“ค่าโง่” มือถือที่ประชาชนถูกบังคับให้ต้องจ่าย ?
อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่คนทั่วไปไม่ค่อยใส่ใจ แต่เรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถสร้างความร่ำรวยและกำไรให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือจำนวนมหาศาล เนื่องจากมีผู้ใช้บริการหลายสิบล้านรายที่ต้องจ่าย “ค่าโง่” โดยไม่รู้ตัวหรือไม่ได้ใส่ใจ
จำได้ว่า เริ่มใช้บริการโทรศัพท์มือถือของค่าย AIS ในราวเดือนกรกฎาคม 2558 (โอนสิทธิการใช้บริการมาจากหน่วยงานที่เคยทำงานอยู่) โดยเลือกโปรโมชั่นที่ 599 บาท/เดือน (สามารถโทรด้วยเสียงไม่เกิน 300 นาที อินเตอร์เน็ตไม่จำกัด-ความเร็วสูงสุดรวม 1.5 GB)
ในแต่ละเดือนมีธุระปะปังต้องใช้โทรศัพท์เกิน 300 นาที ตามที่โปรโมชั่นกำหนด ก็จะมีการส่ง SMS เตือนให้โทรกลับไปตามเบอร์ของบริษัท ซึ่งพนักงานก็จะชักชวนให้ซื้อโปรโมชั่นเสริม เช่น ซื้อ 150 บาท สามารถโทรเพิ่มได้กี่นาทีภายในกี่วันซึ่งประหยัดกว่า เพราะถ้าไม่ซื้อค่าโทรฯ ส่วนเกินต้องเสียนาทีละ 1.50 บาท
เคยทักท้วงพนักงานไปว่า เคยเห็นข่าวว่า มีประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ได้ควบคุมค่าโทรศัพท์มือถือไม่ให้เกินนาทีละ 99 สตางค์ การคิดค่าโทรนาที 1.50 บาท เป็นการขัดกับประกาศของ กสทช.หรือไม่ พนักงานก็พยายามชี้แจงแบบไปไหนมาสามวาสองศอก
เลยสอบถามผู้รู้ในสำนักงาน กสทช. ได้ความ ประกาศ กสทช.ในการควบคุมค่าโทรฯ นาทีละไม่เกิน 99 สตางค์นั้น ใช้กับระบบสัปทานที่ค่ายโทรศัพท์มือถือได้จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) แต่ไม่รวมถึงระบบใบอนุญาตหรือ 3 G 2100MHz ที่ กสทช.เปิดประมูลไปคราวแรก เคยมีการเสนอให้คณะกรรมกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ออกประกาศควบคุมเพดานราคาเหมือนกับโทรศัพท์ระบบสัมปทาน แต่ไม่ได้รับการเห็นชอบ
เจอคำอธิบายแบบนี้ก็งงเป็นไก่ตาแตก เพราะเท่ากับว่า กสทช.ควบคุมค่าโทรฯได้เฉพาะระบบสัมปทานเดิม ส่วนระบบใบอนุญาตที่ กสทช.เป็นผู้เปิดประมูลควบคุมไม่ได้ ถือเป็นการลอยแพผู้บริโภคให้ถูกเอารัดเอาเปรียบตามยถากรรม
เพื่อให้แน่ใจ เลยไปค้นข้อมูลพบว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการมือถือเก็บค่าบริการได้ไม่เกิน 99 สตางค์ ต่อนาที แต่ กสทช. ได้ผ่อนผันการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวในส่วนของค่าบริการตามสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าจะต้องไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2555 หรือมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556
หมายความว่า บรรดารายการส่งเสริมการขายของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงทั้งหมดจะต้องอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที
เป็นอันว่า ประกาศ กสทช.ที่ควบคุมค่าโทรฯประเภทเสียงไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ใช้ได้เฉพาะกับระบบสัมปทานเดิมเท่านั้น
ส่วนพวกที่ประมูลใบอนุญาต 3 G ไปทั้ง AIS TRUE และ DTAC 2100MHz นั้นสามารถคิดค่าโทรฯได้ตามอำเภอใจ โดย กสทช.ไม่มีน้ำยาหรือปัญญาควบคุมเลยหรือ ?
จากการติดตามข่าวพบว่า หลังจากมีการเปิดประมูล 3 G มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กสทช.ไม่มีเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการลดค่าบริการลงต่ำกว่าระบบสัมปทาน ทาง กสทช.เลยเรียกผู้ให้บริการทั้ง 3 รายมาเจรจาให้ค่าบริการลง 15-20% ก่อนออกใบอนุญาต
จากนั้น มีการแถลงข่าวของนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (28 พฤษภาคม 2556 ) จากการหารือว่า กำหนดแนวทางร่วมกันได้ดังนี้
โปรโมชั่นจาก 2G/3G เดิม ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 15% AIS แจ้งว่า ลดแล้ว, True แจ้งว่าจะลดลงวันที่ 1 มิ.ย., dtac บอกว่าจะเปิดบริการในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ด้วยอัตราที่ กสทช. กำหนด
โปรโมชั่นใหม่ กสทช. ใช้อัตราของวันที่ 7 ธ.ค. 2555 เป็นตัวเทียบ กำหนดอัตราใหม่แล้วนำไปคำนวณกับโปรโมชั่นใหม่ว่าตรงตามนี้หรือไม่ โดยอัตราใหม่คือ
เสียง 97 สตางค์ต่อนาที เหลือ 82 สตางค์
เอสเอ็มเอส 1.56 บาทต่อข้อความ เหลือ 1.33 บาทต่อข้อความ
เอ็มเอ็มเอส 3.90 บาทต่อข้อความ เหลือ 3.32 บาทต่อข้อความ
อินเทอร์เน็ต 0.33 บาทต่อเมกะไบต์ เหลือ 0.28 บาทต่อเมกะไบต์
ถ้าอ่านข่าวนี้ให้ดีจะพบว่า กสทช. ตกลงกับผู้ใหบริการทั้ง 3 ราย ว่าจะลดค่าบริการลงเฉพาะโปรโมชั่นเท่านั้น?
ถ้าเป็นการโทรฯนอกหรือเกินจากโปรโมชั่นไม่เกี่ยว?
ดังนั้นค่ายโทรศัพท์ต่าง ๆ จึงสามารถคิดค่าโทรฯได้ถึงนาทีละ 1.50 บาท ทั้ง ๆ ที่ต้องคิดไม่เกิน 82 สตางค์ต่อนาทีตามคำแถลงของเลขาธิการ กสทช.
เป็นการขูดรีดกันซึ่ง ๆ หน้าใช่หรือไม่?
หรือเป็น “ค่าโง่” ที่ ประชาชนถูกบังคับให้จ่ายโดยที่ กสทช.ไม่สามารถทำอะไรได้?
เคยคุยกับสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค บอกว่า มีประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นนี้จำนวนมาก แต่ยังไม่มีการตอบสนองใด ๆ จาก กสทช.
ค่าโทรฯ ที่ประชาชนถูกบังคับให้จ่ายกับค่ายโทรศัพท์มือถือ เพียงนาทีละ 70 สตางค์ซึ่งดูเหมือนน้อยมากนั้น แต่เมื่อมีจำนวนผู้ใช้บริการหลายสิบล้านรายถูกขูดรีดก็สามารถสร้างความร่ำรวยให้แก่บริษัทเหล่านี้ได้
ถ้ามีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เกิน 50 ล้านราย โทรเกิน รายละ 1 นาที บริษัทเหล่านี้ก็จะมีรายได้ถึงเดือนละ 35 ล้านบาท
ทำอย่างไรประชาชนถึงจะทวงเงินที่ถูกขูดรีดเหล่านี้กลับคืนมาได้ทั้งหมด
ขอบคุณภาพประกอบจาก technolomo.com