ศาลปค.ชี้แจงคดีค่าโง่คลองด่าน ทำไมพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตฯ
คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินคำขอของคู่พิพาทและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ศาลปกครองจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ตามที่ได้มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวการให้สัมภาษณ์ของบุคคลทั้งที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งได้เสนอความเห็นมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน ซึ่งอาจมีผลทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนมีความเข้าใจคำพิพากษาของ
ศาลปกครองสูงสุดที่เกี่ยวข้องคลาดเคลื่อน
สำนักงานศาลปกครอง จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงในการฟ้องคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการต่อศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ และคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๘๗ – ๔๘๘/๒๕๕๗ มาเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบดังต่อไปนี้
การฟ้องคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการต่อศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ สามารถดำเนินการได้ ๒ กรณี คือ
กรณีที่ ๑ การฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา ๔๐ วรรคสาม ในกรณีต่างๆ ที่คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ เช่น คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น องค์ประกอบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ เป็นต้น
และในกรณีที่ปรากฏต่อศาลว่า คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
กรณีที่ ๒ การฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ มาตรา ๔๒ บัญญัติให้คู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้
สำหรับกรณีพิพาทในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๘๗ – ๔๘๘/๒๕๕๗ นั้น เป็นกรณีที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม ๖ คน ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๙๑/๒๕๕๔ เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๕๐/๒๕๔๖ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔
ส่วนกรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๐๙/๒๕๕๔ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ก่อนที่คดีนี้มาสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ข้อพิพาทระหว่างบริษัท
วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม ๖ คน ผู้ร้อง และกรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน ได้เข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๕๐/๒๕๔๖ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว คณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ดังนี้ (๑) สัญญาพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ (๒) สัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะและข้อเรียกร้องอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือไม่ (๓) บันทึกข้อตกลง MOA มีผลใช้บังคับหรือไม่ (๔) ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา และ (๕) ผู้คัดค้านจะต้องชำระค่าจ้างและค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องและผู้เรียกร้องจะต้องคืนเงินหรือใช้ค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องแย้งให้ผู้คัดค้านหรือไม่
คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยว่า กรณีที่กรมควบคุมมลพิษอ้างว่าสัญญาพิพาทเป็นโมฆะ สัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการจึงเป็นโมฆะด้วย โดยอ้างว่า ก่อนการลงนามในสัญญา บริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ได้ขอถอดหนังสือมอบอำนาจก่อนมีการลงนามในสัญญาของบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย อันเป็นการปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกแจ้งแก่กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในตัวบุคคล และเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม และปรากฏว่าที่ดินที่กรมควบคุมมลพิษรับโอนมาโฉนดเลขที่ ๑๕๐๒๔, ๑๓๑๕๐, ๑๓๘๑๗, ๑๕๕๒๘ เนื้อที่รวม ๑๗๓๖ ไร่ ๒ งาน ๖๖ ตารางวา เป็นที่ดินที่ออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดดังกล่าว อันเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โดยสำคัญผิดในตัวบุคคล ซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจึงตกเป็นโมฆะ
แม้ต่อมา นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสืออนุญาตให้ บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด เข้าเป็นหนึ่งในสัญญาแทนบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้สัญญาที่ตกเป็นโมฆะแล้วกลับมามีผลตามกฎหมายได้
คณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่า ข้อพิพาทแห่งคดีไม่กระทบถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ กรณีไม่อาจนำมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้
นอกจากนี้ยังได้ความจากนายวรวิทย์ ชวนะนันท์ พยานฝ่ายบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก ว่า กิจการร่วมค้า เอ็นจีพีเอสเคจี ไม่ได้จดทะเบียนต่อกระทรวงพาณิชย์ จึงมีผลเท่ากับตกลงทำกิจการร่วมค้าในลักษณะห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ตามแนวคำพิพากษาฎีกา ที่ ๕๖๓๓ – ๕๖๓๘/๒๕๔๘ ดังนั้น ข้อที่ฝ่ายกรมควบคุมมลพิษอ้างว่า การที่กรมควบคุมมลพิษเข้าทำสัญญาเกิดจากความสำคัญผิดว่ามีบริษัท นอร์ธเวสต์ วอร์เตอร์ฯ เป็นผู้ร่วมกิจการร่วมค้า และการที่บริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ถอนตัวไป จึงทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านได้เข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลจึงไม่เกิดขึ้น
ส่วนบันทึกข้อตกลง MOA มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากนายวรวิทย์ ชวนะนันท์ ผู้จัดการบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ว่า การทำข้อตกลง MOA จะต้องไปทำความตกลงตามวิธีการอีกชั้นหนึ่งหากตกลงกันไม่ได้ เรื่องนี้จะต้องดำเนินไปอย่างมีข้อพิพาท คดีนี้หลังจากมีการทำข้อตกลง MOA แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดำเนินการทำความตกลงกันต่อไป เป็นดังนี้ MOA จึงไม่เกิดผลแก่ฝ่ายใด
ปัญหาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาข้อนี้ได้ความจากนายวรวิทย์ ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้เรียกร้องที่ ๑ ซึ่งเป็นพยานผู้เรียกร้องว่า ได้ส่งมอบงานอันที่ ๑ และวิศวกรปรึกษาออกใบรับรองให้แล้ว ส่งมอบงานแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายเงินแม้ไม่ได้ความว่างานอันที่ ๑ เป็นงานอะไรตามสัญญา แต่นายวรวิทย์ ก็เบิกความต่อมาโดยนายวรวิทย์อ้างว่าได้มีการส่งมอบงานแล้ว และวิศวกรที่ปรึกษาตรวจรับแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษสั่งไม่ให้วิศวกรที่ปรึกษาออกใบรับรองงานให้ งานอันที่ ๓ ส่งมอบแล้ว แต่วิศวกรที่ปรึกษาไม่ได้ตรวจรับเพราะกรมควบคุมมลพิษสั่งไม่ให้ตรวจรับ ที่สุดกรมควบคุมมลพิษได้ยกเลิกสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษา หลังจากนั้นกรมควบคุมมลพิษได้กล่าวอ้างว่า สัญญาพิพาทเป็นโมฆะ ตามความนำสืบของบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก ได้ความจากนายวรวิทย์ ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้เรียกร้องที่ ๑ พยานของผู้เรียกร้อง ว่างานอันที่ ๑ ส่งมอบแล้ว วิศวกรที่ปรึกษาออกใบรับรองงานแล้ว แต่ฝ่ายกรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายเงินให้ นายวรวิทย์เบิกความต่อมาว่า งานต่อมาวิศวกรที่ปรึกษาตรวจรับแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษสั่งไม่ให้วิศวกรที่ปรึกษาออกใบรับรองให้ นายวรวิทย์เบิกความต่อมาอีกว่า งานอันที่ ๓ ส่งมอบแล้ว วิศวกรที่ปรึกษาไม่ได้ตรวจรับเนื่องจากกรมควบคุมมลพิษสั่งไม่ให้ตรวจรับ แล้วกรมควบคุมมลพิษได้ยกเลิกสัญญาระหว่างกรมควบคุมมลพิษกับวิศวกรที่ปรึกษา หลังจากนั้นกรมควบคุมมลพิษได้กล่าวอ้างว่า สัญญาเป็นโมฆะโดยไม่ปรากฏว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะเหตุใด ข้อจะต้องพิจารณามีว่า ที่นายวรวิทย์ เบิกความว่าได้ส่งมอบงานให้ฝ่ายกรมควบคุมมลพิษแล้วจนถึงงานอันที่ ๓ นั้น แม้ไม่ปรากฏว่างานอันที่ ๓ คืออะไร แต่ก็พอชี้ชัดว่าฝ่ายบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก ได้ส่งมอบงานตามสัญญางวดที่ ๕๕, ๕๖, ๕๗ และ ๕๘ แก่กรมควบคุมมลพิษ แต่เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษไม่ได้สืบหักล้างหรือสืบปฏิเสธเป็นประการอื่น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า ฝ่ายบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก ได้ส่งมอบงานอันที่ ๕๕, ๕๖, ๕๗ และ ๕๘ แก่กรมควบคุมมลพิษแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงยังว่าได้มีการส่งมอบงานงวดที่ ๕๕, ๕๖, ๕๗ และ ๕๘ แล้วจริง และฝ่ายบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก นำสืบต่อไปว่า กรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายค่างวดงานให้แก่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก กรณีกรมควบคุมมลพิษไม่จ่ายค่างวดงานให้แก่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก กรมควบคุมมลพิษจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดใช้ค่างวดงานตามสัญญาให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก ส่วนที่กรมควบคุมมลพิษอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ โดยไม่ได้อ้างมีเหตุแห่งโมฆะกรรม หรือนำสืบให้เป็นตามที่กล่าวอ้าง รับฟังไม่ได้ว่า สัญญาตามที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างเป็นโมฆะกรรม และที่กรมควบคุมมลพิษเรียกให้ฝ่ายบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะก่อสร้างให้ทางการทั้งหมด ๑๗ แปลง ในราคาตามบัญชีรายการวงเงิน ๑,๙๕๖,๖๐๐,๐๐๐ บาท รวมที่ดิน ๑,๙๐๓ – ๖ – ๘๗ ไร่ และขอกู้เงินเพิ่มจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ๓,๒๐๐ ล้านบาท นั้น ไม่อาจเรียกในคดีชั้นอนุญาโตตุลาการนี้ รวมทั้งค่าเสียหายอนาคต และค่าเสียหายที่เป็นการลงทุนหรือค่าขาดประโยชน์ ก็ไม่อาจเรียกได้เช่นกัน เป็นดังนี้จึงไม่จำต้องพิจารณาคำคัดค้านในส่วนข้อเรียกร้องแย้ง ส่วนที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก อ้างว่ากรมควบคุมมลพิษผิดสัญญาอีกหลายประการ ก็ไม่ปรากฏว่าบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก ได้กล่าวอ้างว่ากรมควบคุมมลพิษผิดสัญญาในเรื่องใดบ้าง คงรับไว้ได้ว่ากรมควบคุมมลพิษผิดสัญญาไม่จ่ายค่างวดที่ ๕๕, ๕๖, ๕๗ และ ๕๘ ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น เป็นดังนี้ กรมควบคุมมลพิษจึงต้องแพ้คดีแก่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก โดยไม่จำต้องวินิจฉัยคำคัดค้านในส่วนข้อเรียกร้องแย้งของกรมควบคุมมลพิษ
คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีคำชี้ขาดให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องเป็นเงิน ๔,๙๘๓,๓๔๒,๓๘๓ บาท ๓๑,๐๓๕,๗๕๐ เหรียญสหรัฐ ให้แก่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงิน ๔,๔๒๔,๐๙๙,๙๘๒ บาท และของเงิน ๒๖,๔๓๔,๖๓๖ เหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนหนังสือค้ำประกัน พร้อมค่าธรรมเนียม และค่าธรรมเนียมแทนบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก เป็นเงิน ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อปี จนกว่าจะคืนหนังสือค้ำประกันให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก ข้อเรียกร้องนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกข้อเรียกร้องแย้ง
การที่ศาลปกครองจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้นั้น ศาลต้องพิจารณาว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและเกินคำขอของคู่พิพาทตามมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมีเหตุให้เพิกถอนตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
เมื่อศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินคำขอของคู่พิพาทและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่มีเหตุให้เพิกถอนตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ศาลปกครองจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๕๐/๒๕๔๖ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ อันเป็นการพิจารณาวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายครบถ้วนแล้ว