ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ :ประมูลเมล์เอ็นจีวีล่มเหตุขสมก.ไม่มีความเป็นมืออาชีพ
“ผมอยากให้ขสมก.เข้าใจว่าการที่ประมูลล่มในครั้งนี้ อย่าไปโทษใคร เพราะการทำงานอ่อนแอเอง ผิดพลาดเอง”
“การที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ยกเลิก หรือเรียกง่ายๆว่า ล้มประมูลการซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน ในล็อตแรกคือการสะท้อนถึงปัญหาและขีดความสามารถในการทำงานของขสมก.ที่แสดงว่า แม้ที่ผ่านมาขสมก.จะมีการประมูลจัดซื้อรถมาเป็นเวลานาน แต่การทำงานในเรื่องเหล่านี้กับไม่ได้มีความเป็นเลิศด้านการทำงานเลย”
"ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์" อดีตประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน เริ่มต้นวิเคราะห์หลากหลายปัญหาการจัดซื้อรถเมล์ NGV ที่ยืดยื้อ
นายไพโรจน์ ชี้ว่า การทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของขสมก.จะมีความเร่งรีบ อ้างว่ามีเวลาในการเตรียมตัวน้อย ไม่สามารถทำงานให้ลุล่วงและบรรลุผลตามเป้าหมายได้ จึงเรียกได้ว่าขสมก.ไม่ใช่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ทุกครั้งเมื่อมีภาระงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องมีการระดมความคิด ทำการศึกษาวิจัย วางแผน แต่จากเท่าที่ติดตามสังเกตการณ์มาขสมก.ทำงานแบบสุกเอาเผากิน ในอดีตการประมูลซื้อรถเคยทำได้ดีกว่านี้
“การสะสมผู้คน ข้าราชการ และพนักงานในองค์กรที่ผ่านมา แม้จะมีคนมาก แต่ก็ไม่ได้คิดเรื่องการพัฒนาปัญหาทุกอย่างจึงถูกรวมเอาไว้ แม้กระทั่งร่างทีโออาร์ในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีครั้งล่าสุดที่เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากกระบวนการเกิดการคิดที่ไม่ครบถ้วนและมีปัญหาดั่งที่เป็นข่าวปรากฏต่อสาธารณชน”
อย่างไรก็ตามจากปัญหาหรือความยืดเยื้อที่เกิดขึ้นกับการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของขสมก.นั้นอดีตประธานคณะอนุกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า สังคมจะได้ประโยชน์ในระยะยาว เพราะความลำบากยากเย็นแสนเข็นของการจัดซื้อครั้งนี้ คือการที่มีคนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียไปร่วมตรวจสอบ
ส่วนร่างทีโออาร์ที่มีปัญหาและนำไปสู่การยกเลิกเซ็นสัญญาจัดซื้อและต้องนำไปแก้ไขใหม่นั้น เพราะความไม่เป็นมืออาชีพและใสสะอาดของตัวองค์กร จากประสบการณ์ที่เฝ้าติดตามเรื่องรถเมล์มา เห็นได้ว่า สังคมองค์กรขสมก.ยังเป็นสังคมที่อ่อนแอ ขาดความสามารถ ไม่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ถ้าเขามีความเป็นมืออาชีพสักนิด เรื่องซื้อรถจะไม่มีปัญหาเลย
นายไพโรจน์ ระบุว่า ปัญหาสำคัญมากกว่าการได้รถเร็ว คือควรแบ่งบทบาทเอกชนกับขสมก.ให้ชัดเจน และต้องมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของขสมก.ให้ดีและมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
แม้ระยะเวลาในการทำงานเดินรถขสมก.จะให้บริการมานานถึง 40-50 ปี แต่ที่ผ่านมากระบวนการอ่อนแอตรวจสอบไม่ได้ ภาคประชาชนไม่รับรู้ข้อมูลการดำเนินงานต่างๆ
ส่วนครั้งนี้เขาเห็นว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชน ป.ป.ช. องค์การอิสระเอาจริงเอาจัง จึงสามารถสะท้อนปัญหาของการทำงานได้ ที่ผ่านมาขสมก.เองถูกสายตาจากคนข้างนอกมองว่า ทุกการประมูลส่อแววทุจริต ฉะนั้นการตรวจสอบจึงเข้มข้น
“ผมอยากให้ขสมก.เข้าใจว่าการที่ประมูลล่มในครั้งนี้ อย่าไปโทษใคร เพราะการทำงานอ่อนแอเอง ผิดพลาดเอง”
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์(กวพ.อ.) มีข้อท้วงติงต่อทีโออาร์ ที่ ขสมก. จัดทำขึ้นขัดกับมาตรา26 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เรื่องการแปลเอกสารภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลที่ยื่นเอกสารประกอบการประมูลเป็นภาษาต่างประเทศ จะต้องแปลเอกสารให้เป็นภาษาไทย และต้องมีการรับรองความถูกต้องเนื้อหาโดยสถานทูตไทยในประเทศที่เป็นเจ้าของภาษาในเอกสารเท่านั้น ในส่วนนี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่จะละเลยไม่ได้เช่นกัน แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็ตาม ส่วนโอกาสที่เจ้าหน้าที่ขสมก.เองจะรู้หรือไม่นั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้
สำหรับกระบวนการแก้ไขร่างทีโออาร์ใหม่ นายไพโรจน์ มองว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ขอให้สังคมมีการตรวจสอบ ซึ่งกันและกันจะได้ไม่มีปัญหาเดิมเกิดขึ้น และหากการแก้ไขในครั้งนี้มีความละเอียดรอบคอบชัดเจนแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา และหากบอกว่ากระบวนการทั้งหลายจะทำให้ได้เซ็นสัญญาจัดซื้อรถเมล์ภายในเดือนมีนาคม 2559 นั้น อาจจะเร็วเกินไป คิดว่ายังไม่ได้จะดำเนินการเสร็จได้รวดเร็วขนาดนั้น
“ผมคิดว่าเอาเข้าจริงน่าจะได้รถกลางปีหน้า แต่โจทย์ใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การมีรถ แต่อยู่ที่แผนการทำงานทั้งหมดของขสมก.ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่”