“สรยุทธ” โผล่เล่าความกลางศาล ปค. ร่ายยาว 45 นาที ในคดี บ.ไร่ส้มฟ้อง อสมท.
“สรยุทธ” โผล่ศาลปกครอง ร่วมการพิจารณาคดี บ.ไร่ส้มฟ้องเรียกเงิน อสมท. 253 ล้านบาท ใช้เวลาแจงข้อมูลเพิ่มเติม 45 นาที
ในวันนี้ (15 พ.ย.2555) เวลา 10.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ชั้น 3 อาคารศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นายสุชาติ ศรีวรกร ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 3 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี ระหว่างบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีหมายเลขดำที่ 1141/2551 คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (ขอให้ชำระเงินเนื่องจากผิดสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์) ที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ขอให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ชำระเงินค่าโฆษณาเกินเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาพร้อมส่วนลดคืน เป็นเงินกว่า 253 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วยตัวเอง โดยมาก่อนเวลานัดราวครึ่งชั่วโมง
ช่วงต้นทนายความของนายสรยุทธ ขอให้ศาลหยุดการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว จนกว่าการพิจารณาคดีที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันในศาลอาญาจะเสร็จสิ้น แต่นายสุชาติชี้แจงว่า ตามระบบศาลคู่การพิจารณาคดีของศาลปกครองจะเป็นคนละส่วนกับการพิจารณาคดีในศาลอาญา อีกทั้งนับแต่เริ่มการไต่สวนคดีนี้ ก็กินเวลามาเนิ่นนานพอสมควร น่าจะนำไปสู่การตัดสินได้แล้ว จึงไม่อนุญาตตามที่ทนายความของฝ่ายผู้ร้องร้องขอ
จากนั้น ตุลาการเจ้าของสำนวนได้อ่านสรุปข้อเท็จจริงในคดีที่ได้จากการไต่สวน เมื่ออ่านจบก็ถามว่าฝ่ายผู้ร้องต้องการจะชี้แจงอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ปรากฎว่านายสรยุทธได้ขอใช้สิทธิชี้แจงเพิ่มเติม โดยขออนุญาตยืนชี้แจงพร้อมกล่าวคำสาบานว่าจะพูดด้วยความสัตย์ทุกประการ ก่อนที่นายสรยุทธจึงเริ่มต้นชี้แจงโดยไล่เรียงถึงสาเหตุที่เข้าไปจัดรายการในสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่า เข้าใจว่าเป็นเพราะช่อง 9 ต้องการเพิ่มเรตติ้งเพื่อเพิ่มรายได้เข้าสถานี ก่อนพูดถึงระบบการชำระค่าโฆษณาเกินเวลา ที่จะรวบรวมคิวโฆษณาเกินเวลา "หลัง" การแพร่ภาพ ไปทำสัญญาขอซื้อการโฆษณาเกินเวลาที่จะได้รับส่วนลด 30% ไม่ใช่การเสนอใบคิวขอโฆษณาเกินเวลา "ก่อน" ที่จะแพร่ภาพอย่างที่ฝ่ายบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวอ้าง และเมื่อบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โฆษณาเกินเวลาในสัญญาแบบ time sharing ที่ทำกับบริษัท ไร่ส้ม จำกัด คือแบ่งอัตราส่วนโฆษณา 50:50 ก็ควรจะชำระเงินค่าโฆษณาเกินให้กับบริษัท ไร่ส้ม จำกัดด้วย แม้จะไม่มีการระบุเพดานการโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไว้ในสัญญาที่ทำต่อกัน เช่นที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูกระบุเพดานการโฆษณาไว้ที่ 2 นาท 30 วินาที จากการจัดรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ก็ตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรยุทธได้ออกลีลาท่าทางคล้ายการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดการชี้แจงในห้องพิจารณาคดีที่ใช้เวลาราว 45 นาที
หลังจากนั้น นายอนุชา ฮุนสวัสดิกุล ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้อ่านความเห็นในฐานะผู้แถลงคดีว่า พบว่าบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีการโฆษณาเกินเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาจริง แต่ต้องพิจารณาว่า การโฆษณาเกินเวลาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไปล้ำเวลาโฆษณาตามสัญญาของบริษัทไร่ส้ม ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ส่วนระบบการชำระค่าโฆษณาเกินเวลา จากพยานหลักฐานและธรรมเนียมการปฏิบัติบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะต้องให้มีการแพร่ภาพก่อน ถึงมีการรวบรวมคิวโฆษณาเกินเวลาไปทำสัญญาขอซื้อการโฆษณาเกินเวลาที่จะได้รับส่วนลด 30% ไม่ใช่เสนอใบคิวขอโฆษณาเกินเวลาก่อน ส่วนกรณีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด นิ่งเฉยไม่ไปทำสัญญาขอซื้อการโฆษณาเกินเวลา หลังจากโฆษณาเกินเวลาระหว่างปี 2547-2548 หลายครั้ง เป็นเรื่องปกติของผู้ประกอบการ และเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เอง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มาทำสัญญาขอซื้อการโฆษณาเกินเวลาจะได้รับส่วนลด 30% ทุกครั้ง
“จึงเห็นว่าบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ควรจะคืนเงินส่วนลด 30% จากการโฆษณาเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ระหว่างปี 2547-2548 พร้อมภาษีมุลค่าเพิ่มและดอกเบี้ย รวมเป็นเงินกว่า 49 ล้านบาท ส่วนเงินค่าโฆษณาเกินเวลาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถ้าไม่ล้ำเวลาโฆษณาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ก็ถือว่าบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไม่ได้รับความเสียหาย แต่ถ้าล้ำเวลา บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะต้องจ่ายค่าโฆษณาเกินเวลาเท่ากับที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จ่ายค่าโฆษณาเกินเวลาให้กับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยหักส่วนลด 30% เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายทำสัญญาแบบ time sharing” นายอนุชากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรยุทธได้นั่งจ้องตุลาการผู้แถลงคดีตลอดที่อ่านความเห็น พร้อมกับพยักหน้ารับหลายครั้งเมื่อถึงความเห็นช่วงที่เป็นคุณกับทางบริษัท ไร่ส้ม จำกัด
อย่างไรก็ตาม นายสุชาติ กล่าวหลังตุลาการผู้แถลงปิดคดีกล่าวจบ ว่าความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีไม่ใช่คำตัดสิน เพราะคำตัดสินทางองค์คณะจะนัดคู่กรณีมารับฟังอีกครั้ง ก่อนสั่งปิดการพิจารณาคดีที่ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง 50 นาที