รพ.ธรรมศาสตร์ ดีเดย์เปิดจ่ายไฟจากโซล่าร์รูฟ สู่ระบบอาคาร
รพ.ธรรมศาสตร์ เปิดจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Rooftop เข้าสู่ระบบในอาคารราชการขนาดใหญ่ที่สุด หวังช่วยลดค่าไฟ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านกก.บมจ.โซลาร์ตรอน ตั้งเป้าไม่เกิน 20 ปี มีบ้านกว่า 1 ล้านหลังติดพลังงานแสงอาทิตย์
วันที่ 17 พฤศจิกายน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบอาคารราชการขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ บริเวณโถงกิจกรรม ชั้น 1 อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ โดยมีพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดงาน
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานกรรมการ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ถือเป็นรพ.ตัวอย่าง เพื่อให้เป็นต้นแบบการอนุรักษ์พลังงาน และกระตุ้นสังคมไทยให้หันมาใช้พลังงานสะอาด
ขณะที่ รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า นอกจากลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อนแล้ว แต่ละเดือนรพ.มีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้ากว่า 7 ล้านบาท เชื่อว่าหลังจากนี้จะช่วยประหยัดค่าไฟลงไปได้
ขณะที่ศ.ดร.ดุสิต เครืองาม ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ กรรมการ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคุ้มค่าเมื่่อติดตั้งโซล่าร์รูฟ (Solar Roof) ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ มีการรับประกันถึง 25 ปี อินเวอร์เตอร์ รับประกัน 5-10 ปี อายุการใช้งานนานกว่า 30 ปี
"ปัจจุบันการติดตั้งโซล่าร์รูฟ มีกฎระเบียบราชการสามารถติดตั้งใช้เองในอาคารได้อย่างเสรี มีมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าร์รูฟ ด้วยราคาพิเศษ และสามารถใช้โซล่าร์รูฟเป็นหลักทรัพย์ในการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ การติดตั้งโซล่าร์รูฟบนหลังคาบ้านสามารถทำประกันภัย และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้ ฯลฯ"
ศ.ดร.ดุสิต กล่าวต่อว่า อีกไม่เกิน 2-3 ปีจะมีกฎกระทรวงพลังงาน เรื่องการออกแบบและก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน โดยอนุญาตให้โซล่าร์รูฟเป็นอุปกรณ์นำไปลดค่าการใช้พลังงานได้
ศ.ดร.ดุสิต กล่าวด้วยว่า ณ วันนี้ ราคาโซล่าร์รูฟมีราคาถูกลงแล้ว ราคาประมาณ 2 แสนบาทก็ติดตั้งได้จากสมัยก่อนหลักล้านบาท พร้อมกับเชื่อว่า กิจการไฟฟ้าเสรีจะเกิดขึ้นในอนาคต
"การติดโซล่าร์รูฟ พื้นที่ 23 ตร.ม.ลงทุน 2.3 แสนบาท คืนทุน 8 ปี ปัจจุบันมีบ้านพักอาศัยติดโซล่าร์รูฟแล้ว 2 หมื่นหลัง ตั้งเป้า 1 ล้านหลังในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งการหันมาใช้พลังงานทดแทน ประเทศไทยลดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปได้อีกทางหนึ่ง"
ทั้งนี้ ช่วงท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล เยี่ยมชมระบบติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา บริเวณดาดฟ้า อาคารดุลโสภาคย์