“ปีนี้ปีแพะ” ลึกสุดใจ! ‘นิพิฐ’ เมื่อ ปตท. หาว่าผมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง?
“ที่คาใจตอนนี้คือผมไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ทุจริตแน่นอน ยังคาใจว่าทำไมพอเรื่องถึง ป.ป.ช. จึงมีชื่อผมคนเดียว อันนี้คาใจมาก ๆ และความเสียหายที่ ปตท. ฟ้องแพ่งไป ผมก็ไม่ได้ทำ ไม่มีความเสียหายจากผมเลย ทำไมถึงฟ้องผม และอีกเรื่องคือ ไล่ผมออกจาก ปตท.สผ. ที่ทำงานมากว่า 30 ปี และไม่ได้ไล่เฉย ๆ ยังยึดเงินบำนาญทั้งหลายของผมด้วย ไม่ให้ผมเลยแม้แต่บาทเดียว”
ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งในห้วงรอยต่อระหว่างปี 2557 ยาวมาถึงปี 2558 คือกรณีโครงการปลูกปาล์มน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ (PTTGE) ที่ถูกตรวจสอบพบว่า มีความเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท
โดย ปตท. ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหา “ผู้รับผิดชอบ” ในทันที เมื่อช่วงปี 2556
ก่อนที่หวยจะมาออกที่ “นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. หัวหน้าโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มน้ำมันคนแรก จะถูก ปตท. ใส่ไว้ใน “บัญชีดำ” ส่งให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการไต่สวนเรื่องการทุจริต และมีมติลงโทษ “ไล่ออก” พร้อมกับ ปตท. และ PTTGE เดินหน้าฟ้องแพ่ง นายนิพิฐ เรียกค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ด้วย
ร้อนถึง “นิพิฐ” ที่ออกมาแก้ต่างและยืนยันชัดเจนว่า ในผลการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 ครั้ง (ของ ปตท. 2 ครั้ง และของ ปตท.สผ. อีก 2 ครั้ง) จะระบุตรงกันว่าไม่มีการทุจริต
“แล้วผมจะผิดได้อย่างไร” เป็นคำยืนยันชัดเจนจากปากของ “นิพิฐ”
ล่าสุด “นิพิฐ” ได้เปิดห้องบนชั้น 21 โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด ย่านรัชดาภิเษก เชิญสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์พิเศษ “เปิดใจครั้งแรก” ภายหลังถูกไล่ออก และชี้แจงเรื่องราวทั้งหมด ใช้ระยะเวลาราว 2 ชั่วโมงเศษ
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ ดังนี้
“นิพิฐ” เปิดฉากยืนยันว่า ที่มาพูดครั้งนี้ไม่ต้องการให้ร้าย ปตท. หรือ ปตท.สผ. หรือใครก็ตาม แต่ต้องการที่จะเล่าความจริงให้ฟังเพราะไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน
พร้อมกับเกริ่นแนวคิด-ที่มาที่ไปของโครงการปลูกปาล์มน้ำมันของ ปตท. เริ่มต้นในช่วงปี 2549-2550 ที่ได้รับการ “ร้องขอ” จากคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. ให้เข้าไปเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม เนื่องจาก ปตท. ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกน้ำมันปาล์มมาก่อน และการปลูกน้ำมนปาล์มก็คล้ายคลึงกับการสำรวจน้ำมันที่มีความถนัดอยู่แล้ว
เมื่อสำรวจอย่างถ้วนถี่ พบว่า ให้ผลตอบแทนดีมาก ๆ บอร์ด ปตท. เลยไฟเขียวอนุมัติให้ซื้อที่ดินในอินโดนีเซียจำนวน 5 แสนเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่) หรือประมาณ 3 ล้านไร่ เพื่อทำธุรกิจปาล์มน้ำมัน แต่ช่วงแรกในปี 2549 ที่เข้าไปทำปรากฏว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ราคาน้ำมันก็ต่ำ ปตท. เลยลดพื้นที่เหลือแค่ 2 แสนเฮกตาร์ พร้อมกับให้จัดหาที่ดินในราคาไม่เกิน 900 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ซื้อเกินไม่ได้ และให้งบประมาณ 850 ล้านเหรียญเป็นกรอบไว้ แต่เวลาที่จะใช้ต้องทำเรื่องมายังบอร์ด ปตท. ก่อนทุกปี ขณะเดียวกัน ปตท. จะเข้าไปทำเองไม่ได้ จึงต้องตั้งบริษัทที่สิงคโปร์เพื่อมาทำธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะ นั่นคือ PTTGE โดยทำการขอสัมปทานบนที่ดินอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลของเขาสนับสนุนการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอย่างดี
สำหรับขั้นตอนการขอสัมปทานแบ่งเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นแรก ขอ Location Permit จากทางการท้องถิ่น เมื่อได้มาแล้วยังปลูกปาล์มไม่ได้ ต้องขอ IUP จากทางจังหวัด จึงจะปลูกปาล์มได้ แต่ยังเก็บไม่ได้ ต้องขอ HGU ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิสูงสุดก่อนจึงจะสามารถเก็บผลผลิตปาล์มได้ จะออกโดยกรมไม้ยืนต้น หรือกรมป่าไม้บ้านเรา และกรมที่ดิน ซึ่ง IUP จะต้องต่อสัญญาทุก 2 ปี ส่วน HGU มีสัญญา 30 ปี ต่อได้ 2 ครั้ง นั่นหมายความว่าจะสามารถต่อได้จนถึง 90 ปี นี่เป็นสิ่งที่ ปตท. หวังว่าจะได้
สำหรับการทำสัมปทาน ต้องทำแบบมีเงื่อนไข นั่นคือ เมื่อจะซื้อที่ดินตรงส่วนไหน จะยังไม่จ่ายเงินทั้งหมด แต่จะจ่ายทีละส่วน เช่น จ่ายค่า Location Permit ไปส่วนหนึ่ง จ่ายค่า IUP ไปส่วนหนึ่ง และเมื่อได้ HGU มาแล้ว จึงจะจ่ายเงินให้ครบจำนวน
“ผมถูกกล่าวหาจาก ปตท. ว่าไปซื้อที่ดินทับซ้อนป่าสงวน หรือซื้อที่ดินที่ปลูกไม่ได้ เพราะเป็นดินพรุ เมืองไทยไม่อนุญาตให้ทำอะไรในดินพรุ แต่ทางอินโดนีเซียอนุญาต ดินพรุถ้าไม่ลึกกว่า 3 เมตร สามารถทำได้ ถ้าลึกกว่านั้นเขาไม่อนุญาต และกว่าจะได้ HGU มา ต้องมีเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียพิจารณาแล้วว่าไม่ไปทับซ้อนพื้นที่พวกนี้ ดังนั้นการที่ผมถูกกล่าวหาเรื่องซื้อที่ดินใช้งานไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพื้นที่ที่เรา HGU มา มันต้องไม่มีพวกนี้ เราถึงจะจ่ายเงิน”
ขณะเดียวกัน “นิพิฐ” ยืนยันว่า การไปทำธุรกิจที่อินโดนีเซีย ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอินโดนีเซีย หลาย ๆ อย่างไม่เหมือนในประเทศไทย บางครั้งเวลาส่งข้อมูลมาให้ Auditor (ผู้ตรวจสอบบัญชี) มันไม่เหมือนประเทศไทย ต้องบอกว่า แบบนี้เราทำไม่ได้ แต่แน่นอนมันอาจจะไม่ค่อยดี ก็ต้องค่อย ๆ พัฒนาให้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดทำไปด้วยวัตถุประสงค์อย่างเดียวว่า ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายแรกคือ 2 แสนเฮกตาร์
“เพราะฉะนั้นในระหว่างทาง มันอาจจะมีอะไรที่ไม่เหมือนกับบ้านเราบ้าง จะบอกว่าผมทำไม่ถูก ผมว่าตรงนี้จะไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ แต่นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น”
ส่วนการลงทุนจากที่เข้าไป จากวันนั้นถึงวันนี้ประมาณ 8 ปี ผมเข้าไปทำอยู่ 3 ปี ช่วง 2552-2555 ใช้เงินตอนแรกไป 240 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าไปซื้อที่ดินใน 5 โครงการ ดำเนินการไปได้ประมาณ 10% และในระหว่างที่ใช้เงินไป ปตท. ได้สิ่งตอบแทนจากเงินตรงนั้นครบทุกอย่าง ไม่มีการทุจริตอะไรทั้งสิ้น แต่พอมาช่วงที่ 2 หลังปี 2555 ที่มีการตั้งบอร์ด PTTGE ใหม่ มีการใช้เงินไปอีก 330 ล้านเหรียญสหรัฐ ตรงนี้ผมไม่ได้ดูแลรับผิดชอบแล้ว ตอบไม่ได้ว่าเขาเอาเงินไปใช้อะไรอย่างไรบ้าง
“ช่วงที่ผมเข้าไปทำ หลายอย่างอาจไม่ตรงกับกฎหมายบ้านเรา แต่อย่างน้อยมันก็ถูกต้องตามขั้นตอน Auditor ก็เข้าไปตรวจไปดู ทุกอย่างก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ปัญหาพวกนี้ถูก ถูกหยิบยกว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่หยิบยกโดยที่เข้าไปดู เข้าไปศึกษากันเฉย ๆ แล้วบอกว่า ผมไปทำอะไรไม่ถูก แล้วก็สรุปส่งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. สันนิษฐานว่าผมทำผิด ให้ ป.ป.ช. มาตรวจสอบดู”
อย่างไรก็ดี “นิพิฐ” ยืนกรานว่า ขั้นการตอนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของ ปตท. และ ปตท.สผ. ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ไม่มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง แม้แต่ตนเองก็ด้วย และยังไม่พบว่ามีการทุจริต แต่กลับสรุปเรื่องส่งให้ ป.ป.ช. ไปก่อน แล้วเอาอะไรไปส่งให้ ป.ป.ช. ถ้าไม่เป็นอะไรที่คิดไว้แล้ว
“คือทุกอย่างตั้งธงไว้หมดแล้ว ก่อนจะส่งเรื่องไป ป.ป.ช.”
“วันนี้ยังไม่พบว่ามีการทุจริต คงไม่พบ เพราะผมไม่ได้ทุจริต แต่หลังจากนั้นที่มีการลงเงินไปอีก 330 ล้านเหรียญฯ ตรงนี้ตอบไม่ได้ว่ามีหรือไม่ แต่ผมก็พอมีข้อมูลอยู่บ้างที่ได้จากคนเก่า ๆ เพราะเขาทนไม่ได้ ป.ป.ช. ลองดูไหมว่ามีอะไรทุจริตจริง ๆ ก็เลยส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช. เหมือนกัน มีอย่างน้อย 18 เรื่องที่เป็นการบริหารจัดการไม่ถูกต้อง และทำให้ธุรกิจเสียหาย อย่าลืมว่าช่วงที่ผมอยู่ 3 ปีแรกยังไม่เสียหาย แต่พอช่วง 2 มีการเสียหาย บางเรื่องมีส่อไปในทางทุจริตด้วยซ้ำ”
“นิพิฐ” เล่าถึงสาเหตุที่ถูกโยกย้ายออกจากผู้กุมบังเหียนดูแลโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์ม และบอร์ด PTTGE ว่า ปตท. บอกว่าเป็นการโยกย้ายตามปกติ นี่คือเหตุผลที่เขาให้
อย่างไรก็ดี “เขา” ยืนยันว่า ถ้ารอต่อไปยังไงก็ต้องได้กำไร เพราะธุรกิจนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีครึ่ง-4 ปี จึงจะมีรายได้ และอย่างน้อย 7 ปีจะมีกำไร และยังแผนชัดเจนที่จะสร้างกำไรภายใน 5 ปีอีกด้วย แต่ ปตท. กลับตัดสินใจขายในช่วงปี 2556-2557 โดยบอกว่า ขาดทุน ก็ไม่ว่ากัน เพราะไม่ได้ทำแล้ว และท่านที่เข้ามาทีหลังก็เห็นว่าควรขาย ก็ไม่เป็นไร
ทั้งนี้ “นิพิฐ” ตั้งข้อสังเกตว่า มีอย่างน้อย 2 โครงการที่ทำการขายไป ได้แก่ PT.MAR พื้นที่ 1.2 หมื่นเฮกตาร์ มีผู้เสนอราคาหลายบริษัท บางบริษัทเสนอราคา 80-100 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ ปตท. กลับตกลงขายให้กับบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นคนดังของอินโดนีเซียในราคาประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโครงการ PT.Az Zhara พื้นที่ 2 หมื่นเฮกตาร์ เจ้าของเดิมที่เราไปเทคโอเวอร์เขาขอซื้อคืน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไป ๆ มา ๆ กลับตกลงกันแค่ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็ไม่รู้ทำไมเขาถึงคิดอย่างนั้น
เมื่อถามว่า มีตอนหนึ่งที่ ปตท. กล่าวหาว่า ทำการซื้อขายผิดสัญญาในการร่วมทุน เช่น บางโครงการตกลงกับบอร์ด ปตท. ว่าจะจ่ายผู้ร่วมทุนก่อน 30% แต่กลับจ่าย 50% ?
“นิพิฐ” ชี้แจงว่า ในโครงการทั้งหมดเวลาจะเข้าไปร่วมทุน จะจ่ายมากจ่ายน้อย ตอนพิจารณาผมจะให้เซฟต่อ PTTGE มากที่สุด เพราะผมไม่แน่ใจว่า คนที่เราไปร่วมทุนเป็นอย่างไร ต้องค่อย ๆ ไปทีละขั้นตอน จึงอาจมีความเป็นไปได้ตามที่ตกลงกันตั้งแต่วันแรก ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่ตกลงกับบอร์ด ปตท.
“คนรับผิดชอบอยู่หน้างาน พยายามทำให้ดีที่สุด สำหรับคนที่ทำหน้าที่ตรงนั้น ผมก็ควรมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจที่จะทำให้ดีที่สุดกับ PTTGE ถ้าผมต้องกลับมาขอบอร์ด ปตท. ทุกครั้ง คงไม่ถูกต้องทีเดียว อาจจะช้า อาจจะเจ๊งก็ได้”
ส่วนวิธีการคัดเลือกผู้ร่วมทุนนั้น “นิพิฐ” อธิบายว่า เราจ้างบริษัทที่ปรึกษาของอินโดนีเซีย ให้ไปดูว่ามีบริษัทอะไรน่าสนใจ และมีพื้นที่ตรงไหนบ้างมานำเสนอ ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน ไม่แพงมาก แต่ว่าอาจให้ผลตอบแทนเขา ถ้าเราประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี มีตอนหนึ่งที่ ปตท. กล่าวหาว่า บริษัทที่ปรึกษาได้รับค่านายหน้าสูงถึง 40% ซึ่งค่อนข้างแพง “นิพิฐ” กล่าวว่า เป็นเรื่องของเขา ผมก็ไม่ทราบว่าเขาไปตกลงอะไรกันอย่างไรบ้าง แต่สิ่งที่มาขาย PTTGE เป็นสิ่งที่เราพอใจแล้ว มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่า เขาจะได้ค่านายหน้าเท่าไหร่ ไม่ทราบ ยกตัวอย่าง ผมบอกว่าจะไปซื้อที่ดินเกิน 900 เหรียญ/เฮกตาร์ไม่ได้ ก็จะไม่ซื้อเกิน 900 เหรียญ/เฮกตาร์ แต่ถ้าผมพอใจว่าที่ดินตรงนี้ 890 เหรียญ/เฮกตาร์ ในนั้นจะมีค่านายหน้ายังไง แต่ก็ไม่เกิน 900 เหรียญ/เฮกตาร์ ตามมติของบอร์ด ปตท.
พร้อมกับชี้แจงอีกประเด็นว่า บางกรณีเช่น ที่ดินบางแห่งไม่ใช่ที่ดินเปล่า ๆ แต่มีคนที่เขาเคยเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว เขาซื้อสัมปทานไปส่วนหนึ่งแล้ว มีการปลูกต้นไม้หรืออะไรไว้แล้ว เราก็ต้องจ่ายค่าส่วนต่างในส่วนนี้ด้วย ซึ่งทำให้มีการพูดไปว่า ผมซื้อที่ดินราคาแพงเกินจริง ซึ่งมันไม่จริง ส่วนที่เกินก็คือตรงนี้ ลองไปดูในรายละเอียดของสัญญาได้เลย
“ถ้าให้ผมอธิบายก่อนจะเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ก็คงจะชัดเจนกว่านี้ ผมค่อนข้างมั่นใจโครงการนี้ การันตีได้เลย จ้างใครก็มาดูก็ได้ มันคุ้ม”
แต่เมื่อโยนคำถามกลับไป ปตท. ระบุว่า ผลสอบครั้งสุดท้ายบอกว่าไม่คุ้ม ?
“นิพิฐ” พูดเสียงดังฟังชัดว่า ถ้าจะให้ผมลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันวันนี้ ก็ยังไป สมมติ มีที่ดินในประเทศใกล้เคียงมาเสนอให้ลงทุน ผมก็ยังไปทำ เอาง่าย ๆ ที่ในภาคใต้ของเมืองไทยก็ได้
เมื่อถามว่า ในบางข้อกล่าวหาของ ปตท. ระบุว่า คุณเบิกจ่ายงบประมาณปี 2554 เกินไป 10% และงบที่เกินไปก็หายไปไหนไม่รู้
“นิพิฐ” ยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ ไม่มีหรอก อันนั้นจริง ๆ ไม่ได้ว่าหายไปไหน เขาบอกว่า ผมเบิกเงินเกิน ตามกฎทำไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ ทำได้ แต่ต้องแจ้งให้กรรมการทราบก่อน แต่เข้าใจว่าผมออกมาก่อน (หมายถึงออกมาจากหัวหน้าพัฒนาธุรกิจปาล์มน้ำมัน-บอร์ด PTTGE) ก็เลยไม่ได้แจ้งบอร์ด ปตท.
เมื่อย้ำว่าเบิกเกินไปทำอะไร ? “นิพิฐ” ตอบสั้น ๆ ว่า เบิกไปใช้จ่ายในโครงการปลูกปาล์มที่อินโดนีเซีย
“คือเราก็มีบัญชี มีวิธีการทำงานตามขั้นตอนทุกอย่าง ตรวจสอบได้ เพราะว่าเรามีการตรวจสอบบัญชีทุกปี และเราจ้าง Auditor ระดับ “บิ๊กโฟร์” คงไปหลอกเขามากไม่ได้”
“นิพิฐ” ยืนกรานว่า “ผมคิดว่าเขาพยายามจะจบ ๆ เรื่องนี้ซะ แล้วหาคนมารับผิดชอบไป คือถ้าทำแล้วมันเกิดความเสียหาย มันต้องมีคนรับผิดชอบ เผอิญปีนี้ปีแพะพอดี อาจเรียกได้ว่า แพะออฟเดอะเยียร์”
“เขา” ยังเล่าถึงคดีในชั้น ป.ป.ช. ว่า ได้ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบด้านการทุจริตเพิ่มเติมไปแล้ว แต่ ป.ป.ช. ยังไม่ได้เชิญเข้าให้ชี้แจง
พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า คดีของตัวเองในชั้น ป.ป.ช. ทำไมถึงเร็วนัก ?
“สาเหตุที่ผมต้องคัดค้านคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพราะบางทีก็สงสัยว่า ทำไมเรื่องของผมมันเร็วนัก ถูกดึงขึ้นมาเมื่อไหร่ แล้วทำไมตอนที่ ปตท. ส่งชื่อให้มี 6 คน ทำไมทำมาเหลือผมคนเดียว ก็เลยไปดูชื่อคณะอนุกรรมการฯ ตอนแรกก็ไม่ติดใจเท่าไหร่ คงเลือกสรรกันมาอย่างดี พอดูชื่อบางท่าน ก็คิดว่าไม่ค่อยบริสุทธิ์เท่าไหร่”
“เรื่องทุจริตมีอีกเยอะต้องให้ ป.ป.ช. เขาว่ากัน เรื่องที่ผมว่าแปลกมากเลยก็คือ ปตท. บอกว่าผมไปทำธุรกิจที่นู่นน่าจะเกิดความเสียหาย ผมว่าไม่น่าจะมีเลย พอบอร์ด PTTGE ใหม่เข้ามาทำต่อ ผมเชื่อว่ามีการทำความเสียหายเกิดขึ้น แต่ตรงนั้นก็ยังไม่ชัด มันเริ่มมาชัดตอนที่เขาตัดสินใจจะขาย เหตุผลที่ตัดสินใจขาย เพราะว่าเป็นธุรกิจที่ขาดทุน ไม่ดี ผมต้องเรียนถามหน่อยว่า มีธุรกิจไหนในโลกนี้ที่ลงทุนปุ๊บได้กำไรปั๊บ ผมบอกแล้วว่า ธุรกิจนี้ต้องใช้เวลากว่าจะมีผลออกมา 3-4 ปี ควรจะให้เวลามันหน่อย แต่ 3-4 ปีก็ได้เงินกลับมายังไม่คุ้มทุน ต้องขาดทุนไปก่อน ปกติธุรกิจปาล์มประมาณ 7 ปี จึงจะเป็นบวก แต่เริ่มมีรายได้ตั้งแต่ 3 ปีครึ่ง”
สิ่งที่คาใจ ณ ตอนนี้ ?
“ที่คาใจตอนนี้คือผมไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ทุจริตแน่นอน ยังคาใจว่าทำไมพอเรื่องถึง ป.ป.ช. จึงมีชื่อผมคนเดียว อันนี้คาใจมาก ๆ และความเสียหายที่ ปตท. ฟ้องแพ่งไป ผมก็ไม่ได้ทำ ไม่มีความเสียหายจากผมเลย ทำไมถึงฟ้องผม และอีกเรื่องคือ ไล่ผมออกจาก ปตท.สผ. ที่ทำงานมากว่า 30 ปี และไม่ได้ไล่เฉย ๆ ยังยึดเงินบำนาญทั้งหลายของผมด้วย ไม่ให้ผมเลยแม้แต่บาทเดียว”
ก่อนจะยืนยันว่า “ผมฟ้องศาลแรงงานแน่นอน แต่ตอนนี้กำลังปรึกษาทนายอยู่”
เมื่อถามว่า ตอนนี้เหมือนเปิดหน้าชกกันแล้ว มองว่าจะดีกับเราใช่หรือไม่ “นิพิฐ” ยืนยันว่า ไม่เคยอยากทำอะไรให้ ปตท. หรือ ปตท.สผ. หรือใครเสื่อมเสีย ถ้าเขาไม่ทำผมก่อน และเขาทำผมแบบนี้มันก็เกินไป ทั้ง ๆ ที่ผ่านมา ผมคิดว่าทำประโยชน์ให้กับ ปตท. และ ปตท.สผ. อย่างมาก แต่วันนี้กลับถูกกระทำแบบนี้ ก็เลยถือโอกาสนี้เปิดใจให้สังคมได้รับทราบ ที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดเลย
ส่วนจะเคลียร์ใจกับ “บิ๊ก” ใน ปตท. หรือไม่ “นิพิฐ” ระบุว่า ถ้าเขาจะมาคุยก็น่าจะมาคุยนานแล้ว ถ้ามาก็คุยได้ แต่คงจะคุยเรื่องเยียวยากันยังไงแล้วล่ะ เพราะที่ผ่านมาการันตีได้เลย ฟ้องร้องไปเหอะ โอกาสที่ผมจะชนะมีเยอะ เพราะผมมีทุกอย่าง ผมไม่ได้คิดขึ้นมาเอง บอกแล้วว่าผลสอบ 4 ครั้ง ไม่เจอเรื่องทุจริต
ก่อนจะย้ำเหตุผลที่ถูกไล่ออกว่า “ปตท. บอกว่า ผมเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นที่จะให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย ถ้าสมมติให้ไปทำงานอะไรก็แล้วแต่ ก็คงทำแบบนั้นอีก ซึ่งบางครั้งอาจผิดขั้นตอน ตรงนี้บอร์ดรับไม่ได้ ก็เลยไล่ออก แต่ที่จริงไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ผมทำแล้ว ต้องเป็นผลดีกับหน่วยงานที่ผมอยู่ และข้อสำคัญผมกลับมาขอสัตยาบันทุกครั้ง”
ทั้งหมดคือ “ความอีกด้าน” จาก “นิพิฐ” อดีตหัวหน้าพัฒนาธุรกิจโครงการปาล์มน้ำมันของ ปตท. ในอินโดนีเซีย ที่ยัง “คาใจ” กับผลการสอบสวนของ ปตท.
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร มีการทุจริตหรือไม่ ใครต้องรับผิดชอบ ?
รอผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. และการพิจารณาของศาลแพ่ง ในเร็ว ๆ นี้ !
อ่านประกอบ :
'นิพิฐ'เปิดหน้าสู้! ร้อง'ไพบูลย์'สอบปมปลูกปาล์มอินโดฯ-ปตท.สวนผิดปกติจริง
ซีอีโอใหญ่ ปตท.ให้ถ้อยคำ ป.ป.ช.ปมปลูกปาล์มฯเจ๊งแล้ว สาวลึกใครเอี่ยวบ้าง
“นิพิฐ”ขอความเป็นธรรม ป.ป.ช. อ้างบอร์ด ปตท.ทำปลูกปาล์มฯเจ๊ง
เจาะคำแก้ต่างคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ “นิพิฐ”อ้างไม่เคยทุจริต-ทำเจ๊ง!
“นิพิฐ”ดอดขอความเป็นธรรม ป.ป.ช. อ้างบอร์ด ปตท.ทำปลูกปาล์มฯเจ๊ง
“นิพิฐ”อ้างบอร์ด ปตท.สมคบกันทุจริตทำโครงการปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง
สั่งถอนลงทุน-ฟ้องแพ่งผู้บริหาร! ปตท.พร้อมร่วมมือสอบทุจริตปลูกปาล์มอินโดฯ
เปิดผลสอบ ปตท.ปมปลูกปาล์มอินโดฯ ชนวนทำ“บิ๊ก ปตท.สผ.”พ้นเก้าอี้
บอร์ด ปตท.สผ.ให้ “นิพิฐ”พ้นสภาพพนักงานปมปลูกปาล์มอินโดฯ-ฟ้องอาญาสู้
ป.ป.ช.ยกคำร้อง“บิ๊ก ปตท.สผ.”ค้านอนุฯสอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ
“บิ๊ก ปตท.สผ.”ทำหนังสือค้าน 5 อนุฯป.ป.ช.สอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ
ศาลไฟเขียว“บิ๊ก ปตท.สผ.”ขอเลื่อนคำให้การคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 4 ก.ย.-ทนายถอนตัว
ปตท.สผ.แจงเหตุสอบช้า “บิ๊ก” คดีปลูกปาล์มฯ ยันเอกสารเยอะ-ย้ายมาส่วนกลางแล้ว
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(1)
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(จบ)
ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล.กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
ปตท.ระทึก!อนุฯ ป.ป.ช.พบปมซื้อที่ดินปลูกปาล์ม ปท.อินโดฯ เล็งชี้มูล 2 โครงการ
ป.ป.ช.พบตัวละครคดีข้าวจีทูจีโยงซื้อขายมันเส้น!-สอบปตท.ปมปลูกปาล์มในอินโดฯ
ป.ป.ช.เหลือสอบพยานคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 6-7 ปาก ขีดเส้น 2 เดือนเสร็จ