ม.44 กฎหมายลิดรอนสิทธิ ยูเอ็นจี้หนักในเวที ICCPR เจนีวา
ที่ปรึกษา Human Right Watch เผยสถานการณ์สิทธิทางการเมืองและพลเมืองไทยถดถอยหนัก หลังรัฐประหาร ชี้ ม.44 คือกฎหมายลิดรอนที่ยูเอ็นจี้หนักในเวที ICCPR เจนีวา
เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2560 เครือข่ายภาคประชาสังคมไทยด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดงานถ่ายทอดสด การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและข้อผูกมัดภายใต้กลไกกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 169 ชาติที่เป็นสมาชิกหรือภาคีของกติกาสากลฉบับนี้
ประเทศไทยเข้ารับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ภายใต้กลไกกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในวันที่ 13-14 มกราคม 2560 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
สำหรับการทบทวนครั้งนี้องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ได้ส่งรายงานเงาและประเด็นคำถามให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนล่วงหน้า ประเด็นหลักที่คณะกรรมการด้านสิทธิของยูเอ็นได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยคือ การบังคับการใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) การดำเนินคดีพลเรือนในศาลพลเรือนในศาลทหาร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โทษประหารชีวิต การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ความเท่าเทียมทางเพศ การคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว การปราบปรามการซื้อทรมาณและการบังคับให้สูญหาย การค้ามนุษย์ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การรับรองสิทธิผู้ไม่มีสัญชาติ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิง เป็นต้น
นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Right Watch ประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องสิทธิทางการเมืองและพลเรือนของไทยมีความถดถอยอย่างมาก นับตั้งแต่การทำรัฐประหารของ คสช. เมื่อเดือน 27 พฤษภาคม 2557 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไทยอยู่ภายใต้กรอบการปกครองที่สร้างเงื่อนไขพิเศษนำไปสู่การใช้อำนาจแบบรวบยอด ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ และเมื่อใช้ไปแล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แม้แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงก็ตาม นั่นคืออำนาจภายใต้มาตรา 44, 47 และ48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำลังใช้อยู่ในทุกวันนี้
นายสุนัย กล่าวด้วยว่า ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เเล้ว ผลของคำสั่งการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไป จนกว่าจะมีการออกกฎหมายฉบับใหม่มาลบล้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นกรอบคำถามคือว่า อำนาจลักษณะนี้ตามกติกาว่าด้วยสิทธิทางการเมืองสิทธิพลเมือง คืออำนาจที่เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ไม่สามารถเอาผิดและเยียวยาได้ ไม่สามารถอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมได้ เป็นประเด็นใหญ่มาก
“จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมคำถามในการประชุมที่เจนีวา เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงพุ่งเป้าไปที่มาตราเหล่านี้” นายสุนัย กล่าว และว่า หากลองดูในรายละเอียดจะพบว่า ได้มีการกำหนดให้หัวหน้าคสช. ในฐานะบุคคลมีอำนาจสูงสุดในตัวเอง แล้วรวบความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ ไว้ในตัวคนเดียว ใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรอความเห็นชอบ ถ่วงดุลจากองค์กรใดเลย อำนาจเมื่อใช้ไปแล้ว เด็ดขาด ชอบด้วยกฎหมาย อำนาจม.44 ใช้ไปแล้วเบรกไม่ได้ จะออกมาตราอื่นมายับยั้งไม่ได้ นำไปสู่การออกคำสั่งและประกาศอื่นๆ ตามมา
นายสุนัย กล่าวอีกว่า คสช.มักพูดว่า ม.44 เอาไว้ถอดปมวิกฤตของประเทศ เช่นแก้ปัญหาเรื่องประมง สายการบิน เป็นต้น แต่พอเอาเข้าจริง กลับพบว่า ม.44 กลายเป็นรากฐานในการลิดรอน สิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะ กลุ่มสิทธิทางการเมือง และสิทธิพลเมือง ที่มีความจำเป็นต่อการทำตามสัญญาโรดแมปในการนำพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย
“สิทธิเสรีพื้นฐานเหล่านั้นคืออะไร นั่นคือเรื่องการแสดงออกทางความเห็น การสมาคม การชุมนุม สิทธิทั้งสามประการนี้ ถูกลิดรอน ถูกจำกัดด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่อ้างอิงม.44 เป็นคำสั่งที่ห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์ ห้ามการชุมนุมเกิดห้าคน ห้ามการทำสมาคม ทำกิจกรรมทางการเมือง"
นายสุนัย กล่าวถึงเสรีภาพทางการแสดงออกไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องปัจเจกบุคคลหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่คือเรื่องของสื่อมวลชนด้วย เพราะภายใต้คำสั่งดั่งกล่าวมีคำสั่งย่อยที่ระบุว่า ไม่ให้สื่อมวลชนวิพากวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และคสช.
“ขณะนี้สื่อมวลชนกระตือรือร้นที่จะคัดค้านร่างกฎหมายสื่อมวลชน จริงๆ สื่อถูกจำกัดมาก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่มีคำสั่งที่ 3/ 2558 ถ้าจะเรียกร้องต้องเริ่มจากให้มีการปลดล็อคคำสั่งดังกล่าวก่อน โดยที่แทบไม่ต้องลุ้นเรื่องร่างกฎหมายฉบับใหม่ ในสังคมที่อ้างว่า กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ต้องสามารถคิดเห็นแตกต่างได้อย่างสันติ แต่การบังคับใช้ม.44 กับคนเห็นต่าง จึงไม่แปลกที่คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นถึงตั้งคำถามต่อโรดแมปของรัฐบาล ก็เพราะว่าที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมถึงความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายที่วางไว้”