สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : คสช.คุม สสส.เบ็ดเสร็จตัดท่อน้ำเลี้ยงภาค ปชช.
"...สิ่งหนึ่งที่น่าเกลียดของ คสช.คือ การปลด 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ในคำสั่งเดียวกับกลุ่มที่มีประเด็นส่อทุจริต ทั้งๆที่กรรมการทั้ง 7 ไม่มีการถูกตั้งกรรมการสอบทุจริตเลย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และเป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิดโดยตั้งใจ.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 6 ม.ค.59 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และ แกนนำแพทย์ชนบทภาคใต้ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Supat Hasuwannakit' แสดงความเห็นเกี่ยวกับ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 ซึ่งมีรายชื่อบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมอยู่ด้วย จำนวน 7 ราย
--------------
หลายคนถามความเห็นของผม ต่อการปลดบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. 7 ท่าน ด้วย ม. 44 ผมจึงขอให้ทัศนะของผมหลังการเชื่อมโยงไตร่ตรอง อ่านหลายความเห็นของผู้คน
ผมสรุปได้ว่า
"สสส.คือนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย เพราะเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนมีโอกาสได้ใช้เงินภาษีประชาชนมาทำงานเพื่อชุมชนของเรา เพื่อสังคมของเรา เพราะทั้งชุมชนและสังคมเป็นของเรา ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของส่วนราชการหรือท้องถิ่นท้องที่เท่านั้น และ สสส.คือกลไกสำคัญที่สุดที่เสริมความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม สังคมไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้า ประชาชน ชุมชน กลุ่มองค์กรต่างๆต้องได้รับการหนุนเสริมให้เติบโต ประชาสังคม ต้องเติบใหญ่ให้ได้ดุลย์กับรัฐและทุน นั่นคืออุดมคติ
ที่ผ่านมา แม้ สสส.จะมีจุดโหว่เชิงการจัดการอยู่บ้าง แต่ก็เดินไปในทิศทางที่ใช่ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคม และด้วยการบริหารแบบ สสส.ที่มีความคล่องตัวต่างจากราชการที่มีระเบียบปิดกั้นมากมาย ทำให้ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่รับทุน สสส.มีความแหลมคมและหลายกรณีก็มาทำหน้าที่ตรวจสอบหรือกดดันภาครัฐและภาคทุน
ส่วน คสช.นั้นชัดเจนแล้วว่า จุดยืนทางวิธีคิดของ คสช.คือ การจัดแถวประเทศไทย คิดแบบทหารต้องการให้ประชาชนซ้ายหันขวาหันตามที่สั่ง ใช้กระบวนการแช่แข็งการมีส่วนร่วม ครอบงำทิศทางให้อยู่ในกรอบ ตัดท่อน้ำเลี้ยงภาคประชาชน และ สสส.ก็คือท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ที่สุดในขณะนี้ คสช.มุ่งควบคุมภาคประชาชนให้อยู่ในกระด้งในเชิงสังคมสงเคราะห์ แต่การออกทำเรื่องสิทธิ การจัดการฐานทรัพยากร การตรวจสอบหรือเห็นต่างนโยบายรัฐ เป็นสิ่งที่น่ารำคาญและยอมรับไม่ได้
ในยุคนี้ยิ่งชัด เมื่อ คสช.พูดถึง"ประชารัฐ" ประชาในความหมายของทหารก็คือเจ้าสัว ส่วนรัฐก็ชัดเจนคือรัฐราชการ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีภาคประชาชนอยู่ในสมการ
การปลดบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน 7 คนอย่างเร่งด่วนด้วย ม.44 ครั้งนี้ เชื่อว่าตัวเร่งตัวหนึ่งก็คือ การสรรหาผู้จัดการ สสส.ที่กำลังจะจบ ทหารคงได้ข้อสรุปว่า อยากจะได้คนที่ตนควบคุมได้ มาเป็นทั้งบอร์ดและผู้จัดการ สสส. จึงต้องรีบเร่งตัดกระบวนการ และหลังจากนี้ คสช.คงตั้งนายพลหรือคนที่ตนคุมได้เข้ามานั่งในบอร์ดและเป็นผู้จัดการ สสส.
โดยเชื่อว่า ภาคประชาชนจะอ่อนเปลี้ยลงหากไม่มีน้ำเลี้ยงจาก สสส. และงบ สสส.ในอนาคตจากบอร์ดใหม่ เชื่อมั่นได้ว่า จะเปิดช่องให้ภาคราชการ กองทัพ เข้ามาของบก้อนใหญ่ๆทำโครงการได้สะดวกโยธินขึ้น
สิ่งหนึ่งที่น่าเกลียดของ คสช.คือ การปลด 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ในคำสั่งเดียวกับกลุ่มที่มีประเด็นส่อทุจริต ทั้งๆที่กรรมการทั้ง 7 ไม่มีการถูกตั้งกรรมการสอบทุจริตเลย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และเป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิดโดยตั้งใจ
ปัญหาจึงชัดเจนว่า อยู่ที่วิธีคิดของ คสช.วิธีคิดแบบจัดแถวของทหารที่ต้องการควบคุมทุกอณูของสังคม ส่วนความคิดของผมและภาคประชาสังคมกลับตรงข้าม คือปลุกทุกพลังในสังคมในลุกขึ้นดูแลและจัดการชุมชนสังคมด้วยตนเอง ประชาชนคือศูนย์กลางจริงๆและเติบใหญ่ขึ้น ราชการรวมศูนย์ที่แข็งทื่อต้องเล็กลง
นี่จึงเป็นการต่อสู้ของสองชุดความคิด ไม่แปลกที่มีรุกมีรับ ถูกทหารรุกกินเมืองบ้างในวันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่แปลก เข้าใจได้ แต่ไม่ใช่เรายอมจำนน แต่กลับต้องเปลี่ยนรับเป็นรุก เอาเมืองคืนมา ด้วยกระบวนกองทัพมดที่ไร้ระเบียบ จนฝ่ายจัดแถวนิยมจับทางไม่ถูก
เพราะโดยทิศทางประวัติศาสตร์ การเล็กลงของภาครัฐและการลดบทบาทของกองทัพเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นอยู่แล้วในอนาคต
(อ่านประกอบ : ‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 ปลด ขรก.-นักการเมืองท้องถิ่นกราวรูด 59 คน-พ่วง 7 บอร์ด สสส.)