ฟังอีกด้าน! กรธ.แจงส่งร่าง รธน.ให้ศาล รธน.ตีความก่อนถูกตีกลับ 2 ครั้งซ้อน
“…บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้องค์กรของรัฐสององค์กรที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการยกร่าง และดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความถูกต้องตรงตามที่ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตุลาการตามปกติ การส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ส่งไปตามปกติของการติดต่อระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกัน คือทำเป็นหนังสือราชการ และถ้าไม่ส่งทางไปรษณีย์ ก็ส่งโดยเจ้าหน้าที่ ไม่เคยปรากฏว่าต้องมีการมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่หรือบุรุษไปรษณีย์ไปส่งแทนแต่อย่างใด…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงกรณีการส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขตามผลการออกเสียงประชามติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
----
ตามที่สื่อมวลชนได้ลงข่าวในทำนองว่า กรธ. ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขตามผลการออกเสียงประชามติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วถูกตีกลับ เพราะบกพร่องในเรื่องการลงลายมือชื่อ และไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ อันอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายแก่การทำงานของ กรธ. ได้ จึงขอชี้แจงและทำความเข้าใจต่อสาธารณชนตามลำดับ ดังต่อไปนี้
หนึ่ง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2559 กรธ. ได้มีหนังสือราชการกราบเรียนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ลงนามโดยประธาน กรธ. ว่า กรธ. ได้จัดทำการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติให้สอดคล้องกับประเด็นเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงส่งมาเพื่อศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดดำเนินการต่อไปตาม มาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 พร้อมทั้งส่งร่างรัฐธรรมนูญและคำชี้แจงไปด้วย แต่เพื่อประโยชน์ของราชการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะได้ไม่ต้องไปจัดทำสำเนาขึ้นใหม่ จึงได้จัดทำเอกสารไปให้รวม 20 ชุด ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
สอง ในการส่งเอกสารดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของ กรธ. โทรศัพท์ประสานกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะนำเอกสารไปส่งในวันดังกล่าว และเพื่อที่จะรีบไปให้ทันเวลาราชการ จึงได้ให้ผู้ส่งสารใช้รถจักรยานยนต์นำเอกสารไปส่ง
แต่แม้กระนั้นก็ไม่อาจไปถึงที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในเวลาราชการ เนื่องจากการจราจรติดขัด ผู้ส่งสารไปถึงที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญเลยเวลาราชการไปประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิเสธที่จะรับหนังสือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เลยเวลาราชการแล้ว และเอกสารนั้นมิได้ทำเป็นคำร้องกับมิได้ลงนามกำกับเอกสารทุกหน้าในสำเนาเอกสารที่ส่งมาด้วย แต่ได้รับฝากเอกสารทั้งหมดไว้ก่อน โดยยังไม่ลงบันทึกว่าได้รับเอกสารไว้แล้ว กรธ. จึงให้เจ้าหน้าที่ไปรับเอกสารทั้งหมดกลับคืนมาในวันที่ 30 ส.ค. 2559
สาม เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 กรธ. พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า การดำเนินการในเรื่องนี้จำเป็นต้องทำเป็นคำร้องหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินการเรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่กำหนดว่า “… และเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับประเด็นดังกล่าว และมีผลให้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ให้ กรธ. ดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แล้วส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ”
ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว ได้กำหนดหน้าที่ของทั้งสององค์กรไว้ชัดเจนว่า กรธ. มีหน้าที่จัดทำและส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนด บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้องค์กรของรัฐสององค์กรที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการยกร่าง และดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความถูกต้องตรงตามที่ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ มิใช่เป็นการใช้อำนาจตุลาการตามปกติ การส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ส่งไปตามปกติของการติดต่อระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกัน คือทำเป็นหนังสือราชการ และถ้าไม่ส่งทางไปรษณีย์ ก็ส่งโดยเจ้าหน้าที่ ไม่เคยปรากฏว่าต้องมีการมอบฉันทะให้เจ้าหน้าที่หรือบุรุษไปรษณีย์ไปส่งแทนแต่อย่างใด
และเรื่องทำนองเดียวกันนี้ก็ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2551 (ภายหลังจากที่ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ใช้บังคับแล้ว) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. …. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 141 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 และอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2552 ประธานรัฐสภาได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ทั้งสองกรณีนี้ก็ทำเป็นหนังสือราชการส่งไปตามปกติ และศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้ดำเนินการโดยไม่เคยปรากฏว่าจะต้องมีการมอบฉันทะให้บุคคลใดไปส่ง กรธ. จึงได้ดำเนินการไปตามปกติที่เคยทำกันมา อันเป็นวิธีปฏิบัติที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559
สี่ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 ศาลรัฐธรรมนูญได้มี “หนังสือแจ้งคู่กรณี” แจ้งว่า จะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยแจ้งให้ทราบว่า คำร้องนี้ไม่มีใบมอบฉันทะของผู้ร้องให้นายนาถะ ดวงวิชัย (ผู้ช่วยเลขานุการ กรธ.) มายื่นแทน ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้ผู้ร้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ
ห้า ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งในหนังสือดังกล่าวว่า “มาตรา 45 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บัญญัติให้การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 17” ซึ่งเป็นการอ้างถึงมาตรา 45 ที่ยังไม่จบความ เพราะความตอนท้ายของมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มีบัญญัติต่อไปว่า “…. ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อวรรคหนึ่ง หรือรัฐธรรมนูญนี้”
ดังนั้นการใช้ข้อกำหนดนั้นต้องไม่ขัดต่อมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เช่น ในการนับระยะเวลาตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ระยะเวลาจะเริ่มนับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับไว้พิจารณา แต่ตามมาตรา 37/1 ระยะเวลาสามสิบวันให้นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
หก อย่างไรก็ดีเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือถึง กรธ. (เจ้าหน้าที่ของ กรธ. ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 18.15 น.) แจ้งให้ กรธ. ดำเนินการทำใบมอบฉันทะเพื่อมอบให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการแทน โดยให้ดำเนินการภายในวันที่ 5 ก.ย. 2557 กรธ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์ให้การดำเนินการในเรื่องนี้ลุล่วงไปด้วยดี และรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์กรศาลรัฐธรรมนูญไว้ กรธ. จึงได้ดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญ และได้มอบให้เจ้าหน้าที่นำใบมอบฉันทะพร้อมด้วยสำเนาบัตรประชาชนของประธาน กรธ. ที่มีลายมือชื่อกำกับไว้ (ตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ) และส่งกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2559
แม้ กรธ. ยังคงเห็นว่า กรธ. ได้ดำเนินกาถูกต้องตามมาตรา 37/1 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และถูกต้องตามแนวปฏิบัติที่เคยกระทำมาในอดีตแล้วทุกประการก็ตาม
อ่านประกอบ :
‘มีชัย’มอบฉันทะให้ จนท.รัฐสภาส่งร่าง รธน.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความรอบ 3
ศาลรธน.- กรธ.ขัดแย้งหนักตีกลับร่าง รธน.รอบ 2 ยันต้องยื่นคำร้องตามแบบ
ให้จนท.สภายื่นแทน-ไม่แนบใบมอบฉันทะ! ศาลรธน.แจงเหตุผลกลับร่าง รธน.รอบ 2