ททท.แจงปมซื้อตู้ประชารัฐ 8 แสนยันคุ้มค่า ประหยัดงบ 14%-ใช้งานได้ทุกแห่ง
ททท. แจง 'กอบกาญจน์' ปมจัดซื้อ ‘ตู้ประชารัฐ รวมใจ’ 148 แห่ง วงเงิน 122 ล้าน ยันถูกกว่าปกติ 14.89% ประหยัดงบ คุ้มค่า ต้องเร่งดำเนินการหวันเบิกไม่ทันงบปี’58 เปิดใช้งานหมดแล้วเกือบทุกแห่ง เหลือ 5 พื้นที่ใน กทม. เปิดไม่ได้ เหตุไม่อยู่ในอำนาจ พช. ไม่มีการเซ็น MOU เผยรายได้ ธ.ค. ปี’59 ยอด 18 ล้าน
จากกรณีมีผู้ร้องเรียนสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ตรวจสอบกรณีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดซื้อตู้ ‘ร้านค้าประชารัฐ สุขใจ’ ด้วยวิธีพิเศษ ว่าจ้างเอกชน 5 แห่ง เข้ามาดำเนินการทั่วประเทศใน 5 ภูมิภาค รวม 148 ตู้ วงเงินประมาณ 122 ล้านบาท ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตถึงราคาของตู้ที่สูงถึง 8.2 แสนบาท และเอกชนบางรายที่ได้รับการว่าจ้างอาจแจ้งประกอบธุรกิจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การดำเนินงาน
ส่วนนางกอบกาญจน์ รัตนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก ขณะที่นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า จะใช้ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราเพื่อนำไปไต่สวนอย่างเป็นทางการต่อไปนั้น
(อ่านประกอบ : ข้อมูลอิศราเป็นผล! ศอตช.รับสอบงานสร้างช็อปโอท็อปประชารัฐ ททท. แห่งละ 8 แสน, รมว.ท่องเที่ยวฯยันจัดซื้อตู้ประชารัฐ 8 แสนสอบเชิงลึกอยู่-วิสาหกิจชุมชนดำเนินการ)
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2560 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำหนังสือชี้แจง นางกอบกาญจน์ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว สรุปได้ว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลในช่วงปลายปี 2559 โดยบริหารจัดการอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยว และจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นทั่วประเทศในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ระหว่าง ททท. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาการชุมชน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมสินค้า OTOP และการท่องเที่ยวในท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้ โดย ททท. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปลูกสร้าง และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ศูนย์บริการข้อมูล และเป็นผู้ดำเนินการด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์
เบื้องต้นโครงการนี้เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2558 ททท. เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 147,112,000 บาท เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง จำนวน 148 รายการ โดยอนุมัติให้ก่อสร้างรายการละ 994,000 บาท แต่ระยะแรกยังไม่ได้จัดจ้างผู้รับจ้าง กระทั่งได้ข้อยุติในเดือน พ.ย. 2558
เนื่องจากการก่อสร้างโครงการนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีระยะเวลาจำกัด เพราะต้องดำเนินการจัดจ้างและเบิกจ่ายให้ทันภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ททท. เห็นว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลท้องถิ่นและมีประสบการณ์ในการก่อสร้าง ดังนั้นเพื่อให้การจ้างก่อสร้างในแต่ละแห่งดำเนินการได้รวดเร็ว ททท. มีหนังสือลงวันที่ 11 พ.ย. 2558 ขอให้กระทรวงมหาดไทยรับดำเนินการก่อสร้างพื้นที่และรับงบประมาณเบิกจ่ายแทนกัน แต่กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 แจ้งยืนยันเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณแทน ททท. เพื่อดำเนินโครงการจำนวน 143 รายการ รวม 73 จังหวัด วงเงิน 142,142,000 บาท ในเมื่อกระทรวงมหาดไทยไม่รับดำเนินการก่อสร้างให้ ททท. แต่จะรับเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณเท่านั้น จึงไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ ททท. จึงได้ดำเนินการจัดการก่อสร้างเอง โดยเจ้าหน้าที่พัสดุได้ขออนุมัติดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2558 และ ททท. ดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวตามข้อบังคับ ททท. โดยวิธีพิเศษ เป็นการจัดจ้างจำนวน 5 ภูมิภาค จำนวน 5 สัญญา และได้ทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2558
ส่วนการกำหนดราคากลางขึ้นนั้น ได้กำหนดราคากลางของอาคารขนาดกว้าง 4 เมตร ลึก 3.5 เมตร แต่เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างตั้งอยู่ทุกจังหวัดในไทย และ ททท. พิจารณาการจ้างครั้งนี้แบ่งเป็น 5 สัญญา ตามเขตพื้นที่การดำเนินงานของ ททท. ที่แบ่งเขตไว้ 5 ภูมิภาค ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างตามประกาศของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละจังหวัดมีราคาไม่เท่ากัน ทำให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางต้องพิจารณาราคาวัสดุก่อสร้างตามประกาศสำนักงานพาณิชย์จังหวัด มาประกอบในการคำนวณและกำหนดราคากลาง เมื่อนำมาเทียบแล้วพบว่า ราคากลางจากภาคกลางมีราคาต่ำสุด จึงมีมติใช้ราคากลางของภาคกลาง เพื่อประโยชน์แก่ ททท. โดยกำหนดราคาเป็นเงินจำนวน 845,937 บาท โดยแยกเป็นค่าโครงสร้างและค่าครุภัณฑ์ซึ่งเป็นราคาที่น้อยกว่าที่สำนักงบประมาณอนุมัติให้ก่อสร้างรายการละ 994,000 บาท ซึ่งประหยัดงบได้ถึงร้อยละ 14.89 ของวงเงินเดิมที่ตั้งไว้
ส่วนร้านค้าประชารัฐสุขใจในพื้นที่ กทม. 5 แห่ง ที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแต่ยังไม่เปิดใช้นั้น ตาม MOU เป็นหน้าที่ของ สสว. และกรมพัฒนาชุมชน มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันบริหารจัดการร้านค้า โดย สสว. ได้รับอนุมัติงบประมาณวงเงิน 100 ล้านบาท ให้การสนับสนุนเงินในการดำเนินการแก่กรมพัฒนาชุมชน เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดจำหน่ายสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นใน กทม. 5 แห่ง ได้แก่ สถานี ปตท. ตลิ่งชัน มีนบุรี จตุจักร พญาไท และบางขุนเทียน ที่ยังไม่สามารถเปิดจำหน่ายได้ เนื่องจากพื้นที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาชุมชน
จึงประสานขอความร่วมมือไปยังสำนักพัฒนาชุมชน กทม. เพื่อแก้ไขปัญหา ได้ข้อสรุปว่า กทม. ยินดีประสานนำสินค้าจากผู้ประกอบการ OTOP และ Bangkok Brand มาจำหน่ายในร้านค้าประชารัฐสุขใจทั้ง 5 แห่ง แต่จะไม่ลงนาม MOU กับ สสว. โดยให้ สสว. ไปบริหารจัดการเอง สสว. จึงไม่สามารถให้ กทม. ดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มี MOU ระหว่างกัน ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณมาเป็นค่าใช้จ่ายร้านค้าที่ กทม. ได้ อย่างไรก็ดี สสว. พยายามเจรจากับหน่วยงานอื่น เพื่อสรรหาผู้ที่ยินดีมารับดำเนินกิจการ รวมถึงประสานกับ ปตท. ด้วย และได้รับการยืนยันที่ตั้งใหม่จำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.สระบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกแห่งอยู่ระหว่างพิจารณาเลือกสถานที่ตั้งใหม่
สำหรับรายงานผลการดำเนินงานประชารัฐสุขใจ ปี 2559 จำนวน 143 แห่ง เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 มียอดรวมจำหน่าย 18,727,727 บาท ยอดจำหน่ายเฉลี่ย 40,648 บาท/เดือน/ร้านค้า มีผู้เข้าเยี่ยมชนและซื้อสินค้าจำนวน 235,094 คน
สำหรับรายละเอียดวัสดุก่อสร้างและครุภัณฑ์ รวมวงเงินกว่า 8.2 แสนบาท ระบุว่า โครงสร้างเป็นโครงสร้างเหล็กเบา กรุพื้น และผังด้วยสัสดุแผ่นสำหรับภายนอก โดยเป็นอลูมิเนียมคอมโพสิทขึ้นรูป ซึ่งปกติเป็นวัสดุสำหรับกรุผนังภายนอกของอาคารสูง โดยสีของผนังเป็นสีที่อยู่ในเนื้อวัสดุ เนื่องจากต้องการความคงทนถาวรของอาคารและสภาพอากาศ โดยรวมแล้วมีน้ำหนักเบา และสามารถขนย้ายไปติดตั้งได้ และการตกแต่งภายใน มีการติดตั้งชั้นแสดงสินค้า ตกแต่งด้ยภาพแหล่งท่องเที่ยว โดยมีความคงทนและติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมตรงวัตถุประสงค์การใช้งาน
การติดตั้งระบบไฟฟ้า เนื่องจากพื้นที่ติดสถานบริการน้ำมัน จึงมีระเบียบปฏิบัติโดยการติดตั้งสายดิน ใช้สายไฟฝังดิน ส่วนการก่อสร้างในสถานีบริการน้ำมัน มีข้อจำกัดเรื่องการจราจรของรถในการบริการ และการเกิดประกายไฟ จึงต้องระมัดระวังรอบคอบอย่างสูง ตลอดจนต้องมีการจ้างเจ้าหน้าที่และเรื่องความปลอดภัยของการก่อสร้างทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากประกายไฟด้วย (ดูเอกสารฉบับเต็มประกอบ)
อ่านประกอบ :
ได้สถานะธุรกิจนำเที่ยวก่อนคว้างานเดือนเศษ!เปิดตัวบ.สร้างช็อปโอท็อปประชารัฐใต้22.4ล.
จัดซื้อ 'ตู้ประชารัฐฯ' 148 แห่ง ททท.วิธีพิเศษ 122 ล.- ผู้ว่าฯยันไม่มีทุจริต
เผยโฉม‘ตู้ประชารัฐฯ’โอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน ปล่อยทิ้งร้าง-เท่าห้องบ้านเอื้อฯ
ประตู 6.3 หมื่น-ผนัง1.3 แสน!เปิดราคากลาง'ตู้ประชารัฐฯ' ททท.แห่งละ 8 แสน
ทำธุรกิจสีข้าว-ขายยา!เปิด 5 บ.รับเหมาตู้ประชารัฐฯโอท็อป ททท.แห่งละ 8 แสน