- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- จับเข่าคุย'วินธัย สุวารี' เบื้องหลังประมูลซาก 'ชีนุก' ล่ม3ครั้ง กองทัพรู้ทันเอกชน!
จับเข่าคุย'วินธัย สุวารี' เบื้องหลังประมูลซาก 'ชีนุก' ล่ม3ครั้ง กองทัพรู้ทันเอกชน!
"..ในทางปฏิบัติต้องให้กองทัพ เป็นผู้ตัดสินใจครั้งสุดท้ายว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันหลังผลประมูลครั้งที่ 3 จบลง ก็มีการเสนอเรื่องให้กองทัพบก ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณา เป็นผู้ตัดสินใจครั้งสุดท้าย ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ คงต้องรอฟังคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง.."
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวการประมูลขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 หรือ ฮ.ล.47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำ (เครื่อง) พร้อมชิ้นส่วน เครื่องมือซ่อมบำรุง และบริภัณฑ์ภาคพื้น ราคากลาง 420 ล้านบาท ซึ่งจัดประมูลไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้นั้น
(อ่านประกอบ : ข้อมูลใหม่‘บอลบิน’ผู้ชนะประมูลชีนุก 420 ล. เป็น‘คู่ค้าเก่า’แลกรถยนต์ชำรุด 128 คัน , ประมูลชีนุกรอบ 3 ส่อล้ม 'จิรภัทร'ส่ง บ.ใหม่แข่ง- รับ ใช้ชื่อ'ลูกน้อง'ซื้อซากรถ 128 คัน)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2559 พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การประมูลขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 หรือ ฮ.ล.47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำ (เครื่อง) พร้อมชิ้นส่วน เครื่องมือซ่อมบำรุง และบริภัณฑ์ภาคพื้นดังกล่าว เป็นความตั้งใจดีของกองทัพ ในการหาทางสร้างประโยชน์ตอบแทนจากซากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ปลดระวางไม่สามารถใช้งานได้แล้ว คืนกลับต่อราชการ กองทัพไม่มีเจตนาที่จะแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินการเรื่องนี้ ในทางตรงกันข้ามการทำงานของกองทัพที่ผ่านมา ยังเป็นการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของราชการอีกด้วย
พันเอกวินธัย กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประมูลขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ปลดระวางไปแล้ว ก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นซาก ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร
แต่พอมาถึงกรณีเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 กองทัพบกจึงมีความคิดริเริ่มที่จะทำให้ซากเกิดประโยชน์ได้
โดยเริ่มต้นจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับ เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 60 M (BLACK HAWK หรือ แบล็ค ฮอว์ค-เหยี่ยวดำ) จำนวน 1 ลำ (ผ่าน บริษัท เมอร์ลิน อินเทลลิเจ้นท์ ทรี จำกัด ตัวแทนบริษัทค้าอาวุธยุทธภัณฑ์รายใหญ่จากสหรัฐ)
"แต่เนื่องจากอาวุธของฝ่ายที่จะแลกเปลี่ยนด้วย ยังไม่ถึงขั้นที่ทางกองทัพพอใจ ได้ไม่คุ้มเสีย เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงมีการยกเลิกการแลกเปลี่ยนดังกล่าวไป"
พันเอกวินธัย กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่การแลกเปลี่ยนถูกยกเลิกไป ก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีมาใช้การเปิดประมูลแทน
แต่จนถึงปัจจุบันดำเนินการมา 3 ครั้ง แล้ว ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยเฉพาะผลตอบแทนที่ประเทศชาติจะได้รับ กองทัพ จึงยังไม่ขายให้ใคร
"อำนาจการขายสินค้าของที่กองทัพ ถ้าไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ก็ไม่จำเป็นที่กองทัพต้องไปตอบรับอะไรกับเอกชน เพราะการทำงานของกองทัพ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเอกชนอยู่แล้ว"
โฆษกกองทัพบก ยังชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการประมูลขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 หรือ ฮ.ล.47 ทั้ง 3 ครั้ง ที่ผ่านมาว่า "ในการประมูลครั้งแรก กองทัพบก ได้สอบราคาจากเอกชนรายหลาย เพื่อหาราคากลางของสินค้า ซึ่งมีเอกชนหลายราคาเสนอมา ทั้ง 600 ล้านบาท 400 ล้านบาท 200 ล้านบาท แต่เพื่อให้การดำเนินการของราชการได้รับประโยชน์สูงสุด
กองทัพจึงเลือกราคาที่ดีที่สุด มากำหนดเป็นราคากลาง คือ 600 ล้านบาท
แต่ปรากฎว่า เมื่อเปิดประมูลไปแล้ว บริษัทเอกชนที่เคยแจ้งราคา 600 ล้านบาท กลับไม่มายื่นซองเสนอราคา
ส่วนเอกชนที่เข้ามาให้ราคามาสูงที่สุด อยู่ที่ 400 ล้านบาท เท่านั้น การประมูลราคาครั้งที่ 1 จึงถูกยกเลิกไป และนำมาสู่การประมูลครั้งที่ 2 ในราคากลางที่ 400 ล้านบาท
แต่ปรากฎว่าเอกชนที่เข้ามาเสนอราคา กลับมีคุณสมบัติไม่ครบ ไม่วางหลักประกัน ซึ่งกรณีการประมูลครั้งที่ 3 ก็มีปัญหาลักษณะเดียวกัน ทางกองทัพ ก็มองเห็นพฤติการณ์บางอย่างของฝ่ายเอกชนมีปัญหาแล้ว
เมื่อถามว่า การที่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง มาเสนอราคาในครั้ง ที่ 2 และ 3 แต่มีคุณสมบัติไม่ครบ ไม่วางหลักประกัน ชี้ให้เห็นเจตนาบางอย่าง เป็นไปได้หรือไม่ ที่ฝ่ายเอกชนอาจจะคิดว่า ถ้ากองทัพยังประมูลไม่ได้ในรอบที่ 2 และ 3 ราคากลางอาจจะลดลงอีก แล้วคงจะเข้ามาซื้อของในราคาถูก เพื่อนำไปขายต่อในราคาแพง
โฆษกกองทัพบก ตอบว่า "เราก็มีความเห็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่เราไม่ยอมหรอก เรารู้ทันหมด"
เมื่อถามว่า หลังการประมูลครั้งที่ 3 ที่จบลง ทางกองทัพจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป
โฆษกกองทัพ ตอบว่า "ก็อย่างที่บอกอำนาจการขายเป็นของเรา และการทำงานของเรา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเอกชน ซึ่งโดยส่วนตัว คิดว่าถ้ามันมีปัญหาแบบนี้ ก็ไม่ควรมีใครได้ไป เราสามารถนำของไปทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ขณะนี้ผมยังพูดอะไรชัดเจนไม่ได้
"เพราะในทางปฏิบัติต้องให้กองทัพ เป็นผู้ตัดสินใจครั้งสุดท้ายว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันหลังผลประมูลครั้งที่ 3 จบลง ก็มีการเสนอเรื่องให้กองทัพบก ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณา เป็นผู้ตัดสินใจครั้งสุดท้าย ว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ คงต้องรอฟังคำตอบที่ชัดเจนอีกครั้ง " โฆษกองทัพ ระบุ