อธิการ-สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ร่อนจม.ชี้แจงงบ 4 พันล. ก่อสร้าง ม.เกษตรฯ
อธิการ มก.ร่อนจม.แจงใช้งบประมาณแผ่นดิน 4 พันล้านก่อสร้าง 16 โครงการ ฝั่งสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ โต้ดำเนินการโปร่งใส รอ ค.พ.ช.วินิจฉัยทำผิดระเบียบ พ.ร.บ.สหกรณ์หรือไม่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำจดหมายเวียนถึงบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปรายการโครงการก่อสร้างอาคารผูกพันจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2557 ซึ่งในรายละเอียดมีทั้งชื่อโครงการก่อสร้างทั้งหมด 16 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 4,224 ล้านบาท
โดยจดหมายเวียนดังกล่าว มีรายชื่อบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้ม.เกษตรฯ อาทิ บริษัทแคนดู คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ของนายอำนวย เนตยสุภา ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยตำแหน่ง ที่กำลังถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) มีการรับงาน 4 โครงการ รวมวงเงินกว่า 770 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทไทยมารูกิ จำกัด จำนวน 2 โครงการ รวมวงเงิน 669 ล้านบาท ที่เหลือ บริษัท เจมิไนยแอนด์แอสโซซิเอท จำกัด, บริษัท พอร์ทอล เฟรม (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท แซมคอน จำกัด, หจก.เขาน้อยก่อสร้าง, บริษัทเอ.เอส.เอ การช่าง จำกัด และบริษัท วงศ์แสงทอง จำกัด ได้ไปบริษัทละ 1 โครงการ
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตุว่า โครงการก่อสร้างทั้งหมดนั้น เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน ส่วนเงินกู้ "สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด" (สอ.มก.) ที่ม.เกษตรฯ กู้มาเพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ทั้งการสร้างตึก อาคารจอดรถ หอพักนักศึกษา อาคารที่พักบุคลากร ก่อสร้างสระว่ายน้ำ และปรับปรุงสนามกีฬา กว่า 43 โครงการ มูลค่ากว่า 2,926 ล้านบาท ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบริษัทผู้รับจ้างแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 11.30 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม หน้าเฟซบุ๊ก “สหกรณ์ออมทรัพย์ ม.เกษตรศาสตร์ (สอ.มก.)” ได้โพสต์ข้อความชี้แจงข้อเท็จจริง และวิธีการดำเนินงานของ สอ.มก. ภายหลังที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวการทำผิดพระราชบัญญัติสหกรณ์ ดังนี้
เรียน สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำกัด ทุกท่าน
ตามที่สมาชิกของ สอ.มก. ท่านหนึ่งได้ให้ข่าวเกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ มก. กับสำนักข่าวอิศรา และได้มีการส่งต่อข่าวดังกล่าวทาง e-mail ไปยังสมาชิก สอ.มก. บางท่าน ข่าวดังกล่าวได้นำเสนออยู่ในคอลัมน์เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นของสำนักข่าวอิศรา ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดคิดว่ามีการคอร์รัปชั่นในสหกรณ์ออมทรัพย์ มก. ทั้งที่เนื้อหาไม่ได้มีเรื่องคอร์รัปชั่นอะไรเลย มีเพียงความเห็นของผู้ให้ข่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อาจจะทำผิดพระราชบัญญัติสหกรณ์ พระราชบัญญัติงบประมาณ พระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ เป็นต้น
สหกรณ์ออมทรัพย์ มก. ขอเรียนชี้แจงให้สมาชิกทุกท่านได้ทราบข้อเท็จจริง และทราบวิธีการดำเนินงานของ สอ.มก. ดังนี้
1. ในข้อบังคับของ สอ.มก. เกี่ยวกับสมาชิกสมทบ อนุญาตให้นิติบุคคลทางราชการ คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสมาชิกสมทบได้ และให้มีสิทธิ์กู้เงินจากสหกรณ์โดยใช้เงินฝากของ มก. เป็นประกัน โดยความเห็นชอบที่ประชุมใหญ่ของ สอ.มก. ในแต่ละปี ข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นนายทะเบียนสหกรณ์ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
2. มก. ได้ขอรับการสนับสนุนการเงินจากสหกรณ์ โดยผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย มก. โดยขอให้สหกรณ์เป็นผู้จัดหาอาคาร ครุภัณฑ์ให้ โดย มก. จะขอวงเงินไว้ในแต่ละปี และทำความตกลงกันว่าสหกรณ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน และ มก. จะชำระคืนให้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงกัน วิธีการดังกล่าวเป็นที่เข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนกับ มก. กู้เงินจากสหกรณ์ โดยใช้เงินฝากของตนเองเป็นหลักประกัน ซึ่งการก่อสร้างไม่ได้ทำพร้อมกันทุกโครงการ และการจ่ายเงินให้ผู้ประมูลได้ก็จ่ายเป็นงวด ๆ ดังนั้นวงเงินที่เบิกจ่ายไม่เคยถึงร้อยละ 80 ของเงินฝาก และบางโครงการก็ยกเลิกไปเพราะได้เงินงบประมาณแผ่นดินแล้ว
3. ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 ทางนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งว่า นิติบุคคลไม่สามารถเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์ได้ ตามที่นายทะเบียนได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งให้สหกรณ์ทุกแห่งแก้ไขข้อบังคับของตนเองไม่ให้นิติบุคคลเป็นสมาชิกสมทบได้ ซึ่งมีผลกระทบกับสหกรณ์จำนวนมาก
4. สหกรณ์ออมทรัพย์ มก. เห็นว่า คำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะทำให้ สอ.มก. เสียหาย เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ มก. ปฏิบัติตามคำแนะนำของนายทะเบียนทุกอย่างในการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสมทบที่เป็นนิติบุคคล จึงได้อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนไปยังคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (ค.พ.ช.) เมื่อต้นปี พ.ศ. 2553
5. สหกรณ์ออมทรัพย์ มก. ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ เมื่อใกล้จะครบ 1 ปี ของการยื่นอุทธรณ์ แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัยจาก ค.พ.ช. ลงมา เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ไม่ให้หมดอายุความตามกฎหมาย สอ.มก. จึงได้ยื่นฟ้องนายทะเบียนสหกรณ์ต่อศาลปกครองใน ปี พ.ศ. 2554 และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับฟ้อง ให้รอคำวินิจฉัยจาก ค.พ.ช. ก่อน แต่ก็ยังให้สิทธิ์ที่จะฟ้องได้หากคำวินิจของ ค.พ.ช. ไม่เป็นไปตามที่สหกรณ์ออมทรัพย์ มก. ยื่นอุทธรณ์
6. สอ.มก. ขอเรียนให้สมาชิกทุกท่านเข้าใจว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาทำโดยเปิดเผย โปร่งใส ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ รายละเอียดทุกอย่างจะรายงานในหนังสือรายงานประจำปีของ สอ.มก. ซึ่งแจกให้สมาชิกในวันประชุมใหญ่ และเผยแพร่ให้สหกรณ์อื่น ๆ ได้ทราบทุกปี ช่วงที่รอคำวินิจฉัยจาก ค.พ.ช. อยู่ในขณะนี้ สอ.มก. หยุดการรับสมาชิกที่เป็นนิติบุคคล รวมถึงชะลอการแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสมาชิกสมทบไว้ทั้งหมด และไม่เคยมีการแก้ไขระเบียบเงินกู้ใด ๆ ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เลย
7. สหกรณ์ออมทรัพย์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นองค์กรอยู่ภายใต้กฎหมาย จึงปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยรอให้ ค.พ.ช. วินิจฉัยคำอุทธรณ์จนถึงทุกวันนี้ หาก ค.พ.ช. วินิจฉัยออกมาแล้ว และกระบวนการสิ้นสุดที่ศาลแล้ว ศาลตัดสินอย่างไร สหกรณ์ออมทรัพย์ มก. ก็จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างแน่นอน และในช่วงนี้ สอ.มก. ก็จะไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรอันเป็นการก้าวล่วงต่ออำนาจของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาคำอุทธรณ์อยู่เช่นเดียวกับสหกรณ์ออมทรัพย์อื่น ๆ ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไป หากในที่สุดนิติบุคคลไม่สามารถเป็นสมาชิกสมทบได้ สอ.มก. ก็ต้องทำตามกฎหมาย โดยแก้ไขข้อบังคับเรื่องสมาชิกสมทบต่อไป
อ่านข่าวประกอบ
รมว.เกษตรฯ โยนอธิการบดี ม.เกษตรฯ แจงสื่อปมเงินกู้สหกรณ์ 4 พันล้าน
อธิการบดี มก. ปัดตอบกู้เงินผิดระเบียบนับพันล. โบ้ยให้รอสหกรณ์ฯ ชี้แจง
ส่อผิดกม. 3 ฉบับ! ม.เกษตรฯ กู้สหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 4 พันล้าน
พบบริษัท กก.สภามหาวิทยาลัยคว้ารับเหมา ม.เกษตรฯอื้อ 36 สัญญา 2 พันล้าน