เบื้องหลัง คอมพิวเตอร์ สปส.“จอดำ” ล็อบบี้รมต.ต่อสัญญาเอกชน 3 เดือน เหลว!
เบื้องหลัง คอมพิวเตอร์ สปส.“จอดำ” ล็อบบี้ รมต.ต่อสัญญาเอกชน 3 เดือน เหลว! "เผดิมชัย" นัดถกจันทร์ 14 ม.ค.นี้ รับมีขู่ เตรียมตั้งกก.สอบ -ชงดีเอสไอ ฟัน
กรณีระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ถูกปิดลง เนื่องจากหมดสัญญาว่าจ้างบริษัท เอสโอเอ คอนซอร์เตียมจำกัด ในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และไม่มีการต่อสัญญา ทำให้สำนักงานประกันสังคมหลายจังหวัด ไม่สามารถเปิดใช้ข้อมูลของผู้ประกันตน ซึ่งยื่นขอสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานและกองทุนเงินทดแทนในระบบคอมพิวเตอร์ได้ นั้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้าที่ระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. จะถูกปิดลง ผู้บริหาร สปส. กลุ่มหนึ่ง ได้พยายามล็อบบี้ให้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต่อสัญญาจ้างกับบริษัท เอสโอเอ คอนซอร์เตียม จำกัด ออกไปอีก 3 เดือน โดยใช้งบประมาณจำนวน 70-80 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานระบบคอมพิวเตอร์ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ สปส. ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทรายนี้ มาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 2,300 ล้านบาท และสัญญาครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การล็อบบี้ต่อสัญญาจ้างดังกล่าว ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจาก นายเผดิมชัย ไม่เห็นด้วย หลังได้รับแจ้งข้อมูลว่า ในการดำเนินงานระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ประสบปัญหามาโดยตลอด จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญาให้ ส่งผลทำให้เมื่อสัญญาว่าจ้างยุติลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. จึงไม่สามารถใช้งานได้
“ในระหว่างการหารือเรื่อง ต่อสัญญาระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ผู้บริหาร สปส. ได้ระบุกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้วยว่า มีคนฝากบอกมาว่า หากไม่ต่อสัญญาดังกล่าว มีการขู่ว่าอาจจะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เกิดปัญหาจอดำขึ้นด้วย”
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในวันที่ 14 มกราคม 2556 นี้ จะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. มาหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร สปส. และเจ้าหน้าที่ ได้มาเข้าพบตน เพื่อเสนอให้มีการต่อสัญญาว่าจ้างระบบคอมพิวเตอร์ กับบริษัทรายเดิม ออกไปอีก 3 เดือน จริง ใช้งบประมาณ 70-80 ล้านบาท แต่ตนเห็นว่า ไม่เหมาะสม เลยไม่ได้อนุมัติ
นายเผดิมชัย กล่าวต่อไปว่า ไม่เคยทราบเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. มาก่อนว่าใครไปทำอะไรกันไว้ และการบริหารงานของ สปส. ก็มีบอร์ดบริหารดูแลอยู่ ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไม่ต้องมาให้ตนอนุมัติ ด้วย แต่ทราบข้อมูลมาว่าในการดำเนินงานที่ผ่านมา ก็มีการเรียกปรับค่าเสียหายบริษัทหลายครั้ง ขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ก็ตกรุ่นเร็ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปต่อสัญญากับบริษัทเดิมอีก
“มีคนฝากบอกมาว่า ถ้าไม่ต่อสัญญาให้ จะเกิดปัญหาจอดำ ขึ้น จริง แต่ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะคิดว่ามันไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังทราบข้อมูลว่า นับตั้งแต่ดำเนินการมา ระบบคอมพิวเตอร์ มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อข้อมูล และที่สำคัญข้อกำหนดในสัญญา ก็ดูเหมือนว่า เอกชนจะเป็นฝ่ายได้เปรียบภาครัฐ ในเรื่องการถ่ายโอนข้อมูล ที่ดูเหมือนว่า เขาจะกัก เราก็ได้ และถ้าต่อให้อีก 3 เดือน วงเงิน 70-80 ล้านบาท ต่อไปเมื่อครบกำหนด ก็จะมาขอต่ออีก เรื่อยๆ รัฐจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ มากกว่า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระบบคอมพิวเตอร์ สปส. ดังกล่าว เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ชี้มูลความผิดผู้บริหาร สปส. มาแล้ว ปัจจุบันเรื่องไปถึงไหน รมว. กระทรวงแรงงาน ตอบว่า “ผมก็เพิ่งทราบเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ทราบว่า เรื่องไปถึงไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บอกได้เลยว่า จะต้องมีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบแน่ และอาจจะมีการประสานงานไปที่ ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ ผู้บริหาร บริษัท เอสโอเอ คอนซอร์เตียม จำกัด เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ทั้งนี้ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกมาแสดงความเห็นเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ สปส. ว่า เป็นเพราะสปส. ทำสัญญากับบริษัทดังกล่าวเพียงบริษัทเดียว ทำให้ฐานข้อมูลไปอยู่ในความดูแลของบริษัทเดียว การเจรจาต่อรองในเรื่องการเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลกับบริษัทดังกล่าว จึงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังเกิดข้อจำกัดเรื่องการเก็บฐานข้อมูล และสปส.รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบฐานข้อมูลมาเป็นปีๆ แล้วว่าจะหมดสัญญา ซึ่งการจัดตั้งระบบฐานข้อมูลมีปัญหามาตั้ง 5 ปี ทำไมช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สปส.ถึงไม่คิดหาทางแก้ไขก่อน ทำไม สปส.ไม่จ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำระบบไว้ก่อนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นว่า สปส. ละเลยการบริหารจัดการข้อมูลล่วงหน้า ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมา
ขณะที่ นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.กำลังย้ายระบบฐานข้อมูลออกจากอุปกรณ์ที่เคยเช่าของบริษัทฯไปสู่อุปกรณ์ของ สปส. โดยคาดว่าจะย้ายระบบต่างๆ เสร็จภายใน 2-3สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ การย้ายฐานข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อข้อมูลของผู้ประกันตนหรือกองทุนประกันสังคมแต่อย่างใด เป็นเพียงการหยุดให้บริการผ่านระบบออนไลน์ชั่วคราวเท่านั้น
สำหรับ โครงการว่าจ้างบริษัทเอกชน วางระบบคอมพิวเตอร์ สปส. ดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีมติชี้มูลความผิด นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปส. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการทำสัญญาเช่าจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศแรงงาน ของสปส. วงเงิน 2,894,136,000 บาท (ต่อมามีการปรับลดราคาเหลือ 2.3 พันล้านบาท) หลังพบหลักฐานว่า นายไพโรจน์ ดำเนินโครงการอย่างรีบเร่ง ไม่ฟังคำทักท้วงหรือข้อคิดเห็น หรือคำสั่งการของผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาปกปิดข้อมูลในประการสำคัญ และกระทำการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ
กรณีนำเงินกองทุนประกันสังคม มาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าวโดยไม่ถูกต้อง