ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้บริบทโลกใหม่และสังคมไทยที่เปลี่ยนไป
กุญแจสำหรับยุทธศาสตร์พัฒนาบ้านเมืองที่เราหา อยู่ในที่มืด คือพลังชาวบ้าน พลังท้องถิ่น พลังประชาสังคม ซึ่งเป็นพลังที่แท้จริง แต่คนมักมองข้าม ไม่ใช่รัฐหรือชนชั้นนำในวงวิชาการซึ่งอยู่ในที่สว่างที่คนมักหันไปหา สังคมไทยมีพลังในการแก้ปัญหาอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว
วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ได้จัดเวทีระดมสมอง เรื่อง ยุทธศาสตร์ประเทศไทยภายใต้บริบทโลกใหม่และสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ณ โรงแรมหัวช้างเฮอริเทจ ราชเทวี กทม.โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายวงการ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ อาทิ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ดร.สารสิน วีระผล อดีตเอกอัครราชทูตและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ รศ.วิวัฒน์ มุ่งการดี อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและอดีตอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตเอกอัครราชทูตอนุสนธิ์ ชินวรรโณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองและผู้อำนวยการสถาบันจีน-ไทยแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต พลโทเจิดวุธ คราประยูร ผู้บัญชาการวิทยาลัยเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ฯลฯ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอยุทธศาสตร์ไทย จาก ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้อำนวยการสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ และอธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และระดมสมองในหัวข้อดังกล่าว
สถานการณ์โลกและสถานการณ์สังคมไทยที่เปลี่ยนไป
ศ.ดร. เอนก เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลกและสังคมไทยที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราอยู่ในโลกที่คู่ขับเคี่ยวแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่คู่นี้ทั้งขัดแย้งและร่วมมือกัน เราอยู่ในโลกที่จีนและเอเชียมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่ายุคบูรพาภิวัตน์ และในด้านการต่างประเทศที่ส่งผลกับไทยโดยตรงนั้น นโยบายต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของจีนในยุคนี้คือ One Belt One Road (OBOR) เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะผ่านอาเซียนและไทยด้วย และเรายังอยู่ในยุคที่จีนและเอเชียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งใหม่ของโลก ยุคที่ความรู้ตะวันออกกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
เรายังพบว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ ประเทศไทยได้เปลี่ยนไปในทางยุทธศาสตร์ ที่ตั้งของไทยกลายเป็นภูมิศาสตร์ชั้นเลิศของภูมิภาคเอเชียและโลก เป็นจุดตัดของบรรดามหาอำนาจแห่งยุคทั้ง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐ เข้ามาปะทะสังสรรค์กัน และคาบสมุทรภาคใต้ของเราก็มีสองมหาสมุทรที่สำคัญขนาบข้าง คือมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก และเรายังมีฐานทรัพยากรมากมาย มีความหลากหลายทางชีวภาพ และอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก เป็นศูนย์รวมสัตว์ป่าของภูมิภาคเอเชีย และเป็นแหล่งนิเวศชั้นนำของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
จุดแข็งและจุดอ่อนของไทย
ในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงนี้ ศ.ดร.เอนก ได้มองจุดแข็งของสังคมไทยว่า สังคมไทยปรับตัวได้ค่อนข้างดี และรัฐปรับตัวได้พอสมควร ขณะที่ประชาชน ประชาสังคมและมวลชนรากหญ้า มีความสามารถและปรับตัวได้ดีกว่าความคาดหมาย นอกจากนี้ สังคมไทยกลายเป็นชนชั้นกลางค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้โอกาสที่สังคมจะ polarize ค่อนข้างยาก การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบรุนแรง เช่นการปฏิวัติจะเกิดได้ยากในอนาคต
สำหรับจุดอ่อนของสังคมไทยคือ เราคิดในทางลบมากไป และคิดในทางสร้างสรรค์น้อยไป และเรายังมีความเหลื่อมล้ำมาก ทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้และทรัพย์สินค่อนข้างต่ำ จึงส่งผลต่อการที่จะนำมาใช้เป็นพลังให้กับบ้านเมืองได้น้อยไป ที่สำคัญเราใช้ท้องถิ่นมาเป็นพลังในการพัฒนาบ้านเมืองน้อยเกินไป
กรอบคิดเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ไทย
ภายใต้สถานการณ์รอบตัวที่เปลี่ยนไปนี้ ศ.ดร. เอนก ได้เสนอกรอบคิดเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ไว้ กอปรด้วยประเด็นหลัก คือ
• ต้องสร้างคนไทยยุคใหม่ ด้วยการลงทุนทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ปรับกระบวนทัศน์คนไทยให้มองจากโอกาส มากกว่ามองจากปัญหา สร้างคนที่รู้กว้าง รู้รอบ และรู้ไกล มองความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ มองแบบองค์รวม มากกว่าคนรู้ลึก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างเดียว
• ควรใช้ความรู้ของตะวันตกเป็นฐาน แต่ต่อยอดด้วยความรู้ตะวันออกด้วย เชื่อมความร่วมมือด้านการศึกษากับจีนและเอเชียให้มากขึ้น และควรเป็นอิสระจากมหาอำนาจ แต่เป็นมิตรกับทุกอำนาจ
• ปรับ ลด ปลด เปลี่ยนบทบาทของของรัฐ และต้องทำเฉพาะในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้เท่านั้น รัฐต้องส่งเสริมท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และปล่อยให้ท้องถิ่น ประชาสังคมเข้าช่วยดูแลจัดการทรัพยากร ท้องถิ่นต้องรู้-ทำ นำหน้าส่วนกลาง ก้าวไประดับโลกได้ ไม่ต้องรอส่วนกลางนำหน้า ของดีต้องอยู่ที่ท้องถิ่น ไม่ใช่เฉพาะที่ส่วนกลาง
• ควรใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งและภูมิศาสตร์ชั้นเลิศของเราให้เต็มที่ในการพัฒนาประเทศ
• สร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือรักษาวัฒนธรรมและธรรมชาติของประเทศ โดยทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องของท้องถิ่น ของคนรายย่อย มากกว่าตกอยู่ในมือนายทุนใหญ่ รัฐส่วนกลางอย่างเดียว เช่น บังคับให้ใช้ไกด์ท้องถิ่น
แนวทางการปฏิรูปแบบ Harmony
ศ.ดร.เอนก มองการปฏิรูปในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่า เป็นการปฏิรูปจากปัญหาที่แบ่งยิบย่อยมากเกินไป จะเป็นการแก้ปัญหาไม่จบสิ้น การปฏิรูปควรทำเฉพาะเรื่องหลักๆเท่านั้น แล้วเรื่องปลีกย่อยจะแก้ปัญหาไปได้เอง อุปสรรคอีกเรื่องคือคนที่อยากจะทำปฏิรูปก็ไม่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจก็ไม่แน่ใจว่าอยากจะปฏิรูปจริงหรือไม่
ศ.ดร.เอนก จึงได้เสนอแนวทางปฏิรูปแบบ Harmony ซึ่งมีหลักการคือ อย่าลอกตัวแบบจากตะวันตกเพียงอย่างเดียว ควรใช้ประสบการณ์ตะวันออกและประสบการณ์ของไทยด้วย ควรทำแบบ Win-Win และยึดหลัก Harmony คิดให้ทุกอย่างทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ มากกว่าที่ชอบจับทุกอย่างมาขัดแย้งกันอย่างที่ผ่านมา
การสร้างสำนักคิด
และเพื่อสร้างองค์ความรู้รองรับการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จะปฏิรูปแต่ละครั้งค่อยตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาแต่ละที และเป็นความรู้ที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบตะวันตก แต่สังเคราะห์จากประสบการณ์ของเราและประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้ ศ.ดร. เอนก จึงเสนอให้ตั้ง “สำนักคิด” ของไทยเองในด้านต่างๆ และระดับต่างๆทั้งชาติและท้องถิ่น และต้องกล้าส่งออกความรู้ของเราให้โลกด้วย เช่น เรื่องการท่องเที่ยว ไม่ควรไปลอกหลักสูตรคณะจัดการการท่องเที่ยวของตะวันตกมา ควรสร้างสำนักคิดที่สอนการจัดการการท่องเที่ยวในแบบของระนอง แบบของล้านนา แบบของอีสาน หรือสำนักคิดที่ศึกษาความรู้ตะวันออก จีน อินเดีย มุสลิม เพื่อปรับใช้กับสังคมไทย
ข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมประชุม
พลโทเจิดวุธ คราประยูร ผู้บัญชาการวิทยาลัยเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เสนอให้กำหนดเป้าหมาย และกลไกร่วมกันก่อนที่จะทำยุทธศาสตร์ชาติ เพราะยุทธศาสตร์คือวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมาย จึงต้องกำหนดเป้าหมายก่อน
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ แสดงความคิดเห็นว่า เป้าหมายของการทำยุทธศาสตร์ไทยควรอยู่ที่การปรับสมดุลความสัมพันธ์ทางอำนาจที่บิดเบี้ยวไประหว่าง รัฐ เอกชน ประชาสังคม เช่น อำนาจรัฐและอำนาจสะสมทุนถูกผูกขาด ประชาชนเข้าไม่ถึง รัฐและเอกชนฮั้วกัน ต้องทำให้ใครก็เข้าสู่อำนาจได้ ใครก็สะสมทุนได้
ขณะที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เสนอว่า การทำยุทธศาสตร์ชาติควรเกิดจากความร่วมมือระดมสมองระหว่างภาคส่วนต่างๆในสังคม มากกว่าเป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงานที่ไม่บูรณาการกันอย่างที่เป็นอยู่ จึงเสนอให้ตั้ง “เครือข่ายวิจัยยุทธศาสตร์ชาติ” ดึงเอาหน่วยงานมันสมองในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มาร่วมกันทำเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวด้วย
อดีตเอกอัครราชทูตสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เสริมว่าการทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวแบบยี่สิบปีขึ้นไปนั้นต้องดึงจากคนหลายรุ่นเข้ามาร่วมกันทำ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นต่างวัย เป็นการใช้ประโยชน์จากคนในสังคมให้ได้มากที่สุด และต้องดึงภาคเอกชนมาร่วมด้วยเพราะมีพลังมาก
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนให้ใช้พลังท้องถิ่นเป็นกำลังหลักในการพัฒนาบ้านเมือง เพราะในการเปลี่ยนแปลงสังคม พลังท้องถิ่นคือของจริง ไม่ได้อยู่ที่ร่างรัฐธรรรมนูญหรือโครงสร้างส่วนบน จึงต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มในท้องถิ่น ประชาสังคมต่างๆให้เข้มแข็ง สอดคล้องกับความคิดของอาจารย์วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ที่ว่า ในอนาคตพลังขับเคลื่อนสังคมของคนรุ่นใหม่จะอยู่ในภาคเอกชนและประชาสังคมเป็นหลัก ไม่ใช่รัฐหรือระบบราชการ
ส่วน อ. ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ มองว่าพื้นฐานของการทำยุทธศาสตร์ชาติ ควรเริ่มจากการสร้างคนไทยให้มีจิตใจเข้มแข็ง มองโอกาสมากกว่าปัญหา และชี้ว่าที่จริงชาวบ้านไทยรู้จักเอาตัวรอดเก่งอยู่แล้ว รัฐจึงควรปรับตัวให้เป็นแค่ facilitator ส่งเสริมประชาสังคมท้องถิ่นให้เข็มแข็ง เชื่อมโยงคนฝ่ายต่างๆให้ได้
ศ.ดร. เอนก สรุปว่า กุญแจสำหรับยุทธศาสตร์พัฒนาบ้านเมืองที่เราหา อยู่ในที่มืด คือพลังชาวบ้าน พลังท้องถิ่น พลังประชาสังคม ซึ่งเป็นพลังที่แท้จริง แต่คนมักมองข้าม ไม่ใช่รัฐหรือชนชั้นนำในวงวิชาการซึ่งอยู่ในที่สว่างที่คนมักหันไปหา สังคมไทยมีพลังในการแก้ปัญหาอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องเอาพลังที่เป็นจริงมาเป็นกำลังของบ้านเมืองให้มากขึ้น การเสริมพลังประชาสังคมและท้องถิ่นให้เข้มแข็งจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาบ้านเมืองไทยในยุคนี้