องค์กรวิชาชีพฯ ยื่น จม.เปิดผนึก จี้ สปท.ถอนร่าง กม.คุมสื่อ
องค์กรวิชาชีพสื่อฯ รวมพลังค้าน กม.คุมสื่อ ยื่น 'อลงกรณ์' ให้ สปท.ถอนร่างกฎหมายออกจากวงประชุม 1 พ.ค.นี้
วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนำโดย นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ผ่าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยยืนยันขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะร่างกฎหมายยังคงผิดหลักการเสรีภาพของการกำกับดูแลโดยสื่อและสังคม โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า
ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะมีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรปูประเทศด้านการสื่อสารมวลชนในวันนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีหลักการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้ยกเลิกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. นิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นิยามคำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดอย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อพิจารณานิยามคำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับความเห็นสาธารณะของท่านประธานกรรมาธิการฯ นิยามนี้มุ่งหมายจะครอบคลุมไปถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท ทั้ง “สื่อบุคคล” และ “สื่อวิชาชีพ” ความหมายก็คือ ประชาชนทั่วไป ที่ใช้สื่อโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะกำกับความรับผิดอยู่แล้ว จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อันจะมีภาระผูกพันตามกฎหมายซึ่งจะต้องมีใบอนุญาตและอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต ดังจะกล่าวต่อไป
2. การกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ รับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามนิยามที่กล่าวแล้ว เป็นการกำหนดหลักการที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 26 ว่าด้วยการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล มาตรา 34 และมาตรา 35 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน และสื่อมวลชน มาตรา 77 ว่าด้วยการที่รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ
นอกจากนั้น มาตรา 77 ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด
มาตรา 77 ยังกล่าวถึง การที่รัฐจะใช้ระบบอนุญาต พึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฏหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
3. การกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ไม่ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียน และองค์กรสื่อที่รับผู้ที่ไม่จดทะเบียนเข้าปฏิบัติงาน โดยกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการกำหนดโทษจำคุกในอัตราที่สูง ไม่สอดคล้องกับสภาพความผิด อีกทั้งขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ว่า พึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น
4. การมีตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้มีตัวแทนของรัฐ ร่วมเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งสองตำแหน่ง คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง ก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องมีธรรมาภิบาล และมีความโปร่งใส
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสภาวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทยสภา สภาทนายความ ก็ไม่ปรากฏว่าสภาวิชาชีพเหล่านั้น มีบุคคลภายนอกหรือตัวแทนภาครัฐเข้าไปเป็นกรรมการแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ .