ก.วิทย์ฯ ถกแก้ปํญหาเครื่อง X-Ray ทันตกรรม ยันต้องคุมหวังให้คนปฎิบัติงานปลอดภัย
ปลัดกระทรวงวิทย์ ยันเหตุต้องควบคุมเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม ในพ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ห่วงคนฏิบัติงาน คนฉายรังสี ยันบทลงโทษ ฝ่าฝืนใช้วิธีทางปกครองก่อน ไม่ส่งศาลทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นัดหารือผู้เชี่ยวชาญทางรังสี ได้แก่ ประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ คณะเทคนิคการแพทย์ นายกทันตแพทยสภา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กฤษฎีกา และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาข้อสรุปในประเด็น พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เกี่ยวกับการดูแลเครื่องเอกซเรย์และกำหนดเครื่องมือทางทันตกรรม ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภายหลังการประชุม รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อกฎหมายนี้ออกมาแล้ว จะมีคนเดือดร้อน หรือปฏิบัติตามกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยที่จะให้เครื่องเอกซเรย์นั้นมีการควบคุม เพราะมีผลต่อคนใช้ คนปฏิบัติงานและผู้ป่วย โดยเฉพาะ คนฉายรังสีจะมีผลกระทบมากกว่า เพราะต้องฉายอยู่ทุกครั้ง แต่คนป่วยที่มาใช้บริการเพียงครั้งเดียวแล้วก็กลับไป เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการควบคุมตรงนี้
รศ.นพ.สรนิต กล่าวอีกว่า การควบคุมเครื่องเอกซเรย์ หรือ เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรม นั้นไปอยู่ที่ไหนบ้างและใช้ถูกต้องหรือไม่ โดยจะมีการควบคุมให้มาขึ้นทะเบียน ออก license ตอนนี้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมไปดำเนินการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยินดีรับเรื่องนี้ไปทั้งหมด เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยก็จะส่งข้อมูลมาที่ ปส. ทุกคนเห็นด้วยกับข้อสรุปและกระบวนการนี้
ด้าน ดร. จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์องค์กร กล่าวว่า ขณะนี้ทางด้าน ปส. กำลังจัดทำระบบ ที่จัดทำเป็นลักษณะของระบบ license เพื่อที่จะได้ดำเนินการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เรียบร้อย โดยไม่ต้องส่งข้อมูลผ่านทาง ปส. เพียงแค่ส่งข้อมูลมาทางระบบออนไลน์ได้เลย เพื่อความสะดวกมากขึ้น
อีกทั้ง 3 ฝ่าย ก็จะมีการร่วมมือ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย เช่น มีเรื่องของลักษณะของห้องปฏิบัติงานจะเป็นอย่างไร เวลาฉายคนไข้ต้องใส่เสื้อเกราะ รวมถึงคนฉายด้วย จะต้องวางท่ออะไรอย่างไร ซึ่งนี้จะเป็นการร่วมมือที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด
ทั้งนี้ในส่วนของบทลงโทษ ก็จะมีการหาทางคุยกัน แล้วได้ไปพบช่องทางว่า จะใช้กระบวนการทางปกครองก่อน ก็คือ การตักเตือน จะไม่มีการส่งศาลโดยทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปส. ชี้แจงเหตุต้องกำกับดูแล X-ray ทันตกรรม
ทันตแพทย์ 15 องค์กร จี้ รมว.วท.เร่งออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์จาก กม.พลังงานนิวเคลียร์
นายกทันตแพทยสภาหวั่นคลินิกทำฟันกว่า 6 พันแห่ง กระทบจากกม.พลังงานนิวเคลียร์ใหม่