ป.ป.ท.รับลูกอิศราสอบงานจ้างขุดบ่อบาดาลปี59-สตง.ช่วยดูภาษีผู้รับเหมากลุ่มร้านค้า
ป.ป.ท.รับลูกข้อมูล 'อิศรา' ตรวจสอบงานจ้างขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลปี 59 จำนวน 39 สัญญา วงเงิน 158 ล้าน ตั้งประเด็นศักยภาพผู้รับเหมาทำงานได้จริงหรือไม่ ยินดี 'สื่อมวลชน' ช่วยภาครัฐ ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ขณะที่ ผู้ว่าฯ สตง. ลั่นพร้อมให้ความร่วมมือช่วยดูประเด็นการเสียภาษีร้านค้าที่เข้ามารับงาน พิสูจน์ปมนอมินี -หวั่นเกิดปัญหาจ้างช่วงงานต่อ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบงานจ้างขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 39 สัญญา วงเงิน 158 ล้านบาท ของ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล พบข้อสังเกตหลายประการ อาทิ หจก. พรรณนิภา ดีพเวลล์ มีทุนจดทะเบียนแค่ 4 แสนบาท แต่เข้ามารับงานจำนวนกว่า 3 ล้านบาท, ผู้รับเหมาส่วนใหญ่ที่เข้ามารับงานแจ้งประกอบอาชีพรับงานก่อสร้างทั่วไป มีเพียงไม่กี่แห่งที่แจ้งว่าทำธุรกิจเกี่ยวกับรับเหมาขุดเจาะบ่อบาดาลโดยตรง นอกจากนี้ยังมีร้านค้าปรากฎชื่อเข้ามารับงานด้วย
(อ่านประกอบ : อิศราลุยตรวจงบขุดบ่อบาดาลปี 59 พบ'หจก.'ทุน4แสน โผล่รับงานกว่า3.1ล้าน, ร้านค้าโผล่ร่วม-ลงนามจ้างวันเดียวเพียบ!เปิดข้อมูลขุดบ่อบาดาล158ล.-รองอธิบดีฯแจงโปร่งใส,จำแนกชัดๆ กลุ่มผู้รับเหมาเจาะบ่อบาลดาล39สัญญา158ล.-หจก.รับมีปัญหาขุดไม่เจอน้ำ)
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2560 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ได้เห็นข้อมูลการตรวจสอบงานจ้างขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ปี 2559 จำนวน 39 สัญญา วงเงิน 158 ล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอแล้ว เบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลในส่วนร้านค้าต่างๆ ที่ปรากฎชื่อเข้ามารับงาน ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการเสียภาษีว่ามีข้อมูลตรงกับวงเงินที่ได้รับว่าจ้างจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหรือไม่
"เรื่องการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ในขั้นตอนกระบวนการทำงาน คงเป็นหน้าที่ของ สำนักงาน ป.ป.ท. ที่ดูแลรับผิดชอบตรวจสอบงานเรื่องนี้ทั้งระบบ สตง.คงไม่เข้าไปก้าวล่วงอะไร แต่เราจะเข้าไปช่วยดูข้อมูลเรื่องการเสียภาษีของร้านค้าต่างๆ ที่เข้ามารับงานว่าเป็นอย่างไร ตรงกับข้อมูลวงเงินที่ได้รับการว่าจ้างหรือไม่ เพราะจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ร้านค้าที่ปรากฎชื่อเข้ามารับงาน เข้ามาทำงานจริง ไม่ได้ถูกใครเอาชื่อไปใช้ เพื่อให้เข้ามารับงาน แล้วเอางานไปจ้างช่วงต่อ"
ผู้ว่าฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีงานโครงการหลายส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีการแบ่งสอยงบงานสัญญาละวงเงินไม่มาก เพื่อให้ง่ายต่อการตกลงราคาว่าจ้างผู้รับเหมา แต่สุดท้ายผู้รับเหมาที่ปรากฎชื่อเข้ามารับงานก็ไม่ได้ทำเอง นำงานไปจ้างช่วงต่อ และผลงานที่ออกมาก็ไม่มีคุณภาพทำให้งบประมาณราชการเสียหาย ประชาชนได้รับผลกระทบไปด้วย
"ข้อมูลที่อิศราตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าเข้ามารับงานด้วยนั้น อันนี้ต้องไปดูว่า ร้านค้าที่เข้ามารับงานมีอาชีพ มีความเชี่ยวชาญในงานที่เข้าไปรับจ้างหรือไม่ ไม่ใช่แค่เป็นร้านค้า มีอุปกรณ์อยู่แล้วก็เข้าไปรับงานได้เลย ต้องมีฝีมือมีผลงานรับรองด้วย ซึ่งข้อสังเกตตรงนี้ต้องดูรวมไปถึงบริษัทและหจก.ที่ปรากฎชื่อเข้ามาทำงานด้วย ไม่ใช่แค่จดทะเบียนตั้งไว้เฉยๆ"
ขณะที่ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า จะให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. นำข้อมูลการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา ไปพิจารณา เพื่อดูว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร ส่วนประเด็นตรวจสอบที่ตั้งไว้เบื้องต้นคงจะเป็นเรื่องศักยภาพของผู้รับเหมาว่าทำงานได้จริงหรือไม่ และส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวเพื่อช่วยภาครัฐในการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน