ปธ.ศาลปกครอง ชี้ เปลี่ยนองค์คณะตุลาการ “พระวิหาร” ให้ดูผลที่ไทยได้รับ
ปธ.ศาลปกครอง ปัด! ไม่ตอบเปลี่ยนองค์คณะตุลาการ “พระวิหาร” ชอบธรรมหรือไม่ แต่ย้ำให้ดูที่ "ผล" ประเทศเสียหายหรือกลับเป็นผลดี
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ที่ศาลปกครอง นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในประเด็นการเปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดคดีเขาพระวิหาร โดยนายอัขราทร จุฬารัตน ประะธานศาลปกครองสูงสุดขณะนั้นสั่งจำหน่ายสำนวนให้แก่องค์คณะศาลปกครองสูงสุดคณะที่ 2 ที่มีนายจรัญ หัตถกรรม เป็นหัวหน้าคณะและเจ้าของสำนวน แต่ต่อมานายจรัญได้สละสำนวนคืนให้แก่นายอัขราทรซึ่งเป็นหัวหน้าองค์คณะที่ 1 จึงมีผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ว่าการเปลี่ยนองค์คณะหรือสละสำนวนนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 56 หรือไม่ เนื่องจากไม่มีบุคคลภายนอกรับรู้
( อ่านประกอบ : เปิดบันทึก"ลับ"ตุลาการฯมัด"บิ๊ก"ศาล ปค. เปลี่ยนองค์คณะคดีพระวิหาร? )
ผู้สื่อข่าวถามนายหัสวุฒิว่าข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนองค์คณะตุลาการในคดีนี้เป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่
นายหัสวุฒิตอบว่า “ผมว่าเรื่องนี้มันน่าจะจบไปนานแล้ว และจริงๆ แล้วการจะถามว่าสอบไปถึงไหน ผมว่าต้องไปถาม ป.ป.ช. เพราะเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เราแล้ว”
นายหัสวุฒิ ยังกล่าวต่อไปว่า “ผมอยากให้พิจารณาไปถึงผลของการเปลี่ยน ส่วนขั้นตอนการเปลี่ยนว่ามีความชอบหรือไม่ชอบนั้น อยู่ที่ ป.ป.ช. แต่ผมอยากให้ดูผลของการเปลี่ยนว่าประเทศไทยเสียหายหรือไม่ ไม่เสียหายหรือกลับเป็นผลดี ให้ดูที่ผล ซึ่งถ้าพูดอย่างนี้ ท่านเองก็คงได้คำตอบใช่ไหม”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือกระบวนการเปลี่ยนองค์คณะตุลาการเป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่ นายหัสวุฒิ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว แต่ยืนยันคำตอบเดิมว่าให้ดูที่ผลของการเปลี่ยนองค์คณะตุลาการ
“นั่นคือประเด็นในที่ไปร้อง ป.ป.ช. แล้ว เข้าใจไหม เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปถามที่ ป.ป.ช. แล้ว ถ้าถามแบบนี้ เหมือนเริ่มต้นใหม่ ผมพูดถึงผลของการเปลี่ยน แต่ว่ากระบวนการนั้นชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ผู้ที่ให้คำตอบคือ ป.ป.ช. ไม่ใช่เรา แต่ผมยืนยันมาโดยตลอดว่าให้ดูที่ผลสุดท้ายของการเปลี่ยน แม้ท่านอาจจะตอบว่าขั้นตอนไม่ถูกต้องแล้วผลจะดีได้อย่างไร” นายหัสวุฒิระบุ
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีมติครม.สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนมติ ครม. ในเวลาต่อมา นายสมัครจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งมิให้นำมติ ครม.ไปดำเนินการใดๆ ต่อศาลปกครองสูงสุด