IS กับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เรายังขาดแคลนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นระบบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า IS เกี่ยวพันกับสังคมของเราอย่างไร และท่าทีของไทยต่อเรื่อง IS ควรจะเป็นอย่างไร?...
แม้ข่าวคราวเรื่อง IS ช่วงนี้จะซบเซาลงไปบ้าง เพราะสถานการณ์ของ IS ในตะวันออกกลางได้เปลี่ยนจากการเป็นฝ่ายรุกในช่วงปีสองปีที่แล้ว มาเป็นฝ่ายตั้งรับ หลังจากถูก “รุมกินโต๊ะ” อย่างหนักหน่วงจากหลายฝ่าย ทั้งมหาอำนาจ ไม่ว่าอเมริกาและชาติตะวันตก รัสเซีย ตุรกี อิรัก อิหร่าน ไปจนถึงกองกำลังชาวเคิร์ดและนักรบเฮซบุลเลาะห์ (และอีกมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งหลายกลุ่มนี้ก็ขัดแย้งกัน) แต่ก็ไม่มีใครพูดได้ว่า IS จะพ่ายแพ้ไปในเร็ววัน เพราะในขณะที่แนวรบในพื้นที่ของตนคือตะวันออกกลางเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายรับ แนวรบใหม่ของ IS ได้ลามเข้าไปในใจกลางดินแดนตะวันตกแล้ว ดังที่ปรากฏการก่อการร้ายในยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยคนที่ IS อ้างว่าเป็นคนของตน กับทั้งคนที่ได้แรงบันดาลใจจาก IS กล่าวในภาพรวม ที่แน่ๆ IS จะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการทำความเข้าใจการเมืองตะวันออกกลาง และการเมืองโลกไปอีกนาน อย่างไรก็ดี ในสังคมไทย ข้อมูลเรื่อง IS ที่แพร่หลายกันส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เขียนโดยสื่อและนักวิชาการตะวันตก ซึ่งมองจากสายตาของตะวันตกและวิเคราะห์เพื่อให้เห็นผลกระทบและเสนอท่าทีนโยบายของตะวันตกเป็นหลัก ดังนั้น เราจึงยังขาดแคลนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นระบบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า IS เกี่ยวพันกับสังคมของเราอย่างไร และท่าทีของไทยต่อเรื่อง IS ควรจะเป็นอย่างไร
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ในฐานะ Think Tank ด้านยุทธศาสตร์ ได้สนับสนุนการวิจัยเรื่อง ขบวนการรัฐอิสลาม (Islamic State: IS) ในฐานะตัวแสดงระหว่างประเทศ : นัยต่อโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย โดย อ.อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้วิจัย ในงานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ จะทำให้ผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องสามารถเข้าใจความเชื่อมโยงของสถานการณ์เรื่อง IS ที่เกิดขึ้นในโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายที่น่าสนใจต่อประเทศไทย ดังจะได้สรุปต่อไป
อ.อาทิตย์ ทองอินทร์
IS กับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกเหนือจากการรับรู้ว่า IS เป็นองค์กรก่อการร้ายอันดับหนึ่งที่เติบโตมาจากตะวันออกกลางและสร้างความครั่นคร้ามไปทั่วทั้งยุโรปและอเมริกาในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นสำหรับคนไทยคือ IS จะมีผลเกี่ยวพันสังคมไทยและภูมิภาคของเรามากน้อยอย่างไร อีกทั้งไทยควรมีท่าทีอย่างไรในเรื่องนี้
ในส่วนผลกระทบต่อประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่ระบุว่ามีคนไทยเข้าร่วมรบกับIS ที่ซีเรียแต่อย่างใด ส่วนข้อกังวลใหญ่ที่ว่าขบวนการต่อสู้ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) จะไปเข้าร่วมกับ IS นั้น เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องเป็นห่วงนัก เพราะขบวนการต่อสู้ใน จชต. มีอุดมการณ์และยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ที่แตกต่างและไม่ลงในร่องแนวทางเดียวกับ IS แต่อย่างใด กล่าวคือ ในขณะที่ IS เป็นกลุ่มก่อการร้ายศาสนานิยมที่มุ่งสร้างรัฐศาสนา ขบวนการต่อสู้ที่ จชต. มีลักษณะเป็นกลุ่มก่อการร้ายชาตินิยม ที่มีเป้าหมายคือเอกราชและการสร้างรัฐชาติของชาวมลายูปตานี และขบวนการต่อสู้ที่ จชต. ใช้ยุทธศาสตร์หลักคือ การยึดโยงอยู่กับหลักการ Self-Determination ที่สหประชาชาติให้การรับรองตาม
กฎหมายระหว่างประเทศ โดยใช้ปฏิบัติการเชิงข่าวสารในสถานการณ์ต่างๆ ที่รัฐไทยทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทำการใดๆ ที่ไร้มนุษยธรรม และการละเมิดกรอบพันธสัญญาระหว่างประเทศในส่วนที่ให้ความคุ้มครองสิทธิความเป็นมนุษย์และสิทธิพลเมืองอย่างเป็นสากล ดังนั้น ถ้าพวกเขาตัดสินใจร่วมกับ IS แทนที่สหประชาชาติและตะวันตกอาจเป็นตัวแปรช่วยแยกประเทศได้ ตัวแสดงเหล่านี้จะหันกลับมาเป็นตัวแปรรองรับความชอบธรรมต่อ “ปฏิบัติการใดๆ ก็ได้” ของรัฐไทยในการบดขยี้เครือข่ายของภัยคุกคามตัวร้ายที่สุดของตะวันตกแทน กล่าวง่ายๆ คือ ถ้าขบวนการต่อสู้ใน จชต.ประกาศตัวร่วมกับ IS เมื่อใด ก็จะเปิดช่องให้รัฐไทยใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามอย่างเต็มที่ในนามของการต่อต้านการก่อการร้ายสากลได้ อย่างไรก็ดี ในระดับพื้นที่ก็อาจปรากฏการใช้การต่อสู้ของ IS ปลุกเร้าสร้างแรงบันดาลใจให้กับการต่อสู้ของกลุ่มระดับปฏิบัติการในท้องถิ่นบ้างพอสมควร แต่คาดว่าเป็นเพียงการใช้ IS เป็นตัวอย่างให้คนท้องถิ่นต่อสู้เพื่อเป้าหมายระดับท้องถิ่น ไม่ใช่การปลุกให้ไปร่วมกับ IS แต่อย่างใด
สำหรับความเสี่ยงที่ไทยจะเป็นเป้าถูกโจมตีนั้น กล่าวโดยทั่วไป ที่ผ่านมาไทยตกเป็นพื้นที่ก่อเหตุโดยกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติต่างๆ มาแล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง (เท่าที่ปรากฏข่าวในทางเปิด) ลักษณะการเกิดเหตุก่อการร้ายข้ามชาติในไทยส่วนใหญ่ มิได้มีเป้าหมายโจมตีประเทศไทยโดยตรง แต่มุ่งทำลายผลประโยชน์ของศัตรูในประเทศไทย เช่น สถานทูต บุคคลสำคัญ บริษัท ของชาตินั้นๆ เป็นต้น เหตุลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุสำคัญคือระบบรักษาความปลอดภัยของไทยอ่อนแอกว่าระบบของชาติเป้าหมายของการก่อเหตุ หรือเรียกอีกอย่างว่าเราเป็น “Soft Target” ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดการเข้ามาเคลื่อนไหวและการก่อเหตุโจมตีด้วยเหตุผลอีก 6 ข้อ คือ (1) การมีขบวนการลักลอบพาคนเข้าเมือง และมีช่องทางลักลอบเข้าเมืองไทยตามบริเวณชายแดนอยู่หลายจุด (2) การตรวจคนเข้าเมืองของไทยไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว (3) การมีแหล่งปลอมแปลงเอกสารชั้นเยี่ยมอยู่หลายแห่ง (4) ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อาจจัดหาเงินทุนที่ใช้ในการก่อการร้ายได้ มีการค้าขายสินค้าและบริการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการแพร่กระจายของยาเสพติดอยู่มาก (5) การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค และ (6) การเป็นที่ที่สามารถจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะใช้ในการก่อการร้ายได้ง่าย
เมื่อกล่าวถึงความเสี่ยงจากการโจมตีของกลุ่ม IS ในไทย พบว่าเมื่อปลายปี 2015 หน่วยข่าวกรองของรัสเซียประสานผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ แจ้งเตือนความเป็นไปได้ในการก่อเหตุร้ายของกลุ่ม IS ต่อผลประโยชน์ของรัสเซียในประเทศไทย โดยระบุว่า มีชาวซีเรีย 10 รายที่เกี่ยวข้องกับ IS เดินทางเข้าไทยแล้วระหว่างวันที่ 15-31 ตุลาคม 2015 ก่อนแยกกลุ่มเดินทางไปพัทยา 4 ราย ภูเก็ต 2 ราย กทม. 2 ราย ส่วนอีก 2 ราย ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด และยังไม่ทราบชื่อทั้งหมด ซึ่งทางการไทยปฏิเสธว่าไม่มีอยู่จริง อีกกรณีหนึ่งคือ หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายในกรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนมกราคม 2016 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงจาการ์ตา ได้แถลงกับสื่อหลังเกิดเหตุการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า เซลล์ของ IS ได้เข้ามาฝังตัวในประเทศไทยแล้ว ขณะที่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2016 สหรัฐอเมริกาก็แจ้งเตือนไทยว่า กลุ่ม IS มีเป้าหมายโจมตีผลประโยชน์ของอเมริกาในไทย อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ปรากฏเหตุก่อการร้ายขึ้น และยังไม่เคยมีการแจ้งข่าวเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ IS จะโจมตีไทยจากรัฐบาลไทยเองแต่อย่างใด
เมื่อมองกว้างออกไปในระดับภูมิภาค พื้นที่ที่ IS อ้างว่าเป็น “วิลายะฮฺ” หรือพื้นที่ในปกครองของ “รัฐอิสลาม” นอกจากในอิรักและซีเรียแล้ว ปัจจุบันมีอีก 8 พื้นที่ หนึ่งในนั้นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า IS อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของอาเซียนเท่าไรนัก พื้นที่เหล่านี้ได้แก่ บางส่วนของ 1) ลิเบีย 2) คาบสมุทรซีนายของอียิปต์ 3) อัลจีเรีย 4) พรมแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน 5) เยเมน 6) แอฟริกาตะวันตก 7) ดินแดนคอเคซัสตอนเหนือ 8) เกาะบาซิลัน ฟิลิปปินส์ตอนใต้ จุดร่วมของพื้นที่เหล่านี้คือเป็นพื้นที่ที่มีสุญญภาพทางอำนาจ มีสงครามกลางเมือง หรือเป็นที่ที่อำนาจรัฐไม่สามารถควบคุมปกครองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด IS ก็จะอาศัยช่องโหว่นี้แทรกตัวเข้าไป ร่วมมือกับ “กลุ่มกบฏ” ในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายหลังก็ได้ยกระดับศักยภาพและชื่อเสียงของพวกตนจากระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ให้เป็นระดับ “อินเตอร์”
นับจนถึงเดือนเมษายน 2559 มีรายงานว่าคนอาเซียนจาก มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เดินทางไปร่วมกับ IS ที่อิรักและซีเรียอยู่ในจำนวนระหว่าง 200-800 คน ในจำนวนนี้ยังไม่พบว่ามีคนไทย คนเหล่านี้รวมกลุ่มกันที่ซีเรียในชื่อว่า “คอดิบะฮฺ นูซันตารา ลิด อิสลามิก เดาละฮฺ (Katibah Nusantara Lid Islamic Dawlah)” แปลได้ว่า “แนวร่วมเพื่อสร้างรัฐอิสลามในโลกมาเลย์” โลกมาเลย์นี้ก็คืออาเซียนภาคสมุทร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และสามจังหวัดภาคใต้ของไทย ซึ่งเหตุผลที่คนจากอาเซียนเหล่านี้เดินทางไกลไปร่วมกับ IS นั้น มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกี่ยวโยงกับประเด็นขัดแย้งของสองนิกายซุนนียฺ-ชีอะฮฺ เพราะมุสลิมในอาเซียนของเราส่วนใหญ่เป็นซุนนียฺ ซึ่งอาจมีบางคนมองว่า การเดินทางไปร่วมต่อสู้กับรัฐบาลชีอะฮฺที่โหดเหี้ยมในซีเรีย และรัฐบาลชีอะฮฺที่เป็นหุ่นเชิดของอเมริกาในอิรักเป็นหน้าที่และเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ในขณะที่หลายคนอาจเดินทางไปเพราะต้องการไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในซีเรีย ในฐานะพี่น้องมุสลิมที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แต่เมื่อไปถึงแล้ว หลายคนอาจหลงเชื่ออุดมการณ์และวาทกรรมของ IS และเข้าร่วมในที่สุด
นอกจากคนที่เดินทางไปเข้าร่วมถึงอิรักและซีเรีย ในช่วงที่ IS ขยายตัวอย่างรวดเร็วในตะวันออกกลาง นับแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ยังพบด้วยว่ากลุ่มก่อการร้ายใหญ่ๆ ในอาเซียนเอง เช่น JI และอาบูไซยาฟ ได้ทยอยประกาศ “สวามิภักดิ์” ต่อผู้นำ IS คือ อบู บักรฺ อัล-บักฮฺดาดี ด้วย ซึ่งก็น่าจะทำไปด้วยเหตุผลทางการประชาสัมพันธ์ชื่อตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรก่อการร้ายระดับสากลด้วย ดังที่กล่าวมา เพื่อเพิ่มการเป็นที่รู้จัก ศักยภาพในการระดมคน ทุน และอาวุธ การฝึกฝนถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง การประกาศต่อสาธารณะว่าสวามิภักดิ์ต่อ IS มิได้ทำให้เกิดเอกภาพในระหว่างกลุ่มก่อการร้ายพื้นเมืองของอาเซียนได้เท่าใดนัก เพราะระหว่างกลุ่มเหล่านี้ ยังขาดผู้นำที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ผลจาก IS จึงไม่น่าทำให้เกิดการประสานความร่วมมือก่อการร้ายขนาดใหญ่ขึ้นมาในภูมิภาค แต่อาจจะทำให้เกิดการก่อการร้ายในสเกลเล็กมากขึ้น เพื่อแข่งกันนำมากกว่า
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสังคมและรัฐไทย
ในขั้นพื้นฐานที่สุด งานวิจัยฉบับนี้เสนอว่า ในเชิงทัศนคติ สังคมและรัฐบาลไทยต้องไม่ตกหลุม IS โดยการไปต่อต้านศาสนาอิสลามแบบเหมารวม การกระทำของ IS นั้นขัดต่อหลักอิสลามนานัปการ ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมใดๆ จากศาสนาอิสลามได้ แต่เพราะกลยุทธ์สำคัญของ IS คือการโหนวาทกรรมอิสลาม VS. โลกที่เหลือ (โดยเฉพาะตะวันตก) เราจึงต้องทำในสิ่งตรงกันข้าม คือลดความรู้สึกหวาดระแวง เสริมสร้างความเป็นมิตรให้เกิดขึ้นระหว่างคนไทยไม่ว่าศาสนาใด ไม่เอาเรื่องศาสนามาเป็นเครื่องแบ่งแยก เราในที่นี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไทยทุกคน ไม่ว่ารัฐบาล สื่อ ราชการ และประชาชนทั่วไป นโยบายใดๆ ของรัฐไทยต่อเรื่อง IS จึงควรทำไปบนหลักการนี้
นอกจากการ “ปรับทัศนคติ” ของรัฐไทยและคนไทยต่อศาสนาอิสลามและเพื่อนชาวมุสลิมแล้ว งานวิจัยฉบับนี้ยังเสนอให้ เสริมสร้างระบบความมั่นคง ในการป้องกันภัยคุกคามจากการก่อการร้ายไว้ว่า เนื่องจากแบบแผนการก่อเหตุของกลุ่ม IS ได้แก่ เมืองใหญ่เกือบทั่วโลก โดยมุ่งโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเมือง ดังนั้น การป้องกันก็ต้องยืนอยู่บนหลักคิดเรื่องความมั่นคงของเมือง (Urban Security) ซึ่งใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกศูนย์กลางในการรักษาความปลอดภัยด้วยมาตรการต่างๆ พร้อมกันนั้นก็ต้องมีการวางระบบควบคุมการผ่านเข้า-ออกประเทศที่รัดกุมมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ การตรวจม่านตาหรือ DNA และแม้ปัจจุบันท่าอากาศยานจะมีระบบ Advanced personnel processing อันทำหน้าที่ตรวจสอบผู้โดยสารจากต้นทางแล้ว ก็ยังควรให้น้ำหนักมากขึ้นกับการเชื่อมข้อมูลเข้ากับฐานข้อมูลกลางของตำรวจสากล ตลอดจนการควบคุมวัตถุดิบของการก่อเหตุ ซึ่งไม่เพียงเกี่ยวเนื่องในชั้นของศุลกากรเท่านั้น หากแต่ยังต้องยกระดับให้เข้มข้นขึ้น เช่น ในอนาคตอาจใช้ระบบสัญญาณวิทยุควบคุมสินค้า (ที่สามารถนำไปผลิตอาวุธ) ที่ไหลเข้าออกแต่ละจังหวัดและบริษัท ห้าง ร้าน ต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนให้ใช้เงินเป็นการ์ด ยกเลิกการใช้เงินกระดาษ อันจะช่วยให้สามารถติดตามการทำธุรกรรมทุกชนิดในประเทศได้
ขณะเดียวกัน นอกจากการมีระบบความมั่นคงที่ดีแล้ว การรับมือกับ IS ก็ต้องอาศัยการวางตัวทางการทูตที่เหมาะสม ด้วย กล่าวคือ แม้การขจัดศักยภาพของ IS ในการก่อเหตุข้ามชาติ จำเป็นต้องวางอยู่บนกรอบความร่วมมืออย่างแข็งขันกับประชาคมระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารบนฐานข้อมูลเดียวกัน และการตัดเส้นทางทางการเงิน อาวุธ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องคำนึงว่า ประเทศไทยเองแม้มีความเสี่ยงถูกโจมตี แต่ปัจจุบัน เราไม่ใช่ศัตรูและเป้าหมายโดยตรง ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือการถูกกดดันจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่จะบีบให้ไทยจะต้องเลือกข้าง หากเราร่วมมืออย่างแข็งขัน ก็จะทำให้เรากลายเป็นประเทศเป้าหมายได้ สิ่งสำคัญคือการวางตัวของไทย ที่จะต้องไม่แสดงท่าทีเลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่ควรมีแนวทางในลักษณะที่คำนึงถึงมนุษยธรรมและการไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด
ข้อเสนอสุดท้าย สำหรับการขจัดสาเหตุรากเหง้าที่คนไทยจะไปเข้าร่วมกับ IS หรือโอกาสเสี่ยงที่IS จะแผ่อิทธิพลเข้ามายังไทย คือ การขจัดปมเงื่อนไขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต้องได้รับการผลักดันให้ก้าวหน้าโดยเร็วที่สุด การเปิดพื้นที่ทางการเมือง เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นของเขา และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมในมิติต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถึงแม้ IS กับกลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ จชต. จะมีเป้าหมายอุดมการณ์ และยุทธศาสตร์ที่ไม่ตอบสนองต่อกัน แต่หากการเจรจาไม่เดินหน้า และยังคงปรากฏข้อที่ทำให้อีกฝ่ายเคลือบแคลงต่อความจริงใจของฝ่ายรัฐ และยังคงปรากฏกรณีความไม่เป็นธรรมอยู่เป็นระยะๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่นักต่อสู้ในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งอาจมองว่า ตัวแทน(?) จากฝั่งของเขากำลัง “ติดกับดักการเจรจา” และอาจแตกตัวออกไปใช้แนวทางสุดโต่งมากขึ้นในการเรียกร้องความเป็นธรรม