เมื่อภาคประชาสังคมแจง 'สวดมนต์ข้ามปี' เข้าข่ายส่งเสริมสุขภาพ
เครือข่ายภาคประชาชนยัน 'สวดมนต์ข้ามปี' เข้าข่ายสร้างเสริมสุขภาพ สร้างพื้นที่กิจกรรม ปชช.วันปีใหม่ วอนคตร.ตรวจสอบใช้งบฯ สสส. ฟังข้อมูลรอบด้าน ผู้ประสานงานฯ เครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์สุรา เชื่อมั่น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ตรงไปตรงมา ด้านพระดุษฎี หวั่นทำเเท้งโครงการ กระทบกระเเสคนเข้าวัด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สวดมนต์ข้ามปี’ เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งถูกจับผิดจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่มี พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธาน ด้วยมองว่า ‘สวดมนต์ข้ามปี’ อาจไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสพูดคุยกับ ‘นายคำรณ ชูเดชา’ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์สุรา ในงานแถลงข่าวของเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ณ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ถึงประเด็นที่กำลังถกเถียง สวดมนต์ข้ามปี เข้าหลักเกณฑ์นิยามการสร้างเสริมสุขภาพหรือไม่!!
ทั้งนี้ นิยาม การสร้างเสริมสุขภาพ ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 หมายถึง การใด ๆ ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดี
นายคำรณ อธิบายถึงที่มาของโครงการสวดมนต์ข้ามปีว่า เดิมชื่อว่า โครงการ งดเหล้า สวดมนต์ข้ามปี ชีวีมีสุข แต่เพื่อสะดวกในการเรียกชื่อจึงตัดบางถ้อยคำให้กระชับขึ้น จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่กิจกรรมทางเลือกให้แก่ประชาชนในเทศกาลปีใหม่ภายหลังเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิงซานติก้า
โดยตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ได้สร้างปรากฏการณ์ให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันมาเข้าวัดสวดมนต์ข้ามปีแทนการฉลองในสถานบันเทิงมากขึ้น โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว เเละจากเดิมวัดจัดกิจกรรมประมาณ 30 แห่ง ขยายตัวเป็น 2 หมื่นแห่งในปัจจุบัน
เฉพาะตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรม ปี 2557 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และพุทธมณฑล มีกว่า 10 ล้านคน
เขาจึงมั่นใจว่า การสวดมนต์ข้ามปีเข้าข่ายนิยามการสร้างเสริมสุขภาพ ตรงและคุ้มค่า เพราะสร้างพื้นที่ให้ประชาชนเลือกจากเมาข้ามปีมาเป็นโครงการนี้ หากผู้ตรวจสอบมองไม่คุ้มค่าและยกเลิกโครงการ ก็ไม่มีผลกระทบ เพราะยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ในการรณรงค์ ลด ละ เลิก การดื่มสุรา ในช่วงเทศกาลได้
สำหรับท่าทีของรัฐบาลนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังฯ เชื่อมั่นในตัวของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า เป็นคนตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่อยากวอนขอ คือ ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และเห็นด้วยให้ ผู้แทน สสส.เข้าชี้แจงข้อมูล เพราะการตรวจสอบต้องมีการรับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย
“สสส.มีระบบกลไกการทำงานแตกต่างจากองค์กรอื่น โดยเป็นเพียงผู้กำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และอนุมัติเงินทุน เท่านั้น แต่ผลการปฏิบัติงานจะต้องสอบถามจากภาคีซึ่งจะตอบคำถามได้ ดังนั้น ผู้ตรวจสอบจำเป็นต้องรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน” นายคำรณ ระบุ
(พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร)
อีกหนึ่งบุคคลที่ขับเคลื่อนโครงการสวดมนต์ข้ามปีมาอย่างต่อเนื่อง ‘พระอาจารย์ดุษฎี เมธังกุโร’ ประธานเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม บอกว่า ถ้ากิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีอยู่ในการดูแลของกระทรวง ทบวง กรม โดยไม่มี สสส.เข้ามาสนับสนุนหรือประสานก็จะไม่เกิดกระแสดังเช่นปัจจุบันที่เกิดผลสำเร็จเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า จากเดิมที่วัดจัดกิจกรรมอยู่แล้ว
“องค์กรภาคประชาชนมีทางเลือกน้อย หากรัฐบาลยังปิดกั้นทางเลือกจะกลายเป็นเรื่องที่คิดหนัก อย่างไรก็ตาม หากยืนยันตรวจสอบก็ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก”
ส่วนรัฐบาลต้องตรวจสอบกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ประธานเครือข่ายฯ มองปัญหาอาจอยู่ที่ชื่อกิจกรรม ซึ่งควรเป็นโครงการภายใต้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่มีงบประมาณอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่า สสส.ทำให้การสวดมนต์ข้ามปีเกิดผลสำเร็จกับคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ต้องการฉลองปีใหม่ด้วยการดื่มสุรา หรือจัดงานสังสรรค์รื่นเริง จนวันรุ่งขึ้นทำงานไม่ได้ แต่วันปีใหม่ควรเริ่มต้นด้วยชีวิตใหม่ที่มีคุณค่า
“บางคนไม่ได้มาวัด อยู่บ้านชมโทรทัศน์ก็สวดมนต์ได้ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม หากยกเลิกกิจกรรมนี้ไป คนอีกกี่สิบล้านคนจะเสียประโยชน์”
พระอาจารย์ดุษฎี กล่าวด้วยว่า การสวดมนต์ไม่ใช่พิธีกรรมของวัดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจิตใจของประชาชนด้วย หากไม่ทำกิจกรรมลักษณะนี้ พุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่จะลดลงไปมาก จึงอยากให้ผู้ตรวจสอบใช้สติปัญญา มีดวงตาเห็นธรรมด้วย เพราะพระสงฆ์กำลังผิดหวัง
พร้อมตั้งคำถามว่า หากการสวดมนต์ข้ามปีไม่ใช่การสร้างเสริมสุขภาพ แล้วการสร้างเสริมสุขภาพคือการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์หรือติดยาหรือ การรักษาคนติดยา 1 คน เหนื่อยกว่าการป้องกันคนดี 10 คน ไม่ให้ติดยา ฉะนั้นเราต้องหันมาทำงานกับคนดี เพราะใช้งบประมาณน้อย และมีภูมิคุ้มกัน
“การตัดสินใจตามตัวหนังสือ ต้องดูผลกระทบวงกว้างด้วย ดังเช่น เรื่องความมั่นคงไม่จำเป็นต้องจับกระบอกปืนเสมอไป ประเทศจึงจะมีความมั่นคง แต่การทำให้ประชาชนมีอาชีพ เกิดความรักในท้องถิ่น จิตใจมั่นคง เป็นสุข สิ่งเหล่านั้นก็คือความมั่นคง เช่นเดียวกับการสวดมนต์ข้ามปี”
ประธานเครือข่ายฯ ยังระบุด้วยว่า ไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ตอนนี้กลับน้อยหน้าเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และศรีลังกา แม้พระสงฆ์จะ ให้ศีล 5 วันละหลายสิบเที่ยว แต่คนก็ปฏิบัติตามไม่ได้ เพราะรัฐบาลเป็นตัวส่งเสริมอบายมุข ไม่ว่าจะเป็น หวย สุรา หรือบุหรี่ หากคนไทยขาดธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจะเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเรามีบรรพบุรุษ เมือง เเละคำสอนที่ดี
สุดท้าย หากปล่อยให้การสวดมนต์ข้ามปีแท้งขึ้น กระแสดังกล่าวจะลดลงทันที ประชาชนก็จะสวดมนต์ไม่ได้ นำไปสู่การทำลายความมั่นคงของจิตใจและประเทศชาติ .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:นพ.อำพล ไขวิวาทะ "สุขภาวะ" แบบไหนสอดคล้องกับบริบทโลก-พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550
'ทพ.กฤษดา' ทิ้งเก้าอี้ ผู้จัดการ สสส. เปิดทางให้ตรวจสอบการทำงาน
'ไม่ได้บอกทำผิด'พล.ร.อ.ณรงค์' ยันตรวจสอบสสส.หวังคลายข้อสงสัยให้สังคม
สารี อ๋องสมหวัง:ผลประโยชน์ทับซ้อน
เชิญผู้บริหาร สสส.แจง! คตร.-สตง.พบมีใช้งบไม่ถูกระเบียบ-บี้คนรับผิดชอบ
'อิศรา'ถาม 'ไพบูลย์' ตอบ! ปมสอบงบฯ สสส. 'อย่าผูกเรื่องสื่อขัดแย้งกับ รบ.'
ตรวจสอบ สสส. ให้ทำเปิดเผย โปร่งใส ปราศจากการเลือกปฏิบัติ
ภาพประกอบ:https://www.facebook.com/JariyatamNewYear/photos_stream?tab=photos