หวั่นหน้าที่ขัดผลปย.ทับซ้อน! สตง.ชงบิ๊กตู่ รื้อระบบขรก.นั่งกก.รัฐวิสาหกิจ
เผยข้อมูล สตง.ชงบิ๊กตู่ รื้อระบบขรก.นั่งกก.รัฐวิสาหกิจ หวั่นปัญหาหน้าที่ขัดผลปย.ทับซ้อน เกิดความเสียหายแก่รัฐ จี้ปฏิบัติตามมติครม. 14 ก.ค.58 ทบทวนหลักการกำหนดคุณสมบัติกระบวนการสรรหาใหม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประธานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำ ระบุว่า อาจเกิดความเสี่ยงในการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยสตง.พบว่า รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีข้าราชการระดับสูงที่ทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งด้านสายการบังคับบัญชาและด้านบทบาทภารกิจเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจทำให้เกิดการขัดกันระหว่างการทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เพราะการทำหน้าที่ในการออกนโยบาย ควบคุม กำกับดูแลการดำเนินกิจการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด กับการทำหน้าที่ประธานกรรมการหรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแลการบริหารกิจการ การตัดสินใจ การวางแผนนโยบาย และการวางแผนกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐวิสาหกิจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดขององค์กร และการแสวงหากำไรหรือประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการและนโยบายการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
สตง.ยังระบุด้วยว่า การดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจของข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามกฎหมายก็อาจมีปัญหาเช่นกัน อาทิ ข้าราชการกรมสรรพกร กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายภาษีอากร กำกับดูแลผู้เสียภาษี ตรวจสอบผู้ประกอบการให้ดำเนินการเสียภาษีให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยรักษาผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ส่วนรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือเป็นองค์กรธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด และบริหารจัดการให้มีกำไรหลังหักภาษีมากที่สุด หากมีข้าราชการกรมสรรพกรเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจอาจเกิดการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุราชการ ที่เคยกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจด้วย เนื่องจากข้าราชการดังกล่าวอาจยังมีอำนาจจากบทบาทหน้าที่ทางราชการเดิม และทราบข้อมูลภายในที่จะแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองหรือพวกพ้อง
เบื้องต้น สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสียหายแก่รัฐ อันอาจเกิดจากการขัดกันของหน้าที่หรือผลประโยชน์ทับซ้อนจากการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำและให้การบริหารงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการ ดังนี้
1. เร่งรัดและติดตามการดำเนินงานให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางการปรับปรุงกฎหมายจัดตั้งในส่วนกรรมการโดยตำแหน่งที่ขัดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558
2. ทบทวนหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจปี 2552 เพื่อประกอบการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยพิจารณาให้ครอบคลุมถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจของข้าราชการประจำที่มีหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามกฎหมายการกำหนดระยะเวลาในการเว้นวรรคการทำงานของข้าราชการเกษียณอายุที่จะไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ และการดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของกรรมการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงและจัดทำแนวทางปฏิบัติเรื่องกระบวนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยรัฐ