ป.ป.ช.กัน จนท.ป่าไม้ 400 คนพยานคดีทุจริต“ฝายแม้ว”-พบซี 9 วิ่งเก็บเงิน
ป.ป.ช.ลุยตรวจฝายแม้วหลังเรียกเอกสารหลักฐาน 1 แสนแผ่น ดึงสำนวนดีเอสไอรื้อสอบใหม่ กันจนท.ป่าไม้ 400 คน พยานสาวข้อมูลผู้บงการใหญ่ แฉเงินส่วนต่าง 50% ถูกส่งคืนส่วนกลาง ผ่านมือซี 9?
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบข้อมูลโครงการทุจริตฝายแม้ว หรือ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤติโลกร้อน อย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังจากที่ได้ดึงเรื่องตรวจสอบโครงการนี้จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาดำเนินการเอง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบการตรวจสอบคดีนี้ ได้เริ่มพิจารณาเอกสารหลักฐานและสำนวนการสอบสวนคดีนี้ที่มีอยู่แล้ว จำนวนกว่า 1 แสนแผ่น และจากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และอุทยานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จำนวน 500 ราย พบว่า มีเจ้าหน้าที่จำนวน กว่า 400 ปาก แจ้งความประสงค์ที่จะให้การกับ ป.ป.ช. ในฐานะพยาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน ตาม ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2554
“ ในขั้นตอนการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานงานก่อสร้างฝายแม้วในระดับพื้นที่ พบว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดทำฝายแม้ว ถูกกำหนดไว้แห่งละ 5,000 บาท แต่ในข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ได้รับเงินมาดำเนินการเพียงแค่ 2,500 บาท ต่อหนึ่งแห่งเท่านั้น และมีการยืนยันข้อมูลตรงกันว่า เงินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง หรือ 2,500 บาท ถูกหักไว้และส่งคืนกลับไปให้ส่วนกลาง โดยบุคคลที่ทำหน้าที่รับเงินเป็นเจ้าหน้าที่ระดับ 9 ส่วนเงินจะถูกส่งต่อไปถึงฝ่ายการเมืองหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ ขณะที่เม็ดเงินโครงการนี้มีจำนวนเกือบหนึ่งพันล้านบาท เนื่องจากฝายแม้วมีการก่อสร้างหลายพื้นที่กระจายไปหลายจังหวัด” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว กล่าวว่า จากการสอบสวนยังพบว่า มีเจ้าหน้าที่หลายรายที่ได้รับเงินจำนวน 2,500 บาทมาแล้ว แต่ไม่ได้นำไปจัดทำฝายแม้ว เพราะเห็นว่ามีวงเงินน้อยอยู่แล้ว บางรายก็ทำงานเท่ากับเงินที่ได้รับมา บางรายกลัวว่าจะมีความผิดภายหลัง หากงานออกมาไม่ดี จึงนำเงินส่วนตัวมาสมทบเพิ่มอีก 2,500 บาท ให้เพียงพอต่อการจัดทำฝายแม้วตามงบประมาณเดิมที่วางไว้ คือ 5,000 บาท
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำหรับการกันเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอุทยาน ไว้เป็นพยานในคดีฝายแม้ว ของป.ป.ช. เป็นการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2554 มีสาระสำคัญดังนี้
1.“พยาน” หมายความว่า บุคคลผู้ซึ่งยังมิได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหารายใดที่ได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูล อันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กันไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
2.บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาที่อาจถูกกันไว้เป็นพยานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์และมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือระหว่างการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานก่อนการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง
(2) เป็นผู้ที่ได้ให้ถ้อยคำอันเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน และการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญจนสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐรายอื่นที่เป็นตัวการสำคัญนั้น
(3) เป็นผู้ที่เต็มใจที่จะให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลและรับรองว่าจะไปเบิกความเป็นพยานในชั้นศาลตามที่ให้การหรือให้ถ้อยคำไว้
3. การพิจารณากันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นพยาน ต้องมิได้เกิดจากการขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นใดแก่ผู้ถูกกันไว้เป็นพยานเพื่อชักจูงใจให้บุคคลดังกล่าวให้ถ้อยคำหรือข้อมูลในเรื่องที่กล่าวหานั้น
4.ในกรณีที่บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหารายใด ประสงค์ที่จะให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ก็ให้บุคคลผู้นั้นมีคำขอด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้กันตนไว้เป็นพยานในคดีนั้นได้นับแต่ได้ทราบเหตุแห่งการกล่าวหาในคดีนั้น
5. หรือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานก่อนการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง หากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานไต่สวน หรือคณะอนุกรรมการไต่สวน พบว่าคำให้การของบุคคลใดจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหารายใด และสามารถที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหานั้น ให้สอบปากคำบุคคลดังกล่าวไว้และทำความเห็นว่าสมควรกันบุคคลผู้นั้นเป็นพยานหรือไม่ เพื่อเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยต่อไป
6.ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคำขอหรือความเห็นดังกล่าว โดยคำนึงถึงเหตุดังต่อไปนี้
(1) หากไม่กันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาคนใดคนหนึ่งเป็นพยานแล้ว พยานหลักฐานที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอและไม่อาจแสวงหาพยานหลักฐานอื่นแทนเพื่อให้เพียงพอแก่การที่จะดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่เป็นตัวการสำคัญ
(2) บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหานั้นจะต้องเบิกความตามที่ให้การไว้
7. เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหารายใดไว้เป็นพยานแล้วย่อมถือว่าบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหานั้นอยู่ในฐานะพยานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจได้รับการคุ้มครองหรือจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้นสำหรับบุคคลเหล่านั้นด้วย
8.หากพยาน ไม่ไปเบิกความหรือไปเบิกความแต่ไม่เป็นไปตามที่ให้การหรือให้ถ้อยคำไว้ หรือไปเบิกความเป็นพยานแต่ไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาหรือเป็นปฏิปักษ์ ย่อมไม่ได้รับการกันไว้เป็นพยานและให้การกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นพยานสิ้นสุดลง