เจ๊เป้า ลุ้นระทึกข้ามปี!! ป.ป.ช. เตรียมสรุปคดีฝายแม้ว-หญ้าแฝก 770 ล.
ป.ป.ช เตรียมสรุปผลการสอบสวนคดีฝายแม้ว-หญ้าแฝก ยุค " เจ๊เป้า อนงค์วรรณ เทพสุทิน" นั่งเก้าอี้ รมว.ทส. ปี 56 แน่นอน เผยข้อมูลระดับบน-ล่างเกี่ยวโยงกัน ไม่ระบุชัด สาวลึกถึงนักการเมืองหรือไม่ ลั่นใครเกี่ยวข้องถูกเรียกสอบหมด!!
นายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เปิดเผยในการสัมมนา “การทำข่าวเชิงสืบสวนการทุจริตคอร์รัปชัน” จัดโดย สถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ว่า ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อมูลโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤติโลกร้อน (โครงการฝายแม้ว) หลังได้รับผลสรุปการสอบสวนคดีนี้มาจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งในช่วงแรก ป.ป.ช. ได้ประสานให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานในระดับล่าง ขณะที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อมูลระดับบน แต่เนื่องจากข้อมูลทั้งสองส่วน มีความเกี่ยวข้องกัน ป.ป.ช.จึงรับข้อมูลมาสอบสวนเองทั้งระบบ คาดว่าผลสรุปการสอบสวนคดีนี้ น่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2556 นี้
“คดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ขณะที่รูปแบบโครงการก็มีลักษณะกระจายงานออกไปในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ต้องใช้เวลาในการสอบสวนข้อมูลค่อนข้างนาน แต่เชื่อว่าในปี 2556 ผลสรุปคดีนี้น่าจะออกมาอย่างแน่นอน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการสืบสวนคดีนี้ จะขยายผลไปถึงนักการเมืองหรือไม่ นายธรรมนูญ ระบุว่า "ยังระบุไม่ได้ แต่ใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องในโครงการนี้ จะต้องถูกสอบสวนทั้งหมด และผู้ที่ถูกสอบสวน ก็ไม่ควรจะปิดบังข้อมูลอะไร ใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ก็ควรระบุออกมา อย่ารับเอาไว้เองทั้งหมด หนักจะได้เป็นเบา”
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า โครงการฝายแม้วและเพาะปลูกหญ้าแฝก เกิดขึ้นในสมัยนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน (ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เบื้องต้น สตง. ได้สรุปผลการตรวจสอบพบว่า ฝายแม้วที่จัดสร้างขึ้นมีคุณภาพไม่เหมาะสม ไม่คงทนแข็งแรง ไม่คุ้มค่ากับเงินงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่การปลูกเพาะชำหญ้าแฝกตามโครงการก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
สตง.ระบุว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับฝายต้นน้ำมาบรรจุเป็นกิจกรรมหนึ่งในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและมีสภาพวิกฤตให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ด้ายการก่อสร้างฝายต้นน้ำและการปลูกหญ้าแฝกตามแผนปฏิบัติงานปกติประจำปีมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2538-2551 โดยมีการลงทุนก่อสร้างฝายแบบผสมผสานจำนวน 186,485 แห่ง ฝายกึ่งถาวรจำนวน 4,770 แห่ง และฝายถาวรจำนวน 2,220 แห่ง รวมเป็นวงเงินประมาณทั้งสิ้น 1,162.68 ล้านบาท และในปี 2551 กรมอุทยานแห่งชาติฯได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 770 ล้านบาท โดยดำเนินการก่อสร้างฝายแบบผสมผสานจำนวน 119,600 แห่ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64.13 ของจำนวนฝายแบบผสมผสานทั้งหมดที่ก่อสร้างมานานถึง 14 ปี และปลูกหญ้าแฝกจำนวน 100 ล้านกล้า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13 จังหวัด ในเขตความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) 5 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2551
จากการสุ่มตรวจและสังเกตการณ์การดำเนินงานก่อสร้างฝายแบบผสมผสานจำนวน 1,153 แห่ง ในความรับผิดชอบของ สบอ.14 แห่ง แบ่งเป็นการก่อสร้างฝายตามโครงการดังกล่าวจำนวน 571 แห่ง และตามแผนปฏิบัติงานปกติประจำปี 2549-2551 จำนวน 582 แห่ง รวมถึงสังเกตการณ์แปลงปลูกเพาะชำหญ้าแฝกรวมทั้งสิ้น 27 แปลง พบว่า ฝายที่ก่อสร้างตามโครงการมีคุณภาพของงานก่อสร้างไม่เหมาะสม รูปแบบ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมีลักษณะที่ไม่แข็งแรงคงทน และเมื่อพิจารณาตามต้นทุนการก่อสร้างที่ได้รับจัดสรรต่อแห่ง พบว่าไม่คุ้มค่ากับเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากถึง 431 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 75.48 ของจำนวนฝายตามโครงการที่สุ่มตรวจสอบ ขณะที่ฝายที่ก่อสร้างตามแผนปฏิบัติงานปกติมีจำนวน 296 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50.86 ของจำนวนฝายที่ก่อสร้างตามแผนปฏิบัติงานปกติประจำปีงบประมาณที่สุ่มตรวจสอบ
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าฝายที่มีคุณภาพเหมาะสมมีเพียงแค่ 140 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 24.52 ของจำนวนฝายตามโครงการที่เข้าไปสุ่มตรวจสอบ และส่วนใหญ่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปซ่อมแซม ปรับปรุง หรือแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง โดยการหมุนเวียนงบประมาณของหน่วยงานอื่น หรือใช้เงินส่วนตัวของเจ้าหน้าที่เอง เนื่องจากมีการติดตามจากคณะทำงานติดตามและตรวจสอบผลการดำเนินงานที่มีการแต่งตั้งตามนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในช่วงหลังจากที่ปัญหาเรื่องฝายแม้ว ถูกสื่อมวลชนตรวจพบความไม่โปร่งใสในการดำเนินงานโครงการ
" จากการสุ่มสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการดำเนินงานก่อสร้างฝายแม้ว ตามโครงการจำนวน 138 ราย ใน สบอ.5 แห่ง เจ้าหน้าที่ทุกรายให้ความเห็นว่าการดำเนินงานตามโครงการมีความไม่โปร่งใส มีการถูกเรียกคืนเงินค่าก่อสร้างฝายที่ได้รับการจัดสรรกลับไปให้ที่ส่วนกลาง โดยบางรายมีจำนวนถึงร้อยละ 50 ของงบประมาณที่ได้รับ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้วัสดุที่มีในพื้นที่มาใช้ก่อสร้างงานแทน และเน้นการก่อสร้างในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายก่อน รวมถึงต้องจัดทำหลักฐานที่ไม่ถูกต้องเพื่อประกอบการเบิกจ่ายเงินตามโครงการ และกู้ยืมเงินหรือหาเงินจากแห่งอื่นเพื่อทำการซ่อมแซม ปรับปรุงแก้ไขงานก่อสร้างฝายต้นน้ำตามโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบและติดตามผล" รายงานระบุ
สตง.ยังระบุด้วยว่า การดำเนินงานสร้างฝายต้นน้ำตามโครงการไม่ได้มุ่งเน้นดำเนินการตามสภาพและความรุนแรงของปัญหาในพื้นที่เป็นสำคัญ การก่อสร้างเป็นไปอย่างเร่งด่วน มีระยะเวลาจำกัด ในขณะที่ปริมาณงานมีเป็นจำนวนมาก ทำให้
สบอ.ที่รับผิดชอบต้องใช้บุคลากรจากส่วนงานอื่นที่ไม่ได้มีภารกิจโดยตรงต่อการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างฝาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการก่อสร้างฝายมาก่อน เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบดำเนินงานก่อสร้างโดยเฉลี่ย 160-400 แห่งต่อคน และบางรายมากถึง 600-900 แห่ง
นอกจากนี้การคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างยังไม่มีความเหมาะสม ไม่ได้พิจารณาตามสภาพและลำดับความรุนแรงของปัญหาในพื้นที่เป็นสำคัญ โดยบางพื้นที่ที่ก่อสร้าง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ทั้งที่ตามโครงการต้องเน้นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นหลัก การกำหนดเป้าหมายก่อสร้างยังมีลักษณะกระจุกตัวในบางพื้นที่ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบที่มา สภาพปัญหาหรือเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน ของการกำหนดพื้นที่เป้าหมายของโครงการไว้เพียง 13 จังหวัด ที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของ สบอ.5 แห่ง และเห็นว่ายังมีพื้นที่อีกหลายแห่งที่มีความเหมาะสมและจำเป็นต้องดำเนินการนอกเหนือจากพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดไว้
ส่วนการปลูกและเพาะชำหญ้าแฝกตามโครงการก็มีแนวโน้มไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณ 165 ล้านบาท โดยพบว่าการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกบางแปลงไม่เหมาะสม ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์หรือแนวทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างชัดเจน ไม่มีการจัดทำข้อมูลด้านการบัญชีหรือทะเบียนคุมการรับและแจกจ่ายกล้าหญ้าแฝก เป็นต้น
"ปัญหาการดำเนินงานโครงการนี้ทั้งหมด เกิดจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ขาดการจัดทำฐานข้อมูลของพื้นที่อย่างเป็นระบบ ระบบการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างฝายต้นน้ำในลักษณะเหมารวม ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถกำหนดรูปแบบการก่อสร้างที่มีหลายรูปแบบได้เองตามที่เห็นสมควรอันเป็นช่องทางนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การขาดการติดตามประเมินผลและการจัดทำรายงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงการแทรกแซงทางการเมืองและระบบการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรที่ไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้โครงการนี้ เกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ขณะที่การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไม่บรรลุผลสำเร็จ" รายงานผลการสอบสวน สตง.ระบุ
-----------------------------
ภาพประกอบจาก : oknation.net