- Home
- Isranews
- เวทีทัศน์
- ผ่าแนวคิดจัดตั้ง 'บ.ประชารัฐ' ผ่านมุมมอง 3 กก.-ผู้ถือหุ้น ไฉนชื่อนายทุนโผล่เพียบ?
ผ่าแนวคิดจัดตั้ง 'บ.ประชารัฐ' ผ่านมุมมอง 3 กก.-ผู้ถือหุ้น ไฉนชื่อนายทุนโผล่เพียบ?
“..ผมคิดว่านักธุรกิจพวกนี้เขารวยพอแล้ว แต่บางคนคิดว่ารวยเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่สำหรับผมคิดว่าเขารวยพอแล้ว เขาอยากแสดงให้เห็นว่าเค้าเบื่อกับการเสียภาษีให้รัฐ เพราะรัฐเอาไปใช้ไม่เหมาะไม่ควร แต่วิธีนี้เค้าได้ใช้สมองบางส่วนของเขามาช่วยให้ธุรกิจก้าวหน้าเกิดผลประโยชน์ขึ้น แต่เขาเอากำไรไปใช้ไม่ได้เลย.."
กำลังเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองมากที่สุดในช่วงเวลานี้
สำหรับนโยบายและแนวทางการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐระดับพื้นที่ ภายใต้การดำเนินงานในรูปบริษัท ที่ใช้ชื่อว่า ‘บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด’ ที่จัดงานเปิดตัวเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 เม.ย 2559 ที่ผ่านมา โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม
โดยเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายนี้ คือ การสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่าน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยว ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 จำนวน 5 จังหวัดนำร่อง ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.เพชรบุรี จ.อุดรธานี จ.เชียงใหม่ และ จ.บุรีรัมย์ ระยะที่ 2 จำนวน 6 จังหวัด ระยะที่ 3 จำนวน 7 จังหวัด และระยะที่ 4 คือจังหวัดใกล้เคียงในกลุ่มจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะครบ 76 จังหวัดภายในเดือนธันวาคม 2559
อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่กรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทฯ แห่งนี้ ปรากฎชื่อบุคคลใกล้ชิดกลุ่มนายทุนบริษัทใหญ่เข้ามารวมเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นจำนวนมาก โดยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบ ว่า 3 ใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี จำกัด ปรากฏรายชื่อกรรมการบริษัทฯ มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริษัทในเครือไทยเบฟ และบริษัทแม่ในส่วนกลางมี นายฐาปน สิริวัฒนภัคดี (เจ้าของกลุ่มทีซีซีและเครือไทยเบฟ) ถือหุ้นเกือบ 100%
จึงทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังตามมาว่า กลุ่มนายทุนจะได้รับผลตอบแทนอะไรจากการให้ร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินธุรกิจนี้บ้าง?
(อ่านประกอบ : ‘ฐาปน สิริวัฒนภักดี’ถือหุ้น ‘ประชารัฐฯ’ 99% - 5 จังหวัดโยงกลุ่ม‘เสี่ยเจริญ’ทั้งหมด)
เพื่อไขปัญหาข้อข้องใจทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับ กรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี(ประเทศไทย) จำกัด 3 ราย เพื่ออธิบายที่มาที่ไปของการจัดตั้งบริษัท และการดำเนินงานธุรกิจในอนาคต
คนแรก นายมีชัย วีระไวทยะ ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัทประชารัฐรักสามัคคี(ประเทศไทย) จำกัด เปิดฉาก เล่าที่มาที่ไปของการเข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯ แห่งนี้ ว่า เดิมที่เขาตั้งบริษัททำธุรกิจเพื่อสังคม มากว่า 42 ปี มี 28 บริษัท โดยนำกำไรที่ได้ มาสำรอง ขยายธุรกิจ และไม่ได้แบ่งปันให้ใคร นอกจากนี้กำไรบางส่วนที่ได้มาก็นำมาช่วยสนับสนุนงานสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
“หลายคนเค้าเรียกผมว่าเป็นบิดาแห่งธุรกิจเพื่อสังคม”
นายมีชัย เล่าต่อว่า สำหรับเรื่องนี้ได้มีการหารือกัน ซึ่งประเทศไทยมีมากกว่า 300,000 บริษัท ที่เป็นธุรกิจชุมชน รัฐบาลเสนอมาว่า ทำไม่ไหว และขอความร่วมมือให้เอกชนเข้ามาช่วย โดยมองว่าจะสามารถทำรายได้ แล้วนำมาใช้ในงานสารประโยชน์ เช่น การศึกษา สุขอนามัย และเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่รัฐบาลที่มองเห็น
“เขามาหาผม ผมไม่ได้ไปขอถือหุ้น เขาเห็นผมทำมานานแล้ว แล้วร่างกฎหมายกำลังจะออก เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ใครที่ช่วยบริจาคก็จะหักลดหย่อนภาษีได้เท่าตัว และเงินกำไรที่เกิดขึ้นก็ไม่ต้องเสียภาษี ได้มีการจัดตั้งเป็น พ.ร.บ. ขึ้นมา ได้ผ่าน ครม. มาแล้ว ตอนนี้รอผ่านรัฐสภา ซึ่งนี่เป็นการเดินเรื่องก่อนกฎหมายออกมาเล็กน้อย มีตัวพ่อตัวแม่ระดับชาติเข้าร่วม ซึ่งเขาขอให้ผมไป ผมก็ไม่ทราบ ว่าเพราะอะไร แต่คิดว่าเขาเล็งเห็นว่าผมมีประสบการณ์ตรงนี้มาก่อน”
เมื่อถามถึงเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ล้วนแต่เป็นตัวแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของประเทศ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตถึงวัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนใหญ่?
นายมีชัย ตอบว่า “ผมคิดว่านักธุรกิจพวกนี้เขารวยพอแล้ว แต่บางคนคิดว่ารวยเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่สำหรับผมคิดว่าเขารวยพอแล้ว เขาอยากแสดงให้เห็นว่าเค้าเบื่อกับการเสียภาษีให้รัฐ เพราะรัฐเอาไปใช้ไม่เหมาะไม่ควร แต่วิธีนี้เค้าได้ใช้สมองบางส่วนของเขามาช่วยให้ธุรกิจก้าวหน้าเกิดผลประโยชน์ขึ้น แต่เขาเอากำไรไปใช้ไม่ได้เลย กำไรนำมาใช้ได้ 3 อย่างคือ สำรอง ขยายธุรกิจ การสารประโยชน์"
คนที่สอง นางปรีดา คงแป้น ตัวแทนภาคสังคม หนึ่งในผู้ถือหุ้นและกรรมการ บ.ประชารัฐรักสามัคคีฯ
นางปรีดา ออกตัวก่อนให้สัมภาษณ์ว่า “พอดีพี่ยังไม่ได้เข้าประชุม พี่พึ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่อยากคุย ให้ได้ประชุมนัดแรกก่อน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวัน”
อย่างไรก็ตาม นางปรีดา ยืนยันว่า การที่ตนเองเข้ามาถือหุ้นจะสามารถช่วยส่งเสริมเรื่องธุรกิจชุมชน หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว ในฐานะที่ทำงานด้านนี้มา 30 ปี ทำให้สามารถมองออกว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
คนที่สาม พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง กรรมการ บริษัทประชารัฐสามัคคีเพชรบุรี จำกัด
พลเอก สุรินทร์ กล่าวอธิบายถึงการดำเนินโครงการว่า กำลังจะมีการดำเนินการ 3 ขั้นตอนคือ 1.รวบรวมสมาชิก 2.รวบรวมผลิตภัณฑ์ และ 3.การประชุมภายในชุมชน และจะมีการนำเสนอว่าชุนชนมีผลิตภัณฑ์อะไรที่น่าสนใจ และทำผลิตภัณฑ์ทดลองขึ้นมา
สำหรับผลตอบแทนที่จะได้จะโครงการนี้ พล.อ. สุรินทร์ ระบุว่า “ ผลตอบแทนที่จะได้คือ1.คือชุมชนเข้มแข็งขึ้น เมื่อชุมชนเข้มแข็งก็จะมีผลดีตามมา คนที่มีจิตอาสาก็จะมากขึ้น 2.ธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้น จะเกิดผลประโยชน์ทางด้านการเมืองการปกครองตามมา 3.คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่จะดีขึ้น นี่เป็นเป้าหมายหลัก"
เมื่อถามถึงความยั่งยืนของนโยบายประชารัฐในยุค คสช. ว่าจะได้รับการผลักดันจากรัฐบาลในอนาคตหรือไม่?
พล.อ.สุรินทร์ กล่าวว่า “ไม่เกี่ยวแล้ว ถ้ามีการร่วมมือในชุมชนแล้ว รัฐบาลไหนมาก็ต้องทำต่อ เพราะเป็นแผนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ใครมาก็ต้องทำตามนั้น ที่ประเทศไทยมีปัญหาเพราะเราไม่มีแผนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง นักการเมืองเอาโครงการตัวเองเข้ามา ประชาชนไม่มีปากไม่มีเสียงเพราะประชาชนไม่มีแผนของประชาชน ทุกภาคส่วนไม่มีส่วนร่วม ปล่อยให้การเมืองทำงานอย่างเดียว นี่คือปัญหาของบ้านเมืองเรา ตอนนี้มีการปฏิรูป ประเทศไทยต้องมีการกำหนดเป้าหมาย 10 ปี 20 ปี บางประเทศเป็นร้อยปี ยังไงโครงการนี้ใครมาก็ทำต่อ”
เมื่อถามว่า นโยบายนี้ถูกมองว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าชุมชน?
พล.อ.สุรินทร์ ชี้แจงว่า “การที่รัฐบาลให้นายทุนใหญ่เข้ามาเพื่อนำกำไรกลับสู่สังคม ส่วนการเอื้อประโยชน์หรือไม่นั้น คือการปันผลทั้งหลายจะไม่เกิดกับผู้ลงทุน และถ้านายทุนเหล่านั้นทำกิจการของตนเองที่กระทบกระเทือนต่อประเทศชาติ รัฐบาลคงไม่เกรงใจ ใครก็ตามที่ทำไม่ดีกับประเทศชาติก็ต้องจัดการ”
พล.อ.สุรินทร์ ยังกล่าวปิดท้ายบทสนทนาว่า “ผมตอบเท่าที่ผมรู้เท่านั้น เพราะผมไม่เก่งด้านธุรกิจ”
ทั้งหมดนี้ คือ ความคิดเห็นของ บุคคล 3 ที่ปรากฎชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด ที่เกิดขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐระดับพื้นที่
ส่วนบรรทัดสุดท้าย ของการดำเนินงาน ใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน ระหว่าง นายทุน กับชุมชน เป็นสิ่งที่สาธารณชนต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป
แบบละเอียดยิบทุกขั้นตอน!