั้งนี้ให้สำนักงาน กกต. พิจารณาดำเนินการตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของ กกต.
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกต. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า การอนุมัติเงินดังกล่าวอาจจะขัดหรือไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของ กกต. เนื่องจากงบประมาณปี 2560 สำนักงาน กกต. ได้รับการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ไม่มีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง หรือการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. และไม่มีการออกเสียงประชามติ และการที่สำนักงาน กกต. อนุมัติเงินให้กับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอกนิกส์ฯ กรมการกงสุล และกรมการปกครอง จึงไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติไว้ในข้อ 18 สรุปได้ว่า รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด จะโอน หรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ระเบียบนี้ใช้สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณค่าใช้จ่ายเฉพาะในระหว่างมีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. และการจัดออกเสียงประชามติเท่านั้น ตามที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 และ 2 ก.พ. 2557 ที่เลือกตั้ง ส.ส. และเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2557 ที่เลือกตั้ง ส.ว. ดังนั้น การที่สำนักงาน กกต. นำระเบียบนี้มาใช้บังคับกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประจำ จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้อง เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประจำ มีระเบียบรองรับในการเบิกจ่ายงบประมาณ หรือการจัดหาพัสดุอยู่แล้ว ซึ่งสำนักงาน กกต. สามารถใช้วิธีกรณีพิเศษ หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานราชการดำเนินให้ได้ ซึ่งเคยทำมาก่อนแล้วในกรณีงบประมาณปกติ จึงเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฏหมาย และระเบียบ กกต.
“การโอนเงินของสำนักงาน กกต. สนับสนุนหน่วยงานอื่นไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ แม้จะอ้างว่าเป็นหน่วยงานสนับสนุนก็ตาม กรณีที่สามารถโอนเงินได้ ต่อเมื่อมี พ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้งฯ ออกมาก่อน กกต. จึงสามารถโอนเงินให้หน่วยงานอื่นของรัฐ นำไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เนื่องจากต้องใช้กำลังจากหน่วยงานนั้น ๆ” แหล่งข่าว กล่าว
ด้านนายจรุงวิทย์ พุมมา รองเลขาธิการ กกต. รักษาการแทนเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ปกติงบประมาณของ กกต. เวลาจะดำเนินโครงการ สามารถโอนงบประมาณให้กับหน่วยงานสนับสนุนได้ ส่วนกรณีนี้กรมการกงสุล เป็นหน่วยงานสนับสนุนของ กกต. ที่ดำเนินการจัดการให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในต่างประเทศอยู่แล้ว ยืนยันว่า เงินที่ออกจาก กกต. ทุกบาททุกสตางค์ ถูกต้องตามระเบียบ กกต. ทั้งหมด ทำตามนโยบายของ กกต. ทุกอย่างถูกต้อง
เมื่อถามว่า ปกติการโอนเงินให้หน่วยงานอื่นของรัฐ กกต. สามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่อยู่ในช่วงกำหนดที่จัดการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้งฯ นายจรุงวิทย์ กล่าวว่า สำนักงาน กกต. มีการโอนเงินให้หน่วยงานสนับสนุนหลายครั้ง
เมื่อถามว่า แต่ในระเบียบของสำนักงบประมาณ ระบุว่า รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด จะโอน หรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้ นายจรุงวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่แม่นข้อกฎหมาย ต้องให้สำนักนโยบายและแผนของ กกต. ให้ข้อมูลอีกครั้ง ต้องรอสอบถามข้อมูลส่วนนี้ก่อน