ป.ป.ช.โชว์คำสั่งไต่สวน ‘สุรพล’ อดีตผู้ว่าฯอุบลฯ 22 ขรก. คดีจัดซื้อสารเคมี
ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลตั้ง กก.ไต่สวน ‘สุรพล’ อดีตผู้ว่าฯ อุบลฯ โดนกราวรูด 22 ขรก. นายอำเภอ ปภ. เกษตรจังหวัด 4 เอกชน คดีงบฯ ภัยพิบัติจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบเป็นรายที่ 2 ต่อจาก ‘สมพงษ์’ อดีตพ่อเมืองบึงกาฬ ก่อนหน้าถูก ปปง. คุ้ยเส้นทางเงิน
นายสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งถูกคณะกรรมการธุรกรรมของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินบุคคลและนิติบุคคลไปแล้ว 2 ครั้ง 16 ราย รวม 320 รายการ (มูลค่าทรัพย์สินเฉพาะ 234 รายการ 452 ล้านบาท) เนื่องจากเกี่ยวข้องคดีทุจริตจัดซื้อสารเคมีช่วยเหลือเกษตรกรในการกำจัดศัตรูพืชที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (การเกิดโรคระบาดของแมลงศัตรูพืช) จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ล่าสุด นายสุรพลถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ไต่สวนในคดีดังกล่าวด้วย (อ่านประกอบ : ปปง.แพร่คำสั่งอายัดทรัพย์อดีตผู้ว่าฯอุบล-พวก 384 ล. คดีฮั้วจัดซื้อยาฆ่าแมลง ,อายัดทรัพย์เพิ่ม 91 รายการกว่า 68 ล.กลุ่มอดีตผู้ว่าฯคดีฟอกเงินงบภัยพิบัติ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เผยแพร่คำสั่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง นายสุรพล สายพันธ์ กับพวก 3 คำสั่ง
คำสั่งแรก 1.นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ข้าราชการอีก 8 คน ได้แก่ ปลัดอำเภอ 1 คน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 3 คน (อาทิ นางนฤมล มะลิวัลย์) เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี 2 คน คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.อ.) อ.โขงเจียม และ คณะกรรมการเจรจาต่อรองและตกลงราคา 1 คน เอกชน 4 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชติชนิด, บริษัท เคมเทรด จำกัด, บริษัท ไฮเทคกรุ๊ฟเคมีคอลซัพพลาย จำกัด และ บริษัท เนเซอร์อะโกรเคมีคอล จำกัด
ข้อกล่าวหาการใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ของ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ 2554 จำนวน 7 ครั้ง วงเงินรวม 16,600,000 บาท โดย
1.มีประกาศให้พื้นที่ อ.โขงเจียม เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน ทั้งที่ไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง และได้จัดสรรวงเงินทดรองราชการ โดยไม่สอดคล้องกับความจำเป็น รวมทั้งกำหนดผู้ขายสารเคมี และราคาของสารเคมีไว้ล่วงหน้า
2.จัดทำบันทึกการประชุม ก.ช.ภ.อ. ของ อ.เขมราฐ ทั้งที่ไม่มีการประชุมจริง
3.การจัดหาและต่อรองราคา โดยไม่มีการสืบราคาตลาด และไม่มีการต่อรองราคากับผู้เสนอราคา อีกทั้งไม่ตรวจสอบ คุณสมบัติของผู้จำหน่ายสารเคมี จนทำให้ทางราชการจัดซื้อสารเคมีในราคาสูงกว่าราคาตลาด จำนวน 13,714,085 บาท
4.ผู้เสนอราคามีพฤติการณ์สมยอมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเอื้อ ประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ
(ดูคำสั่ง https://www.nacc.go.th/nacc_accuse_detail2.php?aid=74401)
คำสั่งที่สอง นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และข้าราชการอีก 10 คน ได้แก่ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร, เกษตรอำเภอพิบูลมังสาหาร กรมส่งเสริมการเกษตร, นายอำเภอสิรินธร, เกษตรอำเภอสิรินธร, เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี 4 คน, หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2 คน
ข้อกล่าวหา การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย อ.สิรินธร และ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2554-2555 ซึ่งมีการจัดซื้อรวม 20 สัญญา รวมเป็นเงิน 87,665,630 บาท
(ดูคำสั่ง https://www.nacc.go.th/nacc_accuse_detail2.php?aid=74427)
คำสั่งที่สาม กล่าวหา นายสุรพล สายพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ กับพวกอีก 4 คน ได้แก่ นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี, เกษตรอำเภอเมืองอุบลราชธานี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร, เสมียนตราอำเภอเมืองอุบลราชธานี กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และปลัดอำเภอเมืองอุบลราชธานี กรมการปกครอง
ข้อกล่าวหา กรณีการจัดซื้อสารเคมีภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีโรคระบาดด้านพืช และศัตรูพืชของ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 7 สัญญา โดย
1.มีการประกาศให้พื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน ทั้งที่ไม่มีภัยพิบัติร้ายแรงเกิดขึ้นจริง หรือเป็นภัยที่เกิดตามธรรมชาติไม่ร้ายแรง 2.การจัดซื้อตัวยาหรือสารเคมีของ อ.เมืองอุบลราชธานี ดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และมีการจัดทำบันทึกการประชุมคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. อันเป็นเท็จ เพื่อให้มีการจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในชนิดและราคาที่จังหวัดกำหนดมา 3.สารเคมีผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชที่นำมาเสนอขาย เป็นวัตถุอันตราย และมีราคาสูงกว่าท้องตลาดหลายเท่า 4.ไม่มีการรายงานผลการจัดซื้อพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ จ.อุบลราชธานี ตรวจสอบความถูกต้อง และขอจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายทดแทนตามที่ กฎหมายกำหนด
สำนักข่าวอิศรายงานว่า นายสุรพล เป็นผู้ว่าฯ คนที่สอง ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ ต่อจาก นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ จ.บึงกาฬ ที่ถูกตั้งคณะกรรมการไต่สวน กรณีประกาศ จ.บึงกาฬ เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (โรคระบาดในนาข้าว) ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ลงวันที่ 30 มิ.ย. 2554 และวันที่ 8 ก.ค. 2554 โดยประกาศแยกเป็นรายอำเภอ ทั้งที่มิได้เกิดโรคระบาด หรือเกิดความเสียหายรุนแรง จนเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ หรือมีภัยพิบัติฉุกเฉินจริง
(ดูคำสั่ง https://www.nacc.go.th/nacc_accuse_detail2.php?aid=72576)
อ่านประกอบ: เปิดชื่อขรก.-เอกชนยกจ.บึงกาฬ! ป.ป.ช.ลุยสอบพันปมจัดซื้อสารป้องเชื้อราข้าว