ภาคีเครือข่ายฯ ติง ศปถ.แก้อุบัติเหตุจราจรแค่เสือกระดาษ แนะตั้งองค์กรกำกับดูแล
วงระดมความร่วมมือสื่อ-ภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ติง ศปถ. แก้ไขอุบัติเหตุจราจรแค่เสือกระดาษ ไร้งบฯรองรับ ขาดการติดตามผลเข้มข้นเหมือน ตปท. แนะตั้งองค์กรกำกับดูแล ขณะที่สาเหตุหลักยังคงขับเร็วเกิน กม.กำหนด จ-จยย.ครองแชมป์ จี้จำกัดตามการใช้งานของถนนแต่ละสายจริงจัง
วันที่ 18 เมษายน 2560 ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ประกอบด้วย คณะทำงานแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.), มูลนิธิไทยโรดส์, ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประชุมหารือสร้างความร่วมทำ CSR สื่อมวลชนไทยกับสัปดาห์แห่งความปลอดภัยทางถนน 2017 ซึ่งปีนี้ UN กำหนดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2560
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธาน คนที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนนของไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเพียงเสาหลักเดียว จากทั้งหมด 5 เสาหลัก คือ หน่วยกู้ชีพ ทำให้ลดการเจ็บและเสียชีวิตได้ ส่วนเรื่องการบริหาร เรื่องความปลอดภัยถนน พฤติกรรมผู้ขับขี่ การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
“4 เสาหลัก ประเทศไทยสอบตกหมด เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก แต่ยังพัฒนาได้” รองประธาน คนที่ 2 สสส.กล่าว พร้อมยกตัวอย่าง ตำรวจและกรมการขนส่งทางบกจะไม่ใช้กล้องจับความเร็วร่วมกัน ทั้งที่เป็นถนนเส้นเดียวกัน จึงเป็นความลักลั่นในมิติการทำงานเป็นเรื่องเป็นราว
นพ.วีระพันธ์ ยังกล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กระทรวงมหาดไทย ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปรียบได้กับองค์กรเสือกระดาษ เพราะไม่มีงบประมาณ มีเพียงนโยบายที่มอบหมายให้แต่ละกระทรวงขับเคลื่อน รวมถึงขาดการติดตามผลสำเร็จอย่างเข้มข้นเหมือนในต่างประเทศที่มีองค์กรเฉพาะขึ้นมากำกับดูแล
ด้านนพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผอ.ศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า ปี 2558 ประเทศไทย ติดอันดับ 2 ของโลก เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สูงถึงร้อยละ 36.2 ต่อแสนประชากร รองจากลิเบีย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศ ของทวีปเอเชีย (อิหร่าน อันดับ 8) เท่านั้น อีก 8 อันดับเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา
โดยสัดส่วนการเสียชีวิตเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ สูงร้อยละ 72.8 เนื่องจากถนนกว้าง มีหลายเลน จึงเอื้อให้ผู้ขับขี่รถขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ถนนในประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นยุคทองแก้ไขปัญหา มีการใช้มาตรา 44 แต่ยังเข้าไม่ถึงรถจักรยานยนต์
“ต่างประเทศประสบความสำเร็จ เพราะมีสถาบันความปลอดภัยทางถนน กำกับดูแล อย่างเช่น เวียดนาม ส่วนมาเลเซียกวดขันวินัยจราจร ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย และขับขี่ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่สิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึงมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อแสนประชากร” ผอ.ศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าว
ขณะที่รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุถึงเหตุผลที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนนโยบายลดความเร็วบนท้องถนน เพราะอุบัติเหตุจราจรส่วนใหญ่ของไทยเกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 70 เสียชีวิตบนทางหลวง
ทั้งนี้ จากการสำรวจของภาคีเครือข่ายเกี่ยวกับการขับรถเร็วและทัศนคติของผู้ขับขี่ กว่าร้อยละ 50 ยอมรับขับรถเร็ว เพราะเร่งรีบและถนนโล่ง ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถาวร เพียงร้อยละ 17 ไม่ปรับเปลี่ยน ร้อยละ 20 และปรับเปลี่ยนช่วงระยะหนึ่ง ร้อยละ 60 จึงไม่มั่นใจว่า นโยบายจับ ปรับ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับขี่จริง
ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจนถึงชีวิต ทำให้ในหลายประเทศทั่วโลกจึงพยายามเน้นการจัดการความเร็ว ทั้งถนนระหว่างเมือง และถนนในเมือง พร้อมให้ความสำคัญเกี่ยวกับการออกแบบถนน สภาพถนน การบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปด้วย
“ไทยให้ความสำคัญการรณรงค์ และสร้างจิตสำนึก แก่ผู้ขับขี่รถเป็นพิเศษ ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งที่ควรขับเคลื่อนเป็นลำดับแรก คือ การบังคับใช้ความเร็วในการขับขี่ตามการใช้งานของถนนแต่ละสายจริงจัง” รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว .