ขมวด5ปมร้อน!ปัญหาเงินสหกรณ์จุฬาฯ ก่อนศึกประชุมใหญ่วิสามัญ16 มิ.ย.นี้
"...มีการนำเงินสหกรณ์ไปลงทุนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสหกรณ์อื่นๆที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนมาก รวมๆแล้วทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้รับคืนมากกว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งมีข่าวว่าผู้บริหารสหกรณ์เหล่านั้นมีปัญหา อีกทั้งสมาชิกสหกรณ์ของเขาล้วนไม่มีเงินเดือนประจำให้หักชำระหนี้ ณ ที่จ่าย ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว ส่งผลให้กำไรปีที่แล้วลดลงกว่า 200 ล้าน.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2559 รองศาสตราจารย์ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด (2518-2525) ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และเรียกร้องให้สมาชิกฯ ไปเข้าร่วมประชุมและซักถามข้อเท็จจริง ในการประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 16 มิ.ย.2559 เวลา 14.00 น. ตึกมหิตลาฯ คณะบัญชี
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. มีการนำเงินสหกรณ์ไปลงทุนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสหกรณ์อื่นๆที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนมาก รวมๆแล้วทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้รับคืนมากกว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งมีข่าวว่าผู้บริหารสหกรณ์เหล่านั้นมีปัญหา อีกทั้งสมาชิกสหกรณ์ของเขาล้วนไม่มีเงินเดือนประจำให้หักชำระหนี้ ณ ที่จ่าย ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว ส่งผลให้กำไรปีที่แล้วลดลงกว่า 200 ล้าน สมาชิกที่เคยได้รับเงินปันผลมากกว่าร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อย 4 กว่าๆ ต้องไปนำเงินทุนรักษาระดับอัตราปันผลที่เก็บสะสมมาตั้งก่อตั้งสหกรณ์เมื่อปี 2504 มาสมทบจ่ายปันผลให้ได้ร้อยละ 5.50 เมื่อยังไม่รับเงินลงทุนมากขนาดนั้นย่อมจะส่งผลถึงผลประกอบการปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2559 สมาชิกมีมติไม่ผ่านงบประมาณประจำปีที่คณะกรรมการฯเสนอ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งสหกรณ์ฯเนื่องจากสมาชิกพบว่างบประมาณหลายรายการตั้งมาสูงเกินไป และมีมติให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองงบประมาณให้ไปศึกษาเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณนี้ด้วย หลังจากนั้นก็ต้องยุติการประชุมเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ
3. เมื่อมีการเรียกประชุมในครั้งต่อมา คณะกรรมการฯได้เรียกประชุมใหญ่สามัญ(ต่อเนื่อง) ซึ่งขัดกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติสหกรณ์ ที่กำหนดให้คณะกรรมการฯต้องเรียกประชุมใหญ่ในครั้งถัดไปต้องเป็นการ “ประชุมใหญ่วิสามัญ”เท่านั้น เนื่องจากกฏหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าการประชุมใหญ่สามัญจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในรอบปีเท่านั้น ประเด็นนี้มีสมาชิกได้ทักท้วงทั้งก่อนเปิดประชุม และทักท้วงในที่ประชุมก่อนเริ่มวาระแรก แต่ไม่เป็นผล การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฏหมาย และมีสมาชิกได้นำการจงใจฝ่าฝืนกฏหมายนี้ฟ้องร้องต่อศาลแล้ว
4. สมาชิกกลุ่มหนึ่งที่สนใจติดตามความเป็นไปของสหกรณ์ฯมาตลอดตั้งปี 2556 เป็นต้นมาด้วยความห่วงใยในความอยู่ได้ไปรอดของสหกรณ์ฯได้เข้าร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เข้ามาสอบสวนทำความจริงต่างๆให้ปรากฏโดยเฉพาะการนำเงินไปลงทุนในปี 2556 ตามที่กล่าวแล้วในข้อ 1 และเกี่ยวเนื่องกับที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ ที่แล้ว
(อ่านประกอบ : ทยอยใช้หนี้แล้ว! ปธ.สหกรณ์จุฬาฯยันสมาชิกไม่ต้องกังวลปมปล่อยกู้สหกรณ์คลองจั่นฯ, เจาะเงื่อนปมสหกรณ์จุฬาฯปล่อยกู้สหกรณ์คลองจั่น 1.4 พันล.ชงดีเอสไอสอบ)
5. หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับ ดูแลสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไม่ค่อยมีบทบาทกับปัญหาต่างๆ ไม่มีมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาต่างที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ต่างๆจนเกิดความเสียหายเป็นอันมาก และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ไทยทั้งประเทศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นต้น
"จึงขอเรียกร้องให้ชาวจุฬาฯมวลสมาชิก ตื่นรู้ข้อเท็จจริง พิทักษ์ความถูกต้อง รักษาสิทธิประโยชน์อันชอบธรรม พฤหัสฯที่ 16 มิถุนา เวลา 14:00น. ตึกมหิตลาฯ คณะบัญชี ไปประชุมและซักถามข้อเคลือบแคลงสงสัย ประเด็น ยูเนี่ยนคลองจั่น, มงคลเศรษฐี, นพเก้ารวมใจ, ฯลฯ "