เลือกตั้งเมื่อไหร่? ชัด ๆ จากปาก‘วิษณุ’ โร้ดแม็พ คสช.หลังประชามติ รธน.
“ไม่มีประโยชน์ที่จะมาพูดว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะกฎหมายเขียนล็อคไว้หมดแล้ว เหมือนวงล้อที่หมุนไป ช้ากว่านั้นไม่ได้ มีแต่จะเร็วกว่านั้น”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมชี้แจงพรรคการเมืองเรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี ถึงโร้ดแม็พของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการทำประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค. 2559
----
ประเทศไทยไม่ค่อยคุ้นเคยในการออกเสียงประชามติ ไม่เหมือนในต่างประเทศ เราเคยมีการออกเสียงประชามติมาแล้วครั้งหนึ่ง คือเมื่อปี 2550 ซึ่งก็ไม่นานมานี้ ครั้งนั้นออกเสียงประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้น ซึ่งผลการออกเสียงประชามติในครั้งนั้นได้รับความเห็นชอบ เป็นร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้บังคับเรื่อยมา
บัดนี้ถึงเวลาออกเสียงประชามติครั้งที่ 2 ในไทย สมมติผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ ต่อไปเราก็อาจจะชินกับการออกเสียงประชามติ เพราะมีปัญหาหลายอย่างที่ในอนาคตจะฝากไว้กับการออกเสียงประชามติ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสำคัญ จะต้องหวนกลับมาสู่ประชามติอีก เรื่องนี้ถ้าจัดบ่อย ให้ชิน มันก็จะเข้าใจกัน และมีความรู้สึกจัดให้มันเข้าระเบียบเข้ารูปเข้ารอย และอาจไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากมาย ของเรานาน ๆ จัดที พะรุงพะรัง สิ้นเปลืองงบ ทำความเข้าใจ รูปแบบวิธีการต่าง ๆ
ในการออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ถ้าพูดถึงบทบาทรัฐบาลมีอยู่ 3 ข้อ หรือ ‘3 ร’ ได้แก่
‘ร.หนึ่ง’ รักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศในระหว่างนี้ เพื่อให้เดินไปสู่การออกเสียงประชามติอย่างเรียบร้อยได้ เมื่อใดก็ตามที่ต้องมีการรับฟังความเห็นของคน ระดมคนออกมาเพื่อที่จะหยั่งเสียงทราบว่าคิดอย่างไร ต้องการอย่างไร มีความเห็นคนที่หลากหลายได้ธรรมดา เป็นความแตกต่างความคิดไม่ควรมีใครถือสาหาความ โอกาสที่เห็นต่างจะพัฒนา ซึ่งไม่ควรจะพัฒนาเพราะมันคือหายนะ มันจะเปลี่ยนไปสู่ความขัดแย้งเป็นไปได้ อาจขัดแย้งน้อย ขัดแย้งมาก เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้ทุกคนใช้ความแตกต่างเป็นประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ได้
อาจมีวิธีการที่ไม่สบอารมณ์ จะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันในการหาทางคลี่คลายส่วนเหล่านั้นต่อไป แต่ต้องตั้งหลักก่อนว่า รัฐบาลไม่ว่าสมัยใดก็หน้าที่นี้ทั้งนั้น ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้ความร้าวฉาว ความชุลมุนวุ่นวาย การปะทะย้อนกลับมา เพราะมีเชื้ออยู่
‘ร.สอง’ ร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดออกเสียงประชามติ ร่วมการทำงบประมาณ บุคลากร ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ต่าง ๆ กกต. ต้องการอย่างไรก็บอกมา
‘ร.สาม’ ดำเนินการให้เป็นไปตามโร้ดแม็พ คสช. ทำไมต้องเดินทาง เพราะเขาเป็น คสช. ตรงนี้หนีไม่พ้น รัฐบาลต้องเดินตาม โร้ดแม็พมีว่าอย่างไร ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้น มีอยู่ไม่กี่อย่าง ถ้าประมวลกันใหม่เป็นเรื่องราว ฉากที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากประชามติ คงมีต่อไปนี้
หนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบ แต่คำถามพ่วงที่พูดกันนั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบ
ตรงนี้ไม่มีทางอื่น เมื่อคำถามพ่วงไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องยุ่ง แต่รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุว่า ต้องเอารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านขึ้นทูลเกล้าฯถวายใน 30 วัน ช้ากว่านั้นไม่ได้ เมื่อถวายเรียบร้อยแล้วทรงใช้เวลาพิจารณาอยู่สักระยะหนึ่ง เป็นพระราชอำนาจ เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ประกาศใช้ ขณะเดียวกันต้องให้ กรธ. จัดทำกฎหมายลูก อย่างน้อยมี 4 ฉบับที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายลูก กกต. กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายลูกการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายลูก ส.ว. คงใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เผลอ ๆ เร็วกว่านั้น
หลังจากนั้นส่งให้ สนช. พิจารณา ถ้า สนช. เห็นควรว่าต้องแก้ ก็ต้องส่งกลับมาให้ กรธ. ดูใหม่ และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกัน รวมใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หากเกิดเหตุแก้ไขเข้า เมื่อแก้เสร็จแล้ว 1 เดือน ให้นำกฎหมายลูกเหล่านั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย อีกประมาณ 1 เดือน เมื่อประกาศใช้กฎหมายลูกครบ 4 ฉบับ ต้องจัดเลือกตั้งให้ได้ภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน
“ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะมาพูดว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะกฎหมายเขียนล็อคไว้หมดแล้ว เหมือนวงล้อที่หมุนไป ช้ากว่านั้นไม่ได้ มีแต่จะเร็วกว่านั้น”
สอง ร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงผ่านการเห็นชอบ
ตรงนี้กระทบกับที่เขียนไว้ว่าต้องทูลเกล้าฯใน 30 วัน เพราะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านให้เข้ากับคำถามพ่วงดังกล่าว โดยให้เวลาแก้ไขประมาณ 1 เดือน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าแก้ไขถูกหรือไม่อีกประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นนำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่ควรใช้เวลายาวนาน 2-3 วันก็เสร็จ หลังจากนั้นให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯถวายใน 30 วัน เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ประกาศใช้ และจัดทำกฎหมายลูก และจัดการเลือกตั้ง
สาม หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่คำถามพ่วงผ่าน
ตรงนี้คำถามพ่วงไม่มีอิทธิฤทธิ์อะไร เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็จบเห่ ไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่
สี่ หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงไม่ผ่านความเห็นชอบ
ตรงนี้จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ร่างอย่างไรใครก็อยากรู้ ตนก็อยากรู้ หากให้ตอบคงพูดชัดไม่ได้ เพราะไม่รู้ แต่ขั้นตอนหลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 อีกครั้ง เพื่อแก้ไขเนื้อหาบางประการ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมการไว้แล้ว และอาจเสนอให้ สนช. พิจารณาก่อนวันทำประชามติ เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน จะแก้ไขเสร็จสิ้น หลังจากนั้นจะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาอีกฉบับทดแทนฉบับที่ไม่ผ่านประชามติ คาดว่าจะใช้เวลาทำไม่นานประมาณ 1-2 เดือน หรืออาจสั้นกว่านั้น เพราะมีการเตรียมการไว้ก่อนพอสมควรแล้ว
เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องร่างใหม่แทนของเดิมหากไม่ผ่านประชามตินั้น ส่วนใหญ่ก็เอาเนื้อหามาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม หรือรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ๆ เช่น ในปี 2540-2550 เพราะในรัฐธรรมนูญทั้ง 16 หมวด ไม่มีการรังสรรค์ถ้อยคำขึ้นมาใหม่หมด บางมาตราได้ตกแต่งถ้อยคำเพิ่มเติมเท่านั้น ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน จะได้เอาของเก่าที่มีส่วนดีและเป็นที่ยอมรับมาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย จึงคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่ที่นานและจำเป็นคือพิธีกรรมในการเขียนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์ลงสมุดไทย
แม้จะช้าอย่างไร รัฐบาลพยายามหามาตรการทางบริหารให้การเขียนนั้น เป็นไปโดยรวดเร็วที่สุดให้ได้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อลงพระปรมาภิไธยลงมา ก็ถึงขั้นตอนทำกฎหมายลูกอาจไม่ต้องพึ่ง กรธ. อีกแล้ว เพราะ กรธ. พ้นตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ทำอย่างไรให้สภาพิจารณาเร็ว ซึ่งมีวิธีการ หากทำเสร็จประกาศใช้ การจัดเลือกตั้งต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก brighttv